“โทรคมนาคม” พลิกธุรกิจ ย้ำรัฐเร่งลดเหลื่อมล้ำหนุนลงทุน

การเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งในภาคเศรษฐกิจและสังคม เมื่อเร็ว ๆ นี้ “เทเลนอร์” เปิดวงเสวนา How Connectivity Can Continue To Drive Asia Forward พร้อมผลการศึกษา “The Mobile Effect : How Connectivity Enables Growth” ที่ร่วมวิจัยกับบริษัทฟรอนเทียร์ อีโคโนมิกส์

Telecom ดันเศรษฐกิจโต 75%

“เจมส์ แอลลัน” ผู้อำนวยการบริษัทวิจัยทางเศรษฐศาสตร์ฟรอนเทียร์ อีโคโนมิกส์ กล่าวว่า บริการโทรคมนาคมช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจเอเชียเติบโตถึง 75% ขณะที่มูลค่าเศรษฐกิจไทยที่เกี่ยวเนื่องบริการการสื่อสารเติบโตเกือบเท่าตัว จาก 4 แสนล้านเหรียญสหรัฐ เป็น 7 แสนล้านเหรียญในช่วง 10 ปี (2548-2558) โดยภาคการเงิน ค้าปลีกค้าส่ง การศึกษา สาธารณสุข และการขนส่งล้วนได้รับประโยชน์ด้วย

“โทรคมนาคมเป็นแกนกลางของเศรษฐกิจในยุคนี้แล้ว แม้ไทยจะเติบโตสูง แต่ถ้าเทียบกับ GVA (gross value added) แล้วยังมีค่าเฉลี่ยไม่สูง แปลว่ารัฐบาลไทยควรทำให้คนไทยเข้าถึงบริการโทรคมนาคมได้มากขึ้น เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของไทย”

“ฮากุน บรัวเซ็ท เชิร์ล” ผู้อำนวยการอาวุโสสายงานพันธมิตรและสัมพันธ์องค์กร เทเลนอร์กรุ๊ป เอเชีย กล่าวเสริมว่า สิ่งที่แตกต่าง คือ ไทยยังไม่มีแผนการจัดสรรคลื่นความถี่ในระยะยาว ทำให้ขาดการวางแผนที่ดี กระทบต่อการแข่งขัน ซึ่งหากเทียบกับมาเลเซียจะเห็นได้ชัดว่า วางแผนบริหารคลื่นได้ดีกว่าไทย โดยภาคการเงินของมาเลเซียโหมใช้เทคโนโลยีเป็นพื้นฐานของบริการธุรกิจต่าง ๆ มากกว่า

“ในเอเชีย-แปซิฟิก SMEs คือ ธุรกิจส่วนใหญ่ ซึ่งโทรคมนาคมจะมีส่วนสำคัญที่ช่วยให้เข้าถึงตลาดใหม่ ๆ ได้ดียิ่งขึ้น”

ย้ำไทยเร่งลดเหลื่อมล้ำ

“เรโนล เมเยอร์” ผู้แทนประเทศไทย โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UN) เปิดเผยว่า UN ให้ความสำคัญกับการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีได้อย่างแท้จริง ไม่ว่าจะเป็นในพื้นที่เมืองหรือชนบท

“ในยุคที่ความก้าวหน้าเติบโตอย่างรวดเร็วมาก คนที่อยู่ห่างไกลจะได้ประโยชน์จากรถไฟขบวนนี้หรือไม่ ภาครัฐต้องมีบทบาทในการปกป้องคุ้มครองประชาชนไม่ให้ใครต้องถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ขณะที่ภาคธุรกิจเอกชนต้องมีทัศนคติที่คำนึงถึงความยั่งยืน มากกว่าการหากำไรสูงสุดในระยะสั้น ด้วยการส่งเสริมให้ผู้ใช้งานรู้เท่าทันเทคโนโลยี และใช้ให้เกิดมูลค่าเพิ่มได้”

