ก้าวสู่ไทยแลนด์ 4.0 ผ่านมุมมองยักษ์ใหญ่ “ล็อกซเล่ย์”

สัมภาษณ์


กว่า 76 ปีแล้วที่ “ล็อกซเล่ย์” ก่อตั้งในไทยจนแข็งแรงและมีธุรกิจหลากหลาย รวมถึงเป็นหนึ่งในบริษัทที่บุกเบิกด้านไอซีทีมาตั้งแต่ยุคแรก ๆ ของไทย และปลายปีที่แล้วเพิ่งมีการปรับโครงสร้างองค์กรใหม่อีกครั้ง “ประชาชาติธุรกิจ” พาเปิดมุมมองของ “ศักดิ์ณรงค์ แสงสง่าพงศ์” รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ล็อกซเล่ย์ ซึ่งดูแลกลุ่มธุรกิจด้านเทคโนโลยี ทั้งยังเป็นรองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย รวมถึงคณะทำงาน สานพลังประชารัฐของรัฐบาล เพื่อฉายภาพรวมของล็อกซเล่ย์และธุรกิจไอทีไทย ในยุคไทยแลนด์ 4.0

Q : ปรับโครงสร้างใหม่ของล็อกซเล่ย์

ในเชิงโอเปอเรชั่น ที่เป็น traditional ในด้านไอซีที จะมี “ล็อกซบิท” นำ ภายใต้นั้น ก็จะมี “พีซีซี” มี “เน็ทวัน เน็ทเวิร์คโซลูชั่น” ที่ทำด้านเน็ตเวิร์กอยู่ กับอีกปีกที่เป็นอิสระ ก็จะมี “ล็อกซเล่ย์ ออบิท” แล้วจะมี “K2” ที่เป็นกองทุนเวนเจอร์แคปิตอล แยกออกมาต่างหาก เราจะปล่อยให้คนที่เป็น VC โดยธรรมชาติเป็นคนนำ ล็อกซเล่ย์จะมองอยู่ห่าง ๆ ส่วนงานด้านสายโทรคมนาคมจะไปอยู่ฝั่งล็อกซเล่ย์กับล็อกซเล่ย์ไวเลส แต่ปัจจุบันโทรคมนาคมคอนเวอร์เจ้นส์กับไอทีค่อนข้างมาก โทรคมล้วน ๆ ไม่ค่อยมีใครทำ โปรดักต์ต่าง ๆ ค่อย ๆ หายไปจากโลก มุ่งสู่บริการบนอินเทอร์เน็ต ไม่ได้ฉายเป็นสตาร์ในอนาคต ก็จะเป็นการเมนเทนลูกค้าเก่า เมนเทนเทคโนโลยีในจุดนั้นไว้เพื่อเซอร์วิสลูกค้า ส่วนเซอร์วิสโปรดักต์ใหม่ ๆ จะมาทางฝั่งเรา

คือหลัก ๆ แล้ว ล็อกซบิทยังเป็นโครงสร้างแบบเดิม คือขายโซลูชั่น เป็น SI traditional ที่จะมุ่งไปทางแบงก์ ไฟแนนซ์ ภาครัฐ แต่สิ่งที่พยายามปรับตัวเองเข้า คือมีไดเร็กชั่นใหม่ที่จะพากลุ่มนี้ไป แตะเรื่องดาต้าอะนาไลติกส์ ยกระดับเซอร์วิสของเราทั้งหมด ดาต้าเกตเวย์เป็นบิสซิเนสใหม่ สร้างทีมขึ้นมาทำเทคโนโลยีใหม่ ดาต้าไซแอนทิส ที่จะเอาเทิร์น SI เดิมไปอีกส่วนหนึ่ง ส่วนล็อกซเล่ย์ ออบิท จะแยกไปอีกมุมเลย คือจะออกไปในเชิงนิวบิสซิเนส นิวเทคโนโลยีใหม่ อย่างบล็อกเชน

