“ไอบีเอ็ม” ดัน “วัตสันค็อกนิทีฟ” เรือธงปั๊มรายได้ทั่วโลก

“ไอบีเอ็ม” ดัน “วัตสันค็อกนิทีฟ” เจาะทุกอุตสาหกรรม ทั้งเผยตลอด3 ปีครึ่ง สัดส่วนรายได้ทั่วโลกขยับเพิ่มจาก 22% เป็น 43% ของรายได้รวม สอดรับกระแสดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น ปลุกทุกองค์กรปรับตัวรับยุคดิจิทัล ขณะที่ตลาดไทยโตต่อเนื่อง โดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและเล็ก

นางพรรณสิรี อมาตยกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า ในปีที่ผ่านมาถือเป็นปีแห่งดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น โดยธุรกิจในประเทศไทย 80% เริ่มก้าวข้ามไปสู่ดิจิทัลแล้ว ซึ่งหัวใจสำคัญของการปรับเปลี่ยนองค์กรอยู่ที่การจัดการข้อมูล การวิเคราะห์ และรวบรวม รวมถึงการมีระบบคลาวด์เพื่อให้การทำงานรวมศูนย์ได้ง่ายขึ้น

โดยไอบีเอ็มมี “วัตสัน ค็อกนิทีฟ” เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ที่ให้บริการผ่านคลาวด์ ที่มีการนำไปใช้เชิงพาณิชย์ในด้านต่าง ๆ เช่น กลุ่มพลังงาน และเฮลท์แคร์ที่นำไปใช้ในการรักษามะเร็งผิวหนัง ช่วยวิเคราะห์ได้อย่างแม่นยำถึง 90% เป็นต้น

“วัตสันเข้าไปฝังในเทคโนโลยีที่เราสามารถคิดได้ เช่น รถยนต์, กลุ่มรีเทล, เฮลท์แคร์ เข้าไปใน 45 ประเทศ ใน 20 อุตสาหกรรม มีพาร์ตเนอร์กว่า 500 ราย นำ API ทั้ง 32 ตัวของวัตสันไปต่อยอด และมีนักพัฒนากว่า 8.2 ล้านคนทั่วโลก คาดว่าภายในสิ้นปีนี้วัตสันจะเข้าไปเซอร์วิสคน 1 พันล้านคน”

โดยในช่วง 3 ปีครึ่งที่ผ่านมา รายได้จากระบบค็อกนิทีฟ เติบโตจาก 22% เป็น 43% ของรายได้รวม ซึ่งในไตรมาส 2 บริษัทมีรายได้ 19.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับตลาดในประเทศไทย 7-8 เดือนที่ผ่านมาก็มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจระดับเล็กและกลางที่เติบโตเป็นตัวเลข 2 หลัก ขณะที่การสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการทำงานมีอัตราการเติบโตมากที่สุดในอาเซียน

“ลูกค้ามีเข้ามาทุกกลุ่มอุตสาหกรรมโดยเฉพาะส่วนกลุ่มขนาดกลางและเล็ก ซึ่งน่าแปลกใจมาก เชื่อว่าวัตสัน ค็อกนิทีฟจะเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญ เพราะตอนนี้ยังเป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้น”

ขณะเดียวกัน การเปลี่ยนไปสู่ดิจิทัลไม่ใช่เพียงเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานหรือการตัดสินใจในองค์กร แต่อีกด้านช่วยเพิ่มรายได้ให้องค์กรจากประสิทธิภาพในการดึงดูดเพื่อให้ชนะใจลูกค้า ซึ่งธุรกิจมีการแข่งขันอย่างมากในมุมนี้ และไอบีเอ็มเชื่อว่าวัตสันค็อกนิทีฟเป็นหัวใจสำคัญที่จะทำให้ลูกค้าได้รับประสบการณ์ที่ดียิ่งขึ้น

“จุดเริ่มต้นของนวัตกรรมนี้อยู่ที่ไอบีเอ็มสตูดิโอที่มีอยู่ 42 แห่งทั่วโลก ที่จะมีผู้เชี่ยวชาญร่วมกันออกแบบผลงาน เรามีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีมาช่วยกันออกแบบ อาทิ ด้านเฮลท์แคร์มีผู้เชี่ยวชาญ 7,000 คน และแบงก์อีก 6,000 คน เป็นต้น”

นางพรรณสิรีกล่าวต่อว่า ปัจจุบันการสร้างนวัตกรรมไม่จำเป็นต้องลงทุนเยอะเหมือนในอดีต เนื่องจากแบ่งการทำทุกอย่างเป็นส่วนย่อย ๆ เพื่อนำร่องให้เร็วที่สุด เพื่อให้ได้ฟีดแบ็กที่เร็ว แม้ล้มเหลวเร็วก็จะสำเร็จเร็ว ซึ่งปัจจุบันไอบีเอ็มเชื่อว่ามีแพลตฟอร์มที่ทรงพลังที่สุดที่จะสร้างอินโนเวชั่นให้ลูกค้า ตั้งแต่ที่เป็นระดับเครื่องมือในการทำข้อมูล ดังนั้น

ในช่วง 6-7 เดือนข้างหน้าลูกค้าอาจต้องเลือกว่าจะใช้แพลตฟอร์มแบบไหน ซึ่งเทคโนโลยีที่บริษัททำขึ้นมาก็เพื่อตอบโจทย์องค์กรโดยเฉพาะ จึงมั่นใจได้ว่าทั้งระบบมีความปลอดภัยมั่นใจได้ว่าข้อมูลของแต่ละองค์กรจะได้รับการปกป้องอย่างดี

โดยแพลตฟอร์มของไอบีเอ็มรวมเป็นชิ้นเดียวและมีวัตสันค็อกนิทีฟฝังตัวอยู่ในทุกชิ้นส่วนทำให้ทุกอย่างพร้อมและทำงานได้เร็วเหมาะกับองค์กรธุรกิจ