ยกเครื่อง ‘เน็ตประชารัฐ’ ปั้นบิ๊กดาต้า งานร้อน ดีอีเอส ปี’63

หลังช่วงกลางเดือน ม.ค.ที่ผ่านมาได้เดินสายโรดโซว์ที่ซิลิคอนวัลเล่ย์ หวังดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊ก กูเกิล ไมโครซอฟท์ ซิสโก้ ซีเกท

“พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ก็ได้จังหวะประกาศภารกิจหลักที่จะเร่งทำให้เห็นผลภายในปีนี้

เร่งแก้ กม.ปลดล็อกสตาร์ตอัพ

ไม่ว่าจะเป็นแนวคิดจะให้สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) ไปตั้งสำนักงานที่ซิลิคอนวัลเลย์เพื่อเชื่อมโยงโอกาสให้กับสตาร์ตอัพไทยก้าวสู่ตลาดต่างประเทศได้ดีขึ้น และจะเร่งหาทางปรับกฎหมายที่เป็นอุปสรรคทำให้สตาร์ตอัพไทยต้องไปจดทะเบียนตั้งบริษัทที่ต่างประเทศแทน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องภาษี สิทธิประโยชน์ต่าง ๆ

“เท่าที่หารือกับหลายบริษัทในสหรัฐต้องการให้ช่วยสนับสนุนเรื่องพลังงานสะอาด และเรื่องบุคลากรที่พร้อมจะรองรับการทำงาน รวมถึงอินฟราสตรักเจอร์ต่าง ๆ ที่จะมีความพร้อม ส่วนเรื่องภาษีหรือสิทธิประโยชน์จากบีโอไอไม่ได้มีประเด็นที่เรียกร้องเพิ่มขึ้น นอกเหนือจากการสนับสนุนในเรื่องสวัสดิการ อาทิ โรงเรียนอินเตอร์สำหรับลูก ๆ ซึ่งจริง ๆ ไทยมีพร้อม แต่หลายบริษัทไม่ได้รู้จักและเข้าใจประเทศไทยมากพอ ทำให้ไทยเสียโอกาสในการดึงเม็ดเงินลงทุน จากการขาดการประชาสัมพันธ์ในเชิงรุก แตกต่างจากประเทศเวียดนามที่ส่งผู้บริหารระดับสูง ระดับรัฐมนตรีไปหารือในเชิงรุกที่สหรัฐเดือนละครั้ง จึงไม่ต้องแปลกใจที่เม็ดเงินลงทุนไหลไปเวียดนามเยอะ”

ประกาศ 5 ภารกิจ

ขณะที่ภารกิจสำคัญที่กระทรวงจะต้องเร่งผลักดันให้สำเร็จในปีนี้มีทั้งหมด 5 เรื่อง ได้แก่ 1.“บิ๊กดาต้า” ข้อมูลการแพทย์สาธารณสุข ที่จะต้องทำให้เกิดเป็นรูปธรรมให้ได้ เพราะเป็นเรื่องที่ประชาชนได้ประโยชน์โดยตรงและพูดมา 5 ปีแล้วยังไม่เคยเกิดขึ้นเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะการเชื่อมโยงระบบฐานข้อมูลการรักษาพยาบาลของผู้ป่วย ไม่ว่าจะอยู่ใน รพ.รัฐหรือเอกชน เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถใช้งานที่ไหนเมื่อใดก็ได้

“ที่ผ่านมาไม่เคยมีการทำตรงนี้เพราะไม่มีเจ้าภาพ และแต่ละหน่วยงานหวงข้อมูลไม่แชร์กัน แต่ปัจจุบันตระหนักแล้วว่า ข้อมูลการรักษาพยาบาลของผู้ป่วยเป็นสิทธิ์ของผู้ป่วยที่จะเรียกดูที่ไหนเมื่อใดก็ได้ ซึ่งการเก็บไว้ในคลาวด์ก็ปลอดภัย ฉะนั้นปีนี้จะต้องเกิดขึ้นให้ได้”

โดยในวันที่ 4 ก.พ.นี้ จะมีการประชุมเครือข่ายโรงพยาบาลขนาดใหญ่ทั้งรัฐและเอกชน รวมถึงตัวแทนจากกระทรวงสาธารณสุขเพื่อเตรียมการสำหรับการเชื่อมโยงระบบ ซึ่งจะทำให้ประชาชนได้ประโยชน์จากการรักษาพยาบาลที่แม่นยำขึ้นจากข้อมูลที่ครบถ้วน

