Lazada-shopee 2 ยักษ์ใหญ่ พร้อมท้าชน

แม้ว่าผลประกอบการปี 2561 ของ 2 ยักษ์ใหญ่อีคอมเมิร์ซ จะขาดทุนรวมกันกว่า 6 พันล้านบาท โดย Lazada มีรายได้ 8.16 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 364% ขาดทุน 2.64 พันล้านบาท ส่วน Shopee มีรายได้ 165 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 18% ขาดทุน 4.11 พันล้านบาท แต่ทั้งคู่ยังสู้ไม่ถอย

โดย “แจ็ค จาง” รองเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ลาซาด้า ประเทศไทย จำกัด ประกาศพร้อมอัดแคมเปญแบบ “จัดหนัก” ทุกเดือนยันสิ้นปี ที่ผ่านมาครึ่งปีแรก “แค่วอร์มอัพ” โดยหวังว่าปีนี้จะมียอดผู้ใช้และผู้ขายที่เติบโตมากกว่าปี 2561 ซึ่งมีผู้ใช้เติบโต 105% จำนวนร้านค้าเพิ่ม 90%

“ที่ผ่านมาแคมเปญของเรามียอดขายเติบโตไม่ต่ำกว่า 10 เท่า เติบโตสูงสุดถึง 19 เท่าในแคมเปญ 11.11 ส่งผลให้ผู้เล่นทั้งออนไลน์และออฟไลน์ จัดแคมเปญเหมือนกับเรา ปลายปีนี้เชื่อว่าตลาดจะคึกคักกว่าปีที่แล้ว”

ทั้งยังเดินหน้าลงทุนด้านโลจิสติกส์ต่อเนื่อง โดยจะขยายคลังเก็บสินค้าให้ครอบคลุมพื้นที่มากขึ้น ทั้งที่กรุงเทพฯและเชียงใหม่ เพราะโลจิสติกส์เป็นกุญแจสำคัญของอีคอมเมิร์ซ ต่อไปค่าส่งสินค้าจะยิ่งถูกลงอีก และระยะเวลาการจัดส่งที่ต้องเร็วขึ้น ถือเป็นความท้าทายของธุรกิจ ซึ่งก็สอดรับกับการขยายบริการสู่ “grocery products” ด้วยฟีเจอร์ “Lazmart” ที่จะเปิดให้สั่งซื้อสินค้าจากซูเปอร์มาร์เก็ตได้ตั้งแต่ ก.ย.นี้ แต่จะเริ่มที่สินค้าประเภทของแห้งก่อน จะขยายไปสู่สินค้าประเภทของสดและอาหาร โดยมุ่งจับกลุ่มผู้หญิงและคุณแม่

ฟาก Shopee ที่อยู่ภายใต้ “SEA” บริษัทแม่ที่มีมูลค่าธุรกิจกว่า 5 แสนล้านบาท จาก 3 ธุรกิจหลัก อย่างเกม (การีน่า) อีเพย์เมนต์ (AirPay) และอีคอมเมิร์ซ (Shopee)

“มณีรัตน์ อนุโลมสมบัติ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร SEA (Thailand) เปิดเผยว่า เป็นเรื่องปกติที่ตัวเลขผลประกอบการในช่วงนี้จะยังไม่สวยงามนัก และทุกรายที่อยู่ในตลาดก็เป็นเหมือนกัน

“ยังอยู่ในเฟสที่ต้องดันให้เกิดการใช้งาน ตลาดไทยยังมีศักยภาพในการเติบโต ทุกเจ้ายังอยู่ในการกระตุ้นคนให้คุ้นชินกับการซื้อของออนไลน์ ซึ่งต้องดูในอีกระยะยาวว่าจะมีการปรับบิสซิเนสโมเดล รวมถึงตอบยากว่าจะเริ่มเข้าสู่จุดที่จะคืนทุนได้เมื่อไร เพราะแต่ละประเทศมีธรรมชาติที่แตกต่างกัน ซึ่งการทำธุรกิจต้องพร้อมปรับเปลี่ยน เพราะผู้เล่นจากต่างชาติก็พร้อมเข้ามาเสมอ ณ จุดนี้ Shopee ก็ยังแข่งขันได้ และมุ่งที่การทำให้ลูกค้าสบายใจกับการใช้แพลตฟอร์มของเรา ให้ใช้สะดวก ใช้แล้วชอบ สนุก จึงมีทั้งฟีเจอร์ เกม ให้ผู้ใช้เข้ามาเล่น มี live ให้ผู้ค้าเข้ามาขายของได้ เป็นการ enriching ดึงคนให้เข้ามาร่วมกิจกรรมมากขึ้น ไม่ใช่แค่มาซื้อของแล้วจบ”

ทั้งยังเน้นดูแลทั้งฝั่งผู้ซื้อและผู้ขาย ด้วยการให้ความรู้กับผู้ขาย ในรูปแบบต่าง ๆ เช่น จัดอบรม ร่วมมือกับภาครัฐเพื่อทำ train the trainers ซึ่งทำให้ปีที่แล้วมีผู้ขายเพิ่มขึ้น 150% รวมถึงการสร้างความมั่นใจให้ผู้ซื้อด้วยการการันตีคืนเงินเมื่อไม่พึงพอใจ

ส่วนเก็บค่าธรรมเนียมจากผู้ขายบนแพลตฟอร์ม ระบุว่า ยังเป็นแค่การ “ทดลอง” เพื่อดูการตอบรับของตลาด ไม่ใช่มุ่งที่จะสร้างรายได้ เช่นเดียวกับการเปิดบริการโลจิสติกส์ของ Shopee เอง ที่ไม่ได้มุ่งแข่งขันกับพาร์ตเนอร์หรือเตรียมขยายสู่ตลาด mass แต่เป็นบริการเสริมรองรับผู้ซื้อที่ต้องการสินค้าแบบ “ทันทีทันใด”

ส่วนการขยายไปสู่ธุรกิจใหม่ ๆ จากนี้ ยังเน้นที่ 3 ธุรกิจหลักดั้งเดิม คือ เกม อีเพย์เมนต์ และอีคอมเมิร์ซ โดยจะเห็นบริการใหม่ ๆ ที่สืบเนื่องกันมากขึ้น เป็นการสร้างอีโคซิสเต็ม

“เป้าหมายคือ ต้องขยายให้ครอบคลุม เพื่อให้คนเข้าถึงบริการของ SEA ได้มากขึ้น และต้องทำให้เกิดการ “ทดลองใช้” ให้ได้มากขึ้น ไม่ว่าจะฝั่งผู้ซื้อผู้ขาย จึงมีทั้งการจัดอบรม การเปิดให้ทดลองใช้ การสร้างเกม ใช้ทั้งพรีเซ็นเตอร์และสร้างเอ็นเตอร์เทนเมนต์ พร้อมกับการทำแคมเปญเพื่อกระตุ้นลูกค้าและแข่งกับคู่แข่ง”