เมื่อโลกก้าวสู่สังคมสูงวัย โอกาสทอง “Healtech”

การก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยของหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย กลายเป็นโอกาสสำคัญของอุตสาหกรรมสุขภาพ เมื่อเร็ว ๆ นี้ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เปิดเวที THAILAND TECH SHOW 2019 ชี้ทิศทางนวัตกรรมสุขภาพในอนาคต

“ดร.ณัฐพันธุ์ ศุภกา” ผู้อำนวยการฝ่ายสนับสนุนงานนวัตกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ระบุว่า ปี 2564 ประเทศไทยจะมีผู้สูงวัย 20% ของประชากร กลายเป็นสังคมผู้สูงวัยอย่างสมบูรณ์ และเป็นแนวโน้มทั่วโลก ที่คนอายุยืนขึ้น แต่อัตราการเกิดลดน้อยลง

ขณะที่โรคที่คร่าชีวิตคนไทยส่วนใหญ่ไม่ใช่โรคติดต่อ ได้แก่ 1.stroke 2.HIV 3.โรคหัวใจ 4.โรคมะเร็งตับ และ 5.เบาหวาน ซึ่งเกิดจากพฤติกรรมการกิน และไม่ชอบออกกำลังกาย

“ปัจจัยที่ส่งผลต่อสุขภาพ 40% มาจากการศึกษา เศรษฐกิจ และสังคม 30% มาจากพฤติกรรมทางสุขภาพ”

อุตสาหกรรม 8.7 ล้านล้าน

ด้าน “ดร.ศิรศักดิ์ เทพาคำ” รองผู้อำนวยการด้านวิชาการและนวัตกรรม ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า แนวโน้มผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้มูลค่าตลาดเฮลท์แคร์โลกเพิ่มขึ้นด้วย โดยในปี 2558 อัตราการลงทุนด้านเฮลท์แคร์คิดเป็น 10.4% ของ GDP แต่ปี 2563 คาดว่าจะมีมูลค่า 8.7 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 10.5% ของ GDP

นี่คือโอกาสทางการลงทุนด้านเฮลท์เทค ขณะที่ระบบสาธารณสุขไทยมีการเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ ปัจจุบันคิดเป็น 4.4% ของ GDP เทียบเท่าสิงคโปร์

ส่วนมูลค่าตลาดเฮลท์แคร์ไทยอยู่ที่ราว 4.7 หมื่นล้านบาท โดยในปี 2564 กลุ่มที่น่าจะเติบโตเร็วคือ 1.เฮลท์แคร์เซอร์วิส 2.medical devices 3.cosmetic และ 4.pharmaceuticals

“ยิ่งมีผู้สูงอายุมากขึ้น ยิ่งต้องทำให้โรงพยาบาลไปหาคนไข้ ไม่ให้คนไข้ไปหาโรงพยาบาล และตอนนี้อาเซียนกำลังกลายเป็นฮับด้านดิจิทัลเฮลท์”

แม้ประเทศไทยมีอีโคซิสเต็มให้เอื้อต่อการสร้างนวัตกรรมค่อนข้างดี แต่ยังจำเป็นต้องดึงนวัตกรรมจากต่างประเทศ และหาทางนำนวัตกรรมที่มีอยู่ออกสู่ตลาดโลก เพราะเฮลท์แคร์มองแค่ในประเทศไม่ได้ ต้องมองระดับโลก

สำหรับนวัตกรรมในอนาคตที่น่าสนใจ ได้แก่ การถอดรหัสพันธุกรรมมนุษย์ การใช้ 3D printing, การรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด, เอไอ, VR/AR, สาธารณสุขทางไกล, ตัวชี้วัดทางชีวภาพและเครื่องติดตาม เป็นต้น

“Connecting Life”

อีกเทรนด์สำคัญ คือการขยายของเมือง ซึ่งปัจจุบันสัดส่วนคนอาศัยอยู่ชนบทน้อยกว่าในเมืองแล้ว โดยประชากรในไทย 50.69% อาศัยอยู่ในเมือง ขณะที่ชีวิตประจำวันมีการเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตตลอดเวลา คาดว่ามูลค่าของคอนเน็กติ้งลิฟวิ่งจะสูงถึง 730 พันล้านเหรียญสหรัฐภายในปีหน้า

แบรนด์ใหญ่ระดับโลกอย่างแอปเปิล อเมซอน ไมโครซอฟท์ ได้จดสิทธิบัตรระบบการติดตามสุขภาพต่าง ๆ ของผู้ใช้ จะก่อให้เกิดสตาร์ตอัพเกิดใหม่มากมาย

โดยโอกาสมาจากเรื่องอุปกรณ์การแพทย์ การผลิตยา จะเป็นโอกาสเติบโตใหม่ ๆ ของเทคโนโลยีการแพทย์ ดิจิทัล เมดิคอลดีไวซ์เป็นส่วนที่เติบโตในด้านการลงทุนสูงที่สุด

และยังมีการรณรงค์ climate change เกิดศาสตร์การเยียวยาโลก เพราะทุกอย่างที่เกิดกับโลกจะย้อนกลับมาที่ตัวคน เรื่องสิ่งแวดล้อมจึงเป็นเทรนด์ต่อไปขององค์กรต่างๆ

“เฮลท์เทคในปัจจุบันเกิดในทุกแวดวง ไม่เฉพาะโรงพยาบาล เช่น สมาร์ทโฟนและนาฬิกา อีกทั้งมีการนำข้อมูลทางการแพทย์ไปใช้ในอุตสาหกรรมประกัน เป็นโอกาสสร้างรูปแบบใหม่ ๆ ของสตาร์ตอัพ”