“เอไอเอส-ทรู” แข่งชิงผู้นำ 5G สู้ราคาปะทุเดือด “กสทช.” ลุ้นรับ 7 หมื่นล.

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช.

“กสทช.” มั่นใจโกยเงินประมูล 5G ทะลุ 7.4 หมื่นล้านบาท “เอไอเอส-ทรู” เปิดศึกชิงผู้นำ 5G โหมราคาชิง 2 คลื่น ทั้ง 2600 MHz และ 700 MHz ก่อนเร่งติดตั้งโครงข่ายกดปุ่มเปิดบริการ ฟากยักษ์ผู้ผลิตอุปกรณ์ “อีริคสัน” ชี้จุดเด่นคลื่น 700 MHz อัพสปีดดาต้า และเพิ่มความครอบคลุมเครือข่าย จับตาโมเดลธุรกิจ “แคท” หากได้คลื่น 2600 MHz

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า การประมูลคลื่นความถี่สำหรับให้บริการ 5G วันที่ 16 ก.พ. 2563 คาดว่าจะได้เงินเข้ารัฐไม่ต่ำกว่า 74,000 ล้านบาท โดยคลื่นย่านที่จะมีการประมูลดุเดือดที่สุด คือ 2600 MHz และ 700 MHz เนื่องจากมีผู้เข้าประมูล 3 ราย ได้แก่ “เอไอเอส” โดยบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด, “ทรู” โดยบริษัท ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมูนิเคชั่น จำกัด และแคท หรือ บมจ.กสท โทรคมนาคม เนื่องจากทั้ง 2 ย่านคลื่นเป็นพื้นฐานสำคัญในการให้บริการ 5G ที่สามารถใช้งานได้ทันที

สำหรับคลื่นในย่าน 26 GHz ซึ่งมีผู้เข้าประมูล ได้แก่ “ดีแทค” โดยบริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด และ บมจ.ทีโอที เลขาธิการ กสทช.คาดว่าน่าจะประมูลออกได้มากกว่า 5 ใบอนุญาต ส่วนคลื่น 1800 MHz ไม่มีเอกชนรายใดเข้าประมูล จึงจะนำเข้าที่ประชุมบอร์ดเพื่อเข้าสู่กระบวนการพิจารณาทบทวนมูลค่าคลื่นต่อไป

นายฐากรเชื่อว่าการประมูลครั้งนี้จะเป็นศึกชิงความเป็นผู้นำระหว่าง “เอไอเอสและทรู” เพื่อเปิดให้บริการ 5G ในเชิงพาณิชย์เป็นรายแรกของประเทศไทย โดยจากที่ได้รับการประสานงานมา ทั้งคู่พร้อมจ่ายเงินประมูลงวดแรกเร็วที่สุด เพื่อให้ได้รับใบอนุญาตและเริ่มติดตั้งอุปกรณ์โครงข่ายได้ในทันที จึงมั่นใจว่าบริการ 5G จะเปิดให้บริการได้ก่อนเดือน ก.ค.นี้แน่นอน แต่อาจเป็นเฉพาะในบางพื้นที่ก่อน

หากพิจารณาคลื่นความถี่ที่แต่ละค่ายมีอยู่ในปัจจุบัน จะพบว่า “เอไอเอส” มีคลื่น 700 MHz และ 900 MHz อย่างละ 10 MHz มีคลื่น 1800 MHz จำนวน 20 MHz และคลื่น 2100 MHz จำนวน 15 MHz และมีสัญญาเป็นพันธมิตรกับทีโอทีในการใช้คลื่นย่าน 2100 MHz อีก 15 MHz ด้วย

ฟาก “ทรู” มีคลื่นย่าน 700 MHz และ 900 MHz อย่างละ 10 MHz เช่นกันกับเอไอเอส และมีคลื่น 1800 MHz จำนวน 15 MHz คลื่น 2100 MHz จำนวน 15 MHz รวมถึงมีสัญญาเป็นพันธมิตรใช้คลื่น 850 MHz กับ
กสท โทรคมนาคม อีก 15 MHz ส่วน “ดีแทค” มีคลื่น 700 MHz จำนวน 10 MHz และคลื่น 900 MHz จำนวน 5 MHz เช่นกันกับคลื่น 1800 MHz จำนวน 5 MHz และคลื่น 2100 MHz จำนวน 15 MHz รวมถึงมีสัญญาเป็นพันธมิตรในการใช้คลื่น 2300 MHz อีก 60 MHz กับทีโอที

