น็อนแบงก์เร่งเกมอีเพย์เมนต์ ผนึกเครือข่ายร้านค้าแข่งสร้างฐานผู้ใช้

บูม QR Code - แบงก์ชาติและผู้ให้บริการอีเพย์เมนต์ทั้งแบงก์และน็อนแบงก์ร่วมด้วยช่วยกันปลุกกระแสจ่ายเงินผ่าน QR Code กันอย่างคึกคักหลังแบงก์ชาติคลอดมาตรฐานกลางในการใช้งานออกมา

“อีเพย์เมนต์น็อนแบงก์” แข่งขยายฐานลูกค้าดุเดือด รับมือ “อาลีเพย์” เกาะกระแสจ่ายเงินผ่าน “QR Code” หลังแบงก์ชาติคลอดมาตรฐานกลาง เผยยอดธุรกรรมผ่านระบบแตะ 1.7 แสนล้านบาท คาดสิ้นปีโตทะลุ 20% ทุกค่ายเร่งกวาดพันธมิตรค้าปลีกเพิ่มทางเลือกช็อปปิ้งให้ลูกค้า

นายปุณณมาศ วิจิตรกุลวงศา นายกสมาคมการค้าผู้ให้บริการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ไทย (TEPA) เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัจจุบันลูกค้าอีเพย์เมนต์ในไทยมีราว 40 ล้านราย ขณะที่ยอดธุรกรรมอยู่ที่ 170,000 ล้านบาทต่อปี ด้วยการแข่งขันของทั้งฝั่งธนาคารและกลุ่มไม่ใช่ธนาคาร (น็อนแบงก์) ทำให้ทั้งอุตสาหกรรมโตขึ้น 10-20% และการใช้งานของลูกค้าจะยิ่งเพิ่มขึ้น ยอดธุรกรรม ณ สิ้นปีนี้น่าจะเพิ่มไปอีก 20?30%

3 ปีไทยสู่ Less cash society

“ปัจจุบันตลาดพร้อมแล้ว ทั้งการผลักดันของภาครัฐ การมีมาตรฐานระบบ อย่างพร้อมเพย์ QR Code ทำให้ทั้งอุตสาหกรรมตื่นตัว ไม่อยากตกขบวนขณะที่การเข้ามาของอาลีเพย์กระตุ้นตลาดได้เยอะผู้บริโภคก็ยอมรับการใช้งานทั้งโมบายแบงกิ้ง อีวอลเลต มากขึ้น ทุกรายแข่งกันสร้างความเชื่อมั่นให้ร้านค้าและผู้บริโภค เชื่อว่าใน 3 ปีสัดส่วนการใช้จ่ายผ่านอิเล็กทรอนิกส์จะโตก้าวกระโดดไปสู่สังคมที่ใช้เงินสดน้อย (less cash society)”

และเพื่อยกระดับมาตรฐานและส่งเสริมอีเพย์เมนต์ในไทย รวมถึงสร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภค จึงเปิดตัวสมาคม TEPA ซึ่งจะมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุน ประสานความร่วมมือ และช่วยแก้ปัญหาให้สมาชิก รวมถึงคุ้มครองผู้บริโภคผ่านกระบวนการกำกับดูแลกันเอง ปัจจุบันมีสมาชิกเป็นผู้ให้บริการอีเพย์เมนต์ 16 รายหลักของไทย

แอสเซนด์เป้าสิ้นปี 8 ล้านราย

ขณะที่ในฐานะแม่ทัพ แอสเซนด์ กรุ๊ป นายปุณณมาศ เปิดเผยว่า ความร่วมมือระหว่างแอสเซนด์ กรุ๊ป กับอาลีเพย์ จะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆและไม่ได้จำกัดเฉพาะด้านเพย์เมนต์ เพราะในแง่ของร้านค้าบริการเหล่านี้ไม่ได้ตอบโจทย์ในแง่ที่ยังยินดีรับเงินสดมากกว่า จึงต้องหาทางเพิ่มมูลค่าในแง่ของการทำให้ยอดขายและจำนวนลูกค้าเพิ่มขึ้น