Q : มีความเป็นไปได้ที่จะรวมเป็นบริษัทเดียว

ไม่มีความคิดนั้น เพราะเทรนด์บริษัทในโลกไม่ใช่จะเป็นบริษัทใหญ่ ๆ ที่ทำทุกอย่าง จะเป็นบริษัทเล็ก ๆ ที่ทำเฉพาะด้านแล้วเร็ว ๆ และบางอันธรรมชาติของคนในบริษัทนั้นจะไม่เหมือนกัน อย่างพีซีซี จะเป็นกลุ่มที่ก้ำกึ่ง คืออายุ 40 กว่าไปแล้วไม่ใช่คนรุ่นใหม่มาก ๆ หรือรุ่นเก่ามาก ๆ เพราะฉะนั้นการเทิร์นคนจุดนี้ต้องยังคงเทรนเทคโนโลยีใหม่และพาพวกเขาไปพร้อมกับเราต่อไป

สิ่งที่เราจะโฟกัสคือการใช้เทคโนโลยีใหม่ที่เร็ว ๆ ไว ๆ เช่นใช้บล็อกเชนทำเกตเวย์บ้าง ทำโซลูชั่นให้ลูกค้า รวมกับอันอื่น ๆ เพราะบล็อกเชนไม่ได้เหมาะสมกับทุกเรื่อง บางเรื่องอย่าง ERP เป็นเรื่องภายในจะไปใช้บล็อกเชนทำไม เราจะเสนอโซลูชั่นที่ผสมกันให้ลูกค้าของเรา เพราะเรามีความรับผิดชอบที่จะต้องพาลูกค้าของเราในปัจจุบันไปสู่เทคโนโลยีใหม่ ๆ ในอนาคตด้วย เพราะลูกค้ากลุ่มล็อกซเล่ย์ก็มีราชการอยู่เยอะมาก กรมหลัก ๆ มีเกือบหมด ก็ต้องพาเขาไปสู่เทคโนโลยีใหม่

Q : สัดส่วนรายได้จากฝั่งไอที

25-30% ของล็อกซเล่ย์ทั้งหมดที่มีรายได้ราว 15,000-16,000 ล้านบาทต่อปี และในส่วนนี้ราว 60% เป็นรายได้มาจากภาครัฐ ก็ราว ๆ 3,000 ล้านบาทต่อปี แต่เราปักธงว่าจะโตขึ้นแน่นอน เป็นการโตแบบบริษัทไอที คือจะไม่โตแบบ top line เพราะฝืนเทรนด์โลกไม่ได้ ยิ่งขายแต่ซอฟต์แวร์ ฮาร์ดแวร์ ยิ่งขาดทุน จึงต้องเน้นด้าน bottom line สร้าง profit จากเซอร์วิส แต่ต้องยอมรับว่ายอดพวกนี้จะไม่ทันกับยอดขายซอฟต์แวร์ ฮาร์ดแวร์ ที่ตกแรงมาก ซึ่งจะใช้เวลาสักพักกว่าจะถึงจุดสมดุลที่จะอยู่ได้

Q : อินฟราสตรั๊กเจอร์ภาครัฐมีข้อจำกัดเยอะ

เราต้องวางโรดแมปให้เขาเห็นว่า ทิศทางที่จะไปในอนาคต ที่จะต้องฉายภาพให้ลูกค้าเห็นเพื่อตัดสินใจ และรายละเอียดขั้นตอนจะเป็นอย่างไรบ้าง ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะไปกันเป็นส่วน ๆ และความสนใจที่จะผลักดันของภาครัฐก็จะแยกกันไปแต่ละภารกิจของหน่วยงาน อย่างกระทรวงการคลัง ก็จะเป็นเรื่อง National KYC Identity

เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ก็จริง ในแง่ธุรกิจถ้าเจาะเล่นเรื่องเล็ก ๆ ให้เห็นผลเร็วเป็นเรื่องดี แต่เรื่องใหญ่ ๆ เป็นสิ่งจำเป็นในมุมของประเทศ นี่คือประโยชน์ชาติ หลายเรื่องจำเป็นต้องทำ จำเป็นต้องไป เพราะเทคโนโลยีทุกเรื่อง ทั้งฟินเทค สตาร์ตอัพ ในโลกที่เกิดขึ้น อาเซียนเรา สิงคโปร์ มาเลเซีย ไม่ได้มองแค่ตลาดของเขาคนเดียวแล้ว อนาคตไม่มีเรื่องขอบเขตประเทศอีกต่อไปแล้ว สินค้าจะส่งไปได้ทั่วย่านนี้ สินค้าไทยจะไปไหนก็ได้แล้ว

สิงคโปร์ไม่ได้มีสินค้าอะไรเด่น แต่กำลังเอาเทคโนโลยีมารวบตลาด อาเซียนมีคน 600 ล้านคน มีถึง 40 ล้านคนที่เป็นวัยแรงงาน ตลาดคือมหาศาล สิงคโปร์ถ้าเทกโอเวอร์อาเซียนได้ด้วยเทคโนโลยีก็จะโตไม่มีที่สิ้นสุด ถ้าไทยไม่สามารถแข่งขันในจุดนี้ได้ ตลาดก็จะถูกแย่งแน่นอน อีคอมเมิร์ซ อีบิสซิเนส ทำโดยไม่สนใจว่าของประเทศไหน ผลิตที่ไหน ถ้าเราทลายเรื่องโลจิสติกส์ได้ด้วยการสร้างรถไฟความเร็วสูง รถไฟรางคู่ การส่งสินค้าไปอาเซียนก็จะทำได้อย่างรวดเร็ว

ตอนนี้รัฐบาลกำลังทำเรื่อง Single window ที่จะพอร์ทอลหลักใช้งบฯ 4,000 กว่าล้านบาท ซึ่งจะเป็นการรวมเซอร์วิสของภาครัฐเข้าไว้ด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นประชาชนทั่วไปหรือธุรกิจ ก็จะสามารถดีลกับช่องทางนี้ช่องทางเดียว ซึ่งโดยส่วนตัวได้พยายามผลักดันเรื่องนี้มานานแล้ว trade facilitation ไทยได้เซ็นข้อตกลง TFA เอาไว้แล้ว มี 100 กว่าประเทศที่เซ็นไว้ด้วยกัน TFA ครอบคลุมการนำเข้าและส่งออกสินค้า ให้ทั้งหมดเป็นเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด ไทยเพิ่งกำลังเริ่มทำ ปัญหาคือความร่วมมือในการอินทิเกรตระบบหลังบ้าน แต่ละหน่วยงานห่วงข้อมูลของตัวเอง

คณะกรรมการประชารัฐ ชุด D5 ที่ทำเรื่อง S Curve ที่ผมเป็นกรรมการอยู่ กำลังพยายามผลักดันเรื่องนี้อยู่ การขอใบอนุญาตทั้งหมดให้เป็นอิเล็กทรอนิกส์ แต่ก็ไม่ใช่ว่าต้องไปยื่นทีละหน่วยงาน แต่จะต้องเป็น single-entry ส่งข้อมูลเชื่อมต่อไปถึงทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปจนได้รับใบอนุญาต ซึ่งเอกชนก็ยินดีให้ชาร์จค่าบริการอยู่แล้ว เพราะปัจจุบันบางครั้ง 30 วัน 3 เดือนยังไม่เสร็จ แล้วยังต้องวิ่งประสานงานไปหลายหน่วยงาน แต่ก็ยังมีปัญหาที่แต่ละหน่วยงานไม่มีนโยบาย ไม่เห็นประโยชน์ที่จะทำ จึงคาดว่าน่าจะผลักดันในระดับมติ ครม.เพื่อสั่งไปถึงทุกหน่วยงานได้ หลัก ๆ จะเป็นไทยแลนด์ 4.0 ก็ต้องเริ่มจากตรงนี้