ขณะที่ทีโอที มีคลื่น 2100 MHz จำนวน 15 MHz และ 2300 MHz จำนวน 60 MHz และแคท มีคลื่น 850 MHz จำนวน 15 MHz โดยทั้งคู่มีสิทธิ์ในการใช้คลื่นได้ถึงปี 2568

หากเทียบกันที่ฐานลูกค้าของค่ายมือถือ ปัจจุบัน “เอไอเอส” มีลูกค้า 42 ล้านราย อัตราหนี้สินต่อ EBITDA อยู่ที่ 1 เท่า “ทรูมูฟ เอช” มีลูกค้า 30 ล้านราย อัตราหนี้สินต่อ EBITDA อยู่ที่ 4.7 เท่า และ “ดีแทค” มีลูกค้า 20.6 ล้านราย อัตราหนี้สินต่อ EBITDA อยู่ที่ 1.6 เท่า

ด้านนายวุฒิชัย วุฒิอุดมเลิศ หัวหน้างานฝ่ายเน็ตเวิร์กโซลูชั่นส์ บริษัท อีริคสัน (ประเทศไทย) จำกัด
กล่าวว่า ประโยชน์หลักที่โอเปอเรเตอร์จะได้จาก 5G คือ ต้นทุนที่ลดลง และประสิทธิภาพการให้บริการที่สูงขึ้น  รวมถึงโอกาสในการสร้างรายได้เพิ่มมากกว่า 20% โดยอีริคสันคาดว่ามูลค่าทางธุรกิจที่จะเกิดขึ้นจาก 5G ในประเทศไทย จะสูง 7.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ ภายในอีก 10 ปีข้างหน้า โดยเกือบครึ่งหนึ่ง (45%) หรือ 3.3 พันล้านเหรียญ เป็นรายได้ของโอเปอเรเตอร์

สำหรับการประมูลคลื่นในครั้งนี้ ตนมองว่าด้วยกฎของการประมูลจะทำให้การประมูลคลื่นย่าน 2600 MHz แข่งขันกันรุนแรง หากโอเปอเรเตอร์รายใดประมูลคลื่นย่านนี้ไปได้ต่ำกว่า 80 MHz จะกลายเป็นว่าสามารถให้บริการ 5G ได้ในความเร็วที่ต่ำกว่าคลื่นดีแทค 2300 MHz ที่ให้บริการ 4G อยู่

“ประเทศไทยน่าจะเป็นรายเดียวที่เอาคลื่นย่าน 2600 MHz มาซอยย่อย ปกติประเทศอื่น ๆ เขาจะให้เป็นก้อน เพราะอุปกรณ์ที่มีอย่างต่ำต้องใช้คลื่น 80 MHz”

ผู้บริหาร “อีริคสัน” ยังมองว่าการที่ “แคท” เข้าประมูลคลื่น 2600 MHz ด้วยเป็นเรื่องที่น่าสนใจ เพราะ
ไม่ได้มีโครงข่าย 4G บนคลื่น 1800 MHz ที่ต้องใช้งานคู่กัน จึงต้องจับตาต่อว่าจะมีแผนให้บริการ 5G ในรูปแบบใด

สำหรับคลื่นย่าน 700 MHz ที่ได้รับความสนใจ มีผู้เข้าประมูล 3 ราย ก็เพราะสามารถขยายความครอบคลุมของโครงข่ายได้ดีขึ้น ยิ่งถ้ามีคลื่นย่านนี้ในมืออยู่ก่อนแล้ว จะยิ่งเพิ่มสปีดโมบายดาต้าให้มากขึ้น

ขณะที่คลื่นย่าน 26 GHz ที่ กสทช.นำออกประมูลด้วย ยังไม่มีประเทศใดในโลกนำมาใช้ให้บริการ 5G จะมีเฉพาะช่วงแถบคลื่นที่ค่อนไปทาง 27 GHz ราว 500 MHz ที่พอนำไปใช้กับอุปกรณ์ที่รองรับ 5G ในย่านคลื่น 28 GHz

“คลื่นเดิมที่มีก็สามารถอัพเกรด 5G ได้ แต่ยิ่งช่วงคลื่นน้อยจะใช้ประสิทธิภาพของ 5G ได้ต่ำ ซึ่งในยุโรปใช้ 1800 MHz 2100 MHz แม้แต่ใน 2300 MHz ในออสเตรียก็ใช้ ศักยภาพควรต้อง 80-100 MHz”