Opendoor ทางด่วนสำหรับคนซื้อขายบ้าน

ภาพประกอบไม่เกี่ยวข้องกับข่าว

คอลัมน์ สตาร์ตอัพ “ปัญหา” ทำ “เงิน”

โดย มัชฌิมา จันทร์สว่างภูวนะ

คนที่เคยพยายามขายบ้านมาก่อน คงรู้ว่าพอประกาศขายแล้ว สิ่งเดียวที่ทำได้ คือรอ นั่งรอ นอนรอ วนไปค่ะ บางทีเป็นปี ยังขายไม่ออกก็มี ครั้นพอมีคนสนใจ ก็ต้องสาละวนตื่นมาแต่งหน้า จัดบ้านคอยต้อนรับ โชคดีก็ขายออก โชคร้าย ก็อกหัก นั่งรอลูกค้ารายต่อไป ซึ่งไม่รู้จะมาอีกเมื่อไร สตาร์ตอัพที่เราจะนำเสนอวันนี้ จะมาช่วยให้การขายบ้านเป็นเรื่องง่ายและไม่ต้องรอจนเหงือกแห้งอีกต่อไปค่ะ

สตาร์ตอัพแห่งนี้มีชื่อว่า Opendoor เปิดตัวไปเมื่อ 2 ปี ก่อน โดยมีบริการรับซื้อบ้านภายในเวลาอันรวดเร็ว ให้ราคาไม่ต่างจากราคาประเมินมากนัก แลกกับค่าธรรมเนียม 8% (ค่าบริการเรตมาตรฐาน 6%+2% ค่าความเสี่ยง)

สิ่งที่เจ้าของบ้านต้องทำคือ กรอกรายละเอียดต่าง ๆ บนแบบฟอร์มออนไลน์ ระบบจะทำการประเมินและแจ้งเสนอราคาภายใน 24 ชั่วโมง หากลูกค้าตกลงในราคานั้น จะมีการนัดดูบ้านอีกครั้งเพื่อตรวจสอบว่าอยู่ในสภาพที่ลูกค้าระบุมาหรือไม่ หลังจากนั้นก็ทำการปิดดีล ซึ่งใช้เวลาตั้งแต่ 3 ถึง 60 วัน แล้วแต่ลูกค้าสะดวก

เมื่อได้บ้านมาแล้ว สิ่งที่ Opendoor ต้องทำ คือ รีบขายออกเพื่อทำเงินให้เร็วที่สุด โดยบวกราคานิดหน่อยจากที่ซื้อมา ลูกค้าดูรายละเอียดบ้านได้จากเว็บหรือแอปพลิเคชั่น หากสนใจก็ติดต่อผ่านแอปฯ เพื่อรับรหัสเปิดกุญแจบ้าน และเข้าสำรวจบ้านได้ทุกวัน ตั้งแต่ 6 โมงเช้า ถึง 3 ทุ่ม ไม่ต้องทำนัดกับเจ้าหน้าที่ให้เสียเวลา

หากพอใจ สามารถซื้อได้ทันที หรือจะติดต่อขอใช้บริการสินเชื่อผ่านบริษัทก็ได้ โดยไม่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมใด ๆ แถมยังรับฟรีประกันระบบไฟฟ้าและเครื่องใช้ไฟฟ้านาน 2 ปี ที่เด็ดสุดคือ หากอยู่ ๆ ไปแล้วไม่ชอบ บริษัทรับซื้อคืนภายใน 30 วัน

Opendoor เน้นเจาะตลาดคนชั้นกลางและสนใจเฉพาะบ้านสำหรับครอบครัวเดี่ยว ที่ก่อสร้างหลังปี 1960 และมีราคา 125,000-500,000 เหรียญ บ้านที่เก่ากว่านี้ หรือแพงกว่านี้ ไม่เอา เพราะบ้านเก่าต้องจ่ายค่าซ่อมเยอะ และถ้าบ้านแพง ก็ขายยากและใช้เวลานานไป