Q : การลงทุนไอทีภาครัฐน่าจะมากขึ้น

จากนี้เราหวังว่าจะเห็น แต่เมื่อรัฐบาลบอกว่ามีอายุถึงแค่ปลายปีหน้า ก็อาจจะมีปัญหาได้ว่า รัฐบาลใหม่มาก็อาจจะเปลี่ยนนโยบาย แต่เชื่อว่าโลกมันจะเปลี่ยนเราเอง มันจะบีบเรา บีบรัฐบาลเอง ถ้ารัฐบาลไม่ทำการเปลี่ยนแปลงอย่างที่ควรจะเป็น เราจะสูญเสียโอกาสของประเทศอย่างใหญ่หลวง เพราะมาเลเซีย สิงคโปร์ ทำอย่างแรงมาก การจดทะเบียนตั้งบริษัทที่สิงคโปร์ใช้เวลาไม่ถึง 1 ชั่วโมง ในไทยต้องใช้เวลาเป็นวัน ๆ การขอรับใบอนุญาตก็เหมือนกัน มีส่วนที่ใช้ดุลพินิจของพนักงานอยู่ ซึ่งควรจะต้องมีการแก้ไขให้เป็นระบบ ไทยมี พ.ร.บ.อำนวยความสะดวกฯ กำหนดเวลาว่าติดต่อราชการต้องเสร็จภายใน 45 วัน แต่มันบังคับใช้ได้ไหม เพราะเอกชนก็ไม่อยากมีเรื่องกับภาครัฐ แล้วภาครัฐก็จะมีทริก เอกสารไม่ครบก็นับวันกันใหม่ มันก็ไม่ใช่ 45 วันจริง ๆ ถ้ามันเป็นเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ทุกอย่างก็จะมีเวลาบันทึกไว้หมด การเรียก การส่ง เท่ากับมีการมอนิเตอร์อย่างใกล้ชิด และในเมื่อผู้ประกอบการไม่ต้องไปเจอกับเจ้าหน้าที่ ก็จะไปทำอะไรประหลาด ๆ กันไม่ได้

Q : การลงทุนของฝั่งเอกชน

ตอนนี้มีการเปลี่ยนแปลงเยอะ มีฟินเทคเข้ามา ถือเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของแบงก์ว่าจะเดินไปทางไหน ในอนาคตบทบาทของแบงก์เปลี่ยนไปแน่นอน เจ้าตัวเองก็รู้ คอนซูเมอร์แบงกิ้งเปลี่ยนรูปแบบไปโดยสิ้นเชิงแน่นอน ชอบหรือไม่ ไม่รู้ แต่ต้องเปลี่ยน ในประเทศไทยฝืนได้อีกไม่นาน ตอนนี้แบงก์ชาติอาจจะยังไม่ให้เปิดบริการใหม่บางอย่าง P2P เพียร์ทูเพียร์ เพราะยังมีปัจจัยความเสี่ยงบางอย่าง แต่ในต่างประเทศมีเยอะแยะ

Q : เงินลงทุนไอทีของเอกชน

เท่าที่สำรวจ ขณะนี้ยังไม่ได้เพิ่มขึ้นมากนัก เพราะอยู่ในช่วงพิจารณาและตัดสินใจว่าจะลงทุนกับอะไร

Q : กระทบจากบริษัทใหญ่ตั้ง VC หนุนฟินเทคเยอะ

ก็กระทบกับบริษัทไอทีเดิม ๆ ในแง่ของการขาดแคลนบุคลากร เพราะคนที่รู้ด้านไอทีในไทยมีจำกัดมาก พอฟินเทคเปิดใหม่ ๆ เยอะ ก็ต้องมาดึงคนจากบริษัท SI ต่าง ๆ คนล็อกซเล่ย์ก็โดนดึงไป ก็มีปัญหาเพราะกว่าเราจะฝึกคนได้ แต่ฟินเทคพวกนี้เขามีเงินเยอะสามารถดับเบิ้ลเงินเดือนแล้วดึงคนไปได้ โมเดลธุรกิจกว่าจะเริ่มทำเงินได้คือ 5 ปี ฉะนั้นช่วง 2-3 ปีแรกเขาพร้อมจะเผาเงินทิ้ง ดึงทุกอย่างเพื่อทำให้โมเดลธุรกิจที่บรีฟไว้เป็นจริง