ปณท หนุนอีคอมเมิร์ซ

เรื่องที่สอง คือ ต้องทำให้ไปรษณีย์ไทยเป็นหน้าด่านในการสนับสนุนอีคอมเมิร์ซ ที่ไม่ใช่แค่รับส่งของเท่านั้น ต้องอาศัยข้อได้เปรียบเรื่องทำเลที่ตั้งให้ใช้เป็นที่วางขายสินค้าได้ด้วย และให้ทำระบบสำหรับรับฝากพัสดุถึงบ้านผู้ส่งให้เกิดขึ้นจริงให้ได้ เพราะมีเครือข่ายไปรษณีย์อยู่แล้ว

“ไม่ใช่คอยให้คนมาส่งของอย่างเดียว ภายใน 3 เดือน ต้องมีที่ทำการนำร่อง ซึ่งนอกจากจะเป็นรายได้สู้กับเอกชนได้แล้ว ยังต้องเป็นตัวอย่างให้เห็นถึงประโยชน์ของดิจิทัล ปีนี้ควรจะต้องได้เห็น”

ยกเครื่องเน็ตประชารัฐ

เรื่องที่สาม ต้องเคลียร์ปัญหาเน็ตประชารัฐให้ได้ ต้องมีสัญญาณที่แรงและเสถียรกว่านี้อย่างมีนัยสำคัญ โดยจะให้เวลา 3 เดือน เพื่อให้ บมจ.ทีโอที ที่เป็นผู้รับผิดชอบดูแลโครงข่ายปรับปรุงให้เรียบร้อย หากไม่สามารถทำได้จะเปิดรับเอกชนรายอื่นมาดำเนินการแทน

“เน็ตประชารัฐจะต้องเป็นพื้นฐานทุกอย่าง ทั้งด้านการศึกษา อีคอมเมิร์ซ สาธารณสุข แต่ถ้าแค่ความเร็ว 30/10 Mbps ก็ไม่สามารถทำได้ ฉะนั้นเรื่องเพิ่มจุดติดตั้งให้หยุดก่อน ถ้ายังทำของเดิมให้ดีไม่ได้ ภายใน 3 เดือน ถ้ายังทำไม่ได้จะเปิดประมูลให้เอกชนมาเสนอโครงการปรับปรุง เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์จากเน็ตประชารัฐอย่างแท้จริง งบประมาณบำรุงรักษาที่มีอยู่ 1,700 ล้านบาท เชื่อว่าจะมีคนทำให้ดีได้อย่างประหยัดกว่าด้วย”

ขณะเดียวกันได้ตั้งคณะกรรมการสอบเรื่องข้อเท็จจริงของการติดตั้งเน็ตประชารัฐอีก 10,000 จุดที่จะเป็นการเพิ่มสปีดจุดเดิมอีก เพื่อให้ชัดเจนว่าปัญหาเกิดจากอะไร

เร่งคลอดมาตรฐานดิจิทัล

เรื่องที่ 4 คือการเร่งผลักดันมาตรฐานด้านดิจิทัลของประเทศ โดยให้สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) เร่งออกประกาศมาตรฐานต่าง ๆ ให้ได้ภายใน 6 เดือน อาทิ บล็อกเชน ดิจิทัลไอดี คลาวด์ มาตรฐานเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อต่อยอดกับ เรื่องการทำธุรกรรมทางการเงิน รองรับอีกัฟเวิร์นเมนต์ การยืนยันเอกสารทางอิเล็กทรอนิกส์

“ที่ผ่านมาเป็นการนำมาตรฐานของต่างประเทศมาเทียบเคียง แต่ยังไม่มีประกาศทางการจาก สพธอ. ภายใน 6 เดือน ควรจะต้องเห็น เพราะไม่อย่างนั้นจะต่อยอดด้านดิจิทัลไม่ได้เลย”

ส่วนเรื่องที่ 5 คือการสร้าง “สมาร์ทซิตี้” ที่เป็นเมืองใหม่จริง ๆ ในพื้นที่ EEC

“ถึงเวลาที่ประเทศไทยจะต้องเป็นสมาร์ทซิตี้จริง ๆ ที่ไม่ใช่แค่การอัพเกรด แต่ต้องเป็นพื้นที่ใหม่ที่จะถูกดีไซน์มาเพื่อเป็นสมาร์ทซิตี้โดยเฉพาะ”