ทั้งยังต้องสร้างความตระหนักเกี่ยวกับการปกป้องข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งในยุคนี้ทุกอย่างลอยอยู่ในอากาศและพร้อมถูกนำไปหาประโยชน์ได้ตลอดเวลา

“จากที่อยู่ในไทยได้ 1 เดือนพบว่า ความไม่เท่าเทียม เป็นปัญหาสำคัญ ที่จะต้องหาทางลดช่องว่างของความเหลื่อมล้ำด้านดิจิทัล ต้องสร้างกลไกให้ทุกฝ่ายได้รับประโยชน์จากเทคโนโลยีได้”

เอเชียกระหายแบนด์วิดท์

“อัตสึโกะ โอคูดะ” หัวหน้าสายงานไอซีทีและการพัฒนา คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (UNESCAP) กล่าวว่า การไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังในการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลเป็นบทบาทสำคัญของภาครัฐ ซึ่งในประเทศไทย โครงการ “เน็ตประชารัฐ” เป็นกรณีศึกษาที่ดี

“ผู้คนในเอเชีย-แปซิฟิกกระหายแบนด์วิดท์อย่างมาก ฉะนั้นต้องเตรียมโครงสร้างพื้นฐานให้พร้อมอยู่เสมอ ซึ่งไม่ใช่แค่การให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง แต่ต้องมีการลงทุนในระบบนิเวศอย่างครอบคลุม เพราะยิ่งมีเม็ดเงินการลงทุนมาก เศรษฐกิจยิ่งเติบโต ที่สำคัญ ขณะที่ภาคเอกชนเป็นผู้ลงทุน ภาครัฐต้องซัพพอร์ตและร่วมผลักดันในฐานะผู้มีอำนาจตัดสินใจในเชิงนโยบายและการกำกับดูแล เพื่อให้ทุกอย่างเดินไปอย่างสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว”

ตอกย้ำยุคธุรกิจ “ข้อมูล”

“ณพงศ์ธวัช โพธิกิจ” ผู้อำนวยการฝ่ายเทคโนโลยีทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า โมบายอินเทอร์เน็ตเป็นกลไกหลักที่ผลักดันการเงินดิจิทัล อย่างการเกิดขึ้นของ

“พร้อมเพย์” ในประเทศไทย เมื่อปี 2559 ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมการเงินและพฤติกรรมผู้บริโภคโดยมีอัตราเติบโตกว่า 100% ทุกปี และปัจจุบันมีผู้ใช้งานแล้วกว่า 4 ล้านคน หรืออย่างการชำระเงินด้วย QR code ที่มีผู้ใช้แล้วกว่า 3 ล้านร้านค้า ทำให้ SMEs เข้าถึงอีเพย์เมนต์ได้ด้วยต้นทุนที่ถูกลง ทำให้ทุกคนมีส่วนร่วมกับบริการเงินในรูปแบบดิจิทัลได้ง่ายมาก

“เป็นแรงผลักดันให้ธนาคารเฉือนเนื้อตัวเองด้วยการไม่เก็บค่าธรรมเนียม ก้าวสู่ยุคของธุรกิจธนาคารที่ให้ความสำคัญกับข้อมูล เป็น information base มากกว่า fee เพราะได้เห็นแล้วว่า ข้อมูลสามารถก่อให้เกิดบริการ เกิดรายได้ใหม่ที่มากกว่าค่าธรรมเนียมที่เสียไป”

แต่ด้วยเทคโนโลยีที่ทำให้ทุกอย่างง่ายขึ้น ธปท.จึงให้ความสำคัญในการกำกับดูแลทั้งในแง่การพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ และการคุ้มครองผู้ใช้งานให้ปลอดภัยทั้งด้านข้อมูลส่วนบุคคลและภัยไซเบอร์ เพื่อให้ทุกคนไม่ว่าจะอยู่ในเมืองหรือชนบท ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีได้สูงสุด