“ท่ามกลางการแข่งขันดุเดือด ต้องหากลยุทธ์ที่จะทำให้ก้าวเป็นผู้นำ ที่จะได้ประโยชน์จากสเกลที่ใหญ่ขึ้น ทุกรายแข่งกันดึงลูกค้า ทั้งในรูปแบบการให้สิทธิประโยชน์ เครดิตเงินคืนต่าง ๆ ซึ่งดีกับผู้บริโภค การจับมือพาร์ตเนอร์เราจะเน้นที่ค้าปลีกมากขึ้น ปัจจุบันมีราว1 หมื่นร้านค้าตั้งเป้าเพิ่มให้เป็นแสนราย”

ปัจจุบันลูกค้าทรูมันนี่มีลงทะเบียน6 ล้านราย แอ็กทีฟราว 3 ล้านราย เป้าหมายสิ้นปีน่าจะถึง 8 ล้านราย เป็นลูกค้าแอ็กทีฟราว 4 ล้านราย และสิ้นปีหน้าเป็น 10 ล้านราย ขณะที่อัตราเฉลี่ยการใช้งานแต่ละครั้งอยู่ที่ 220 บาท ซื้อของออนไลน์ บิลเพย์เมนต์ต่าง ๆ เฉลี่ย 7 ครั้ง เพิ่มจาก 3 ครั้งต่อเดือนเมื่อต้นปี

VISA ชี้อีเพย์แค่ 20%

นายสุริพงษ์ ตันติยานนท์ ผู้จัดการ VISA (วีซ่า) ประจำประเทศไทย เปิดเผยว่า ตลาดอีเพย์เมนต์ในไทยแข่งขันกันรุนแรงมานานแล้ว ยิ่งผู้ให้บริการรายใหญ่จากจีนอย่างอาลีเพย์เข้ามา ก็ยิ่งกระตุ้นการแข่งขันทำให้คนรู้จักอีเพย์เมนต์มากขึ้น

“ในส่วนของวีซ่าไม่มีกระทบเพราะตลาดยังขยายตัวได้อีกมาก ปัจจุบันการใช้จ่ายด้านอุปโภคบริโภคของไทยยังใช้ผ่านอีเพย์เมนต์แค่ 20% หวังว่าการใช้เงินสดจะค่อย ๆ ลดลง หลังการเปิดตัวมาตรฐานกลางการชำระเงินผ่าน QR Code ของธปท.”

เพย์พาลโตดับเบิ้ล

ด้านนายสมหวัง เหลืองไพบูลย์ศรี ผู้จัดการประจำประเทศไทย Paypal (เพย์พาล) กล่าวว่า อาลีเพย์ทำให้ตลาดอีเพย์เมนต์ดุเดือดขึ้น เพราะจับมือเป็นพาร์ตเนอร์กับบริษัทใหญ่ในไทย ไม่ใช่เข้ามาโดยอิงกับนักท่องเที่ยวจีนเท่านั้น

ขณะที่การเปิดใช้มาตรฐาน OR Code จะกระตุ้นให้เกิดผู้ใช้หน้าใหม่มากขึ้น ทลายข้อจำกัดเรื่องค่าใช้จ่ายในการติดตั้งเครื่อง EDC รูดบัตร ที่ต้องมีเงินค้ำประกันและมีค่าเครื่องและฝั่งผู้บริโภคก็ใช้งานได้ง่ายขึ้น

ปัจจุบันลูกค้าเพย์พาลโตระดับ2 ดิจิตปลาย ๆ เพราะมีบริการที่รองรับตลาดไทยมากขึ้น มีเมนูฟังก์ชั่นการใช้งานเป็นภาษาไทย แบรนด์เป็นที่รับรู้ในตลาดไทยมากขึ้น และคนไทยกล้าช็อปปิ้งสินค้าที่ขายในต่างประเทศมากขึ้น แต่ก็ยังกลัวที่จะจ่ายด้วยบัตรเครดิต จึงเลือกใช้เพย์พาลมากขึ้น