ที่เราต้องรับมือคือต้องไปกับกระแส เรื่องคนก็ต้องปรับภายในองค์กร ใครความสามารถสูงเราก็ต้องจ่ายแพง แง่ธุรกิจเมื่อเกิดความเปลี่ยนแปลงเราก็ต้องเตรียมตัวให้กับลูกค้าของเราว่าอีก 1-2 สเต็ปต้องใช้คนประเภทไหน เราต้องเตรียมไว้ให้เรียบร้อย

Q : ทักษะคนที่ต้องการ

คนที่รู้เรื่องดาต้า ไซแอนทิส อะนาไลติกส์ บริการมาตรฐานทั้งหมด เพราะสมัยนี้ไม่ใช่เอาใครก็ได้มาให้บริการ แต่ต้องสอบผ่าน ISO ต่าง ๆ พวกนี้คือดีมานด์ในอนาคตที่รู้อยู่แล้วว่าต้องมา ฉะนั้นทั้งบริษัทต้องมีเซอร์ติฟายทั้งหมด ISO 9000 เราได้มา 20 ปีแล้ว แล้วยังมี ISO อื่นอีก ต้องมีตามมาตรฐานสากล ยังต้องมีคนที่รู้เรื่องบล็อกเชน เทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อบรีฟลูกค้าว่าแต่ละสเต็ปต้องไปอย่างไร และมีเซอร์วิสพร้อม เพื่อพาลูกค้าของเราไปกับเทคโนโลยีใหม่ เราไม่ได้อยู่เฉย ๆ เพราะ SI โมเดลอยู่ได้อีกไม่นาน น่าจะสัก 5 ปี ฉะนั้นเราต้องขยับ

นี่จึงเป็นเหตุผลที่เราก้าวไปสู่ธุรกิจใหม่ ๆ ตั้งกองทุน K2 ขึ้นมาหาของใหม่ ล็อกซออบิทก็เหมือนกันที่จะปล่อยให้ทำในเรื่องใหม่ ๆ จะดูเรื่องแอปพลิเคชั่นตัวเล็ก ๆ ย่อย ๆ ที่จะเข้าไปช่วยธุรกิจต่าง ๆ ส่วน K2 จะเป็นกองทุนเวนเจอร์แคป บริษัทไหนที่ดีก็อาจจะเทกโอเวอร์ทั้งหมดก็ได้ พวกนี้ต้องประเมินดู หรืออาจจะสร้างฟินเทคของตัวเองก็ได้ ตอนนี้เราก็มีทีมบล็อกเชนแล้ว กำลังสร้างประสบการณ์ให้เคี่ยวขึ้น

Q : เริ่มเห็นว่าต้องเปลี่ยนเมื่อไร

เริ่มทำมา 2 ปีแล้ว ก่อนที่จะเปลี่ยนโครงสร้างล็อกซเล่ย์ ปีกไอทีของล็อกซเล่ย์ เรารู้ว่าเราจับกับเทคโนโลยี เราปรับตัวเองมาตั้งแต่ 3 ปีที่แล้ว แต่ 2 ปีที่ผ่านมาเราทำโอเปอเรชั่นเยอะมาก ลงทุนไปเป็นร้อยล้าน แค่เทรนนิ่งต่อปีก็เป็น 10-20 ล้านแล้ว เรื่องคนเราลงทุนเข้ามาเยอะ เพราะมีงานด้วยขณะที่เทรนนิ่งด้วยก็ต้องมีคนจำนวนเยอะพอ ไม่อย่างนั้นเนื้องานมันเยอะก็ไม่ได้เทรนนิ่ง แล้วยังมีพวกค่าไลเซนส์ซอฟต์แวร์ ฮาร์ดแวร์ บางครั้งก็เป็นการซื้อเทคโนโลยีเอามาแกะดูข้างในว่าเป็นอย่างไร