เครื่องมือสำคัญของ Opendoor คือ ระบบ data analysis ที่ใช้ในการประเมินราคาบ้าน โดยมีการจ้างทีมงานหัวกะทิเพื่อมาวิเคราะห์และรวบรวมข้อมูลระบบเกือบ 20 คน มีดัชนีและปัจจัยในการนำมาคำนวณหลายพันตัว เพื่อให้ได้ราคาประเมินที่เหมาะสมที่สุด เพราะอย่าลืมว่าบริษัทต้องเสนอราคาซื้อก่อนจะได้เห็นตัวบ้านด้วยซ้ำ

ดังนั้น หัวใจของธุรกิจคือ ต้องสามารถประเมินราคาซื้อได้ถูกต้อง และต้องขายบ้านออกไปให้เร็วที่สุด ถึงจะมีกำไร

ความเสี่ยงของ Opendoor จึงมาจาก การเป็นธุรกิจที่ใช้เงินลงทุนสูง เงินที่นำมาซื้อบ้านคือเงินกู้เสียกว่า 90% และหากการประเมินราคาผิดพลาด บริษัทก็อาจขาดทุนได้ อีกทั้งยังไม่มีอะไรมารับรองได้ว่า บริษัทจะสามารถขายบ้านที่ลงทุนซื้อมาได้เร็วอย่างที่ต้องการ โดยเฉพาะในช่วงเศรษฐกิจฝืดเคือง

แต่ Opendoor ก็ยังเดินหน้าต่อไป ด้วยเชื่อว่ายิ่งช่วงเศรษฐกิจขาลง บริษัทจะยิ่งทำมาค้าคล่อง เพราะสามารถปรับค่าความเสี่ยงขึ้นจาก 2 เป็น 6% ได้ตลอดเวลา (มีระบุไว้ในข้อตกลง) และยังมั่นใจด้วยว่าเจ้าของบ้านจะยอมจ่ายค่าธรรมเนียมสูงเพราะอยากปล่อยบ้านเร็ว ๆ

ตอนนี้บริษัทระดมทุนได้กว่า 320 ล้านเหรียญ แต่ก็มีหนี้ก้อนโตกว่า 400 ล้านเหรียญ ถ้าจะทำกำไร ต้องขยายกิจการให้ได้ตามเป้า คือ 10 เมืองภายในสิ้นปีนี้ (เพิ่มจากปัจจุบันที่มีอยู่ 4 เมือง ได้แก่ ฟีนิกซ์ ดัลลัส เวกัส และแอตแลนตา) และ 30 เมืองภายในปี 2018

จากการประเมินของ Forbes คาดว่า Opendoor มีรายได้ราว 50 ล้านเหรียญเมื่อปีก่อน และน่าจะเพิ่มเป็น 200 ล้านเหรียญในปีนี้ การประเมินล่าสุด Opendoor มีส่วนแบ่งการตลาดในฟีนิกซ์แล้ว 2% และกำลังตามเก็บส่วนแบ่งเค้กชิ้นโตนี้ในเมืองอื่น ๆ ด้วย

เมื่อคำนวณจากมูลค่าตลาดที่ 1.4 ล้านล้านเหรียญ แต่ละปีมีการซื้อขายบ้านปีละกว่า 5 ล้านหลัง ที่ราคาเฉลี่ยหลังละ 250,000 เหรียญ หาก Opendoor สามารถครองส่วนแบ่งตลาดแค่ 1% ก็จะทำเงินได้เกิน 1 พันล้านเหรียญ จึงไม่แปลกใจที่ Forbes ยังจัดให้ Opendoor อยู่ในลิสต์สตาร์ตอัพที่น่าจะทำเงินได้เกิน 1 พันล้านเหรียญในอนาคตด้วย

ก็ต้องลุ้นต่อไปว่า สตาร์ตอัพน้องใหม่ใจกล้าท้าชนรายนี้ จะทำได้ตามเป้าหรือไม่ เพราะถ้าทำได้ขึ้นมาจริง ๆ ก็น่าจะสั่นสะเทือนวงการอสังหาริมทรัพย์ในอเมริกาได้ไม่น้อยทีเดียว