แอร์เพย์ย้ำ one-stop-shop

นางสาวมณีรัตน์ อุนาโลมสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การีนา ออนไลน์ (ประเทศไทย) ผู้ให้บริการ Airpay กล่าวว่า อาลีเพย์กระตุ้นตลาดให้ขยายตัว และกระตุ้นให้ผู้ให้บริการทุกรายตื่นตัวมากขึ้น โดยเฉพาะการรักษาฐานลูกค้าอย่างแอร์เพย์คือกลุ่มเกมเมอร์

ปัจจุบันลูกค้าของแอร์เพย์ในส่วนของแอปพลิเคชั่นมีอยู่ 3.4 ล้านราย เพิ่มขึ้นจาก 2 ล้านรายเมื่อต้นปี ส่วนเคาน์เตอร์จุดให้บริการมีกว่า 1 แสนจุด ส่วนใหญ่ลูกค้าใช้บริการเพื่อเติมเงินมือถือ เนื่องจากมีให้บริการครบทุกค่าย รองลงมาคือ ใช้จองซื้อตั๋วหนัง ถัดมาคือใช้เติมเงินเกมออนไลน์ โดยปีหน้าตั้งเป้าขยายฐานคนใช้แอปไว้ราว 5 ล้านราย

“กลยุทธ์ของแอร์เพย์คือ ทำให้ระบบรองรับการชำระเงินบริการพื้นฐานที่ผู้บริโภคใช้งานประจำให้ครบถ้วนมากที่สุด และการสร้างแรงจูงใจด้วยการให้สิทธิประโยชน์มาเสริม รวมถึงโปรโมชั่นกับร้านค้า อาทิ เบอร์เกอร์คิง พิซซ่าคอมปะนี และเป็นพันธมิตรกับค้าปลีกมากขึ้น อย่างเทสโก้ โลตัส บิ๊กซี และย้ำจุดยืนแอร์เพย์ที่เป็น one-stop-shop”

และในไตรมาสที่ 4 ปีนี้ จะเปิดให้บริการชำระเงินผ่าน QR Code

LINE Pay ดึงลูกค้า-ร้านเข้าระบบ

นางสาวกิตติ์รวี เมธาสิทธิ์วุฒิกุล Senior Marketing Manager บริษัท แรบบิท-ไลน์เพย์ จำกัด เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ”ว่า ปัจจุบันมีฐานลูกค้าที่ใช้บริการราว 2.5 ล้านราย เฉลี่ยต่อเดือนมีการธุรกรรมราว 1 ล้านครั้ง เป็นเพย์เมนต์ผ่านฟังก์ชั่นในแอปพลิเคชั่น LINE ครอบคลุมทั้งบริการโลจิสติกส์อย่าง Kerry รวมถึงการใช้ในร้านออนไลน์และออฟไลน์จ่ายค่าสาธารณูปโภค

“ทุกบริษัทในวงการอีเพย์เมนต์ทุกรายก็ยังลงทุนต่อเนื่อง ด้วยเทรนด์ผู้บริโภคที่มาแล้วและภาครัฐก็สนับสนุน การแข่งขันที่รุนแรงทำให้ต้องมีการปรับกลยุทธ์รับมือ เช่น การจัดโปรโมชั่นดึงดูดลูกค้าให้เข้ามาใช้งาน แม้ว่าเฉพาะลูกค้าที่ใช้แอปพลิเคชั่น LINE ก็มีมากกว่า 40 ล้านรายแล้ว ที่จะเป็นฐานลูกค้าได้ในอนาคต ฟากร้านค้าต่าง ๆ ก็ต้องเข้าไปนำเสนอโปรโมชั่นเพื่อดึงให้เข้ามาในระบบ โดยชี้ให้เห็นถึงแนวโน้มของผู้บริโภคที่กำลังจะกลายเป็นสังคมที่ใช้เงินสดน้อยลงเรื่อย ๆ”