คือเราต้องพาคนอายุ 40 กว่าไปกับเรา พร้อมกับคนใหม่ ๆ ให้ไปด้วยกัน คือเขาอยู่กับเรามานานเขามีรอยัลตี้แน่ ๆ จุดนี้เราต้องพาเขาไปกับเราแน่ ๆ เพียงแต่ต้องเสริมสกิลในส่วนที่เราจะไปจับในอนาคต พวกนี้เราวางแผนไว้หมดแล้ว

เลือดใหม่เราก็มองหาตลอดเวลา เชื่อไหมว่า ตอนนี้เรามีตำแหน่งงานว่างอยู่ 50 แต่หาคนไม่ได้ เพราะว่าสิ่งที่เด็กเรียนมามันไม่ตรง ออกมาทำงานแล้วใช้ไม่ได้เลย ก็เป็นคำถามว่าสอนอะไรกันในมหาวิทยาลัย ตอนนี้เราจึงส่งทีมงานเข้าไปสอนในมหาวิทยาลัย

Q : ที่ขาดแคลนที่สุดคือแบบไหน

เรื่องสเป็กสูงไม่ต้องพูดถึง หายากมาก อย่างดาต้า ไซแอนทีส หายากมาก แต่ง่าย ๆ แค่โปรแกรมเมอร์จาวา ที่ผ่านเกณฑ์ก็ยังหาไม่ได้ ปัญหานี้มี 10 กว่าปีแล้วก็ยังเป็นอยู่ เป็นทั้งวงการ แต่ละบริษัทก็หาวิธีแก้กันไป อย่างส่งคนเข้าไปสอนแล้วใครมีแววก็รับหมด คือเด็กเรียนไอทีบางครั้งก็ไปอยู่ในไอทีบิสซิเนสแต่เขียนโปรแกรมไม่เป็นก็งง ๆ ฉะนั้นก็ต้องมีเทรนนิ่งใหม่หมด ก็พยายามหารือกับกระทรวงดิจิทัลฯ เพื่อให้จัดแคมป์ ก็เป็นความหวัง

Q : แผนลงทุนด้านไอทีจากนี้

ก็ประมาณร้อยล้านเหมือนเดิม จะเข้มข้นเรื่องไซเบอร์ซีเคียวริตี้มากขึ้น เพราะเป็นสิ่งที่ต้องมาแน่นอน และแค่ระดับเบสิกไม่พออีกต่อไป จึงต้องเพิ่มงบประมาณด้านการฝึกอบรมและเทรนนิ่ง ผลักดันคนของเราให้สอบ certificate มาตรฐานต่าง ๆ ต้องมีให้ครบ

Q : ต้องเพิ่มคนอีกเท่าไร

อย่างน้อยต้อง 100 คน เพราะต้องซัพพอร์ตทั้งตัวเองและให้ลูกค้า แต่เราจะไม่เอามาเป็นหัวอ้วน ๆ ในองค์กร แต่จะเป็นการกระจายไปตามยูนิตต่าง ๆ แล้วทั้งหมดอยู่ภายใต้ยุทธศาสตร์เดียวกันว่าเรากำลังจะมุ่งไปใน 4-5 area ที่เรารู้ว่าต้องใช้คนเมื่อไร ที่ไหนเทรนนิ่งอะไรบ้าง

Q : จะลงทุน R&D เอง ?

ไม่ เพราะเราไม่ใช่เจ้าเทคโนโลยีในลักษณะที่คิดค้นสิ่งใหม่ด้วยตัวเอง แต่เราจะแค่คิดค้นเซอร์วิสที่เหมาะกับธุรกิจบ้านเราด้วยตัวเองแค่นั้น ฉะนั้น R&D ของเราไม่ใช่ pure science แต่จะเป็น business approach มากกว่า นี่คือโฟกัสของเรา เป็นการคิดค้นเซอร์วิสเพื่อธุรกิจในอนาคต ก็เตรียมงบฯไว้เป็นโปรเจ็กต์ ๆ ไป ไม่ได้วางเป็นงบฯกลางด้านวิจัย แต่ละโปรเจ็กต์ก็อาจจะ 30-50 ล้าน

Q : ล็อกซเล่ย์เป็นเหมือนตัวกลาง เทรนด์โลกคือตัดตัวกลาง

ตัวกลางแบบ traditional จะต้องหายไปแน่นอน แต่สิ่งที่เรากำลังไปคือเซอร์วิสบิสซิเนสให้ลูกค้า เช่น เป็นตัวกลางเกตเวย์รวมให้ทุกคนวิ่งผ่าน ให้ลูกค้ามาใช้บริการกับเรา ไม่ต้องลงทุนเอง ซึ่งเซอร์วิสที่มีคือสิ่งที่ลูกค้าต้องการ ไม่มีไม่ใช้ไม่ได้ เราจะวางตัวเองให้อยู่ตรงจุดนั้นให้ได้ภายใน 5 ปี

ในเชิงไอที เป้าหมายคือเราจะไปดักหน้าลูกค้าเรา โฟกัสที่ลูกค้าว่าจะเปลี่ยนธุรกิจต่อไปในอนาคต ควรจะเป็นแบบไหนเราจะเข้าไปช่วยวางแผนช่วยพาเขาไป

Q : แต่บริษัทเจ้าของเทคโนโลยีก็ลุยตลาดเอง

สิ่งที่เขาไม่มีคือ business domain domain expert กระบวนการจัดเก็บภาษีบ้านเราเป็นอย่างไร เขาตอบไม่ได้ แต่เรามีคนที่อยู่พวกนี้มานานเรารู้ลึกรู้หมด ซึ่งมั่นใจว่าเขาตามไม่ทัน และเราไม่กลัวคนมีตังค์เยอะ ทุนหนา แม้ว่าเราจะมีตังค์ไม่เยอะแต่ใช้อย่างถูกต้อง มีโฟกัสชัดเจน คือ ลูกค้าภาครัฐเป็นหลัก สถาบันการเงิน เทคโนโลยีคือที่จะซัพพอร์ตการก้าวเป็น 4.0 การผลักดันการสร้างธุรกิจใหม่ ๆ อย่างบล็อกเชนที่จะมาเป็นเกตเวย์ต่าง ๆ E-KYC ทำเอนจิ้นให้คนมาเชื่อมต่อ เกาะตามลูกค้า เกาะตามทิศทางที่ประเทศไทยจะไป

Q : จะขยายไปต่างประเทศ

ไม่ได้โฟกัสเท่าไร ก็มีคนชวนไปลงทุนบ้าง แต่บิสซิเนสโมเดลไม่ลงตัวก็ไม่เอา คือจะบอกว่า ตลาด CLMV ใหญ่มาก แต่ต้องดูเป็นบางเรื่อง ไม่ใช่แค่ดูว่าบิสซิเนสน่าสนใจอย่างเดียว แต่ต้องดูเงื่อนไขกลไกการกำกับดูแล พวกนี้ต้องส่งคนเข้าไปศึกษาจริง ๆ ถ้ากฎหมายไม่ชัดเจน ก็อาจจะไม่เวิร์ก ตลาดไทยยังเติบโต และจริง ๆ ตามเทรนด์โลกตลาดไทยก็จะขยายเป็นตลาดภูมิภาคเองโดยธรรมชาติ ฉะนั้นอุตสาหกรรม 4.0 จึงมีความจำเป็นในบ้านเรา

Q : ธุรกิจไอทีถึงจุดต่ำสุดหรือยัง

ถ้าในแง่ตัวเลข คิดว่ายัง มันจะตกไปเรื่อย ๆ แต่ตอนนี้เทคโนโลยีกำลังเริ่มเข้ามาเปลี่ยนโลก และเริ่มมาหลายปีแล้ว อย่างในอีก 3 ปีจะได้เห็นรถยนต์ไร้คนขับบนถนนแน่นอน จะมีคนได้รับผลกระทบเยอะมาก แต่มันต้องเกิด ไอทีจึงมีบทบาทต่อโลกมาก