กิมมิกการตลาด 5G

คอลัมน์ สามัญสำนึก

โดย ดิษนีย์ นาคเจริญ

การตีปี๊บผลักดันการแจ้งเกิด 5G ของรัฐบาล (โดย กสทช.) ดูจะประสบความสำเร็จอย่างมากในเบื้องต้น ในแง่ที่ว่าทำให้มีการประมูลคลื่นได้จริง และเกิดการแข่งขันจนเม็ดเงินทะลุแสนล้าน เกินกว่าเป้าที่วางไว้เกือบเท่าตัว

ในขณะที่ผู้บริโภคเองก็ดูจะกระตือรือร้นกับการมาถึงของ 5G มาก ๆ ว่ากันว่าอาจส่งผลต่อการตัดสินใจย้ายค่ายมือถือกันได้เลย ทุกค่ายจึงต้องเข้าชิงคลื่นโดยพร้อมเพรียงกัน แม้แต่ “ดีแทค” เพราะถ้าตกขบวนจะเปิดจุดอ่อนให้คู่แข่งชิงลูกค้าไปได้โดยง่าย ทำให้เกิดความเสียเปรียบทางการแข่งขันแน่นอน

จะขนาดนั้นจริงหรือไม่ อีกไม่นานคงเริ่มเห็นบ้างจากการแข่งขันของค่ายมือถือ แต่จะอัดกันหนักแค่ไหน และส่งผลให้ฐานลูกค้ามือถือของแต่ละรายเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง น่าจับตา

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าการทำตลาดคงใส่กันไม่ยั้ง แม้ในความเป็นจริงโอกาสที่บริการ 5G จะมีให้ใช้ได้ทั่วถึงทั่วประเทศแบบเดียวกับการปูพรมเครือข่าย 3G หรือ 4G ยากที่จะเป็นไปได้

ADVERTISMENT

ส่วนหนึ่งก็เพราะทุกเจ้าเพิ่งลง 4G กันไปไม่นาน ไม่มีใครอยากลงทุนอีกเร็วเกินไปนัก ขอเก็บเกี่ยวอีกสักหน่อยคงจะดีกว่า

และด้วยข้อจำกัดในการขยายเครือข่าย 5G ที่จะเริ่มจากคลื่น 2600 MHz ก่อน ถ้าจะลงให้ทั่วต้องลงทุนหนักมาก เพราะเป็นคลื่นความถี่สูง ประกอบกับโทรศัพท์มือถือที่รองรับ 5G ก็ยังมีน้อยรุ่น และแพงมาก

ADVERTISMENT

ที่เปิดตัวในบ้านเราแล้ว ก็เพิ่งมี “ซัมซุง” กาแล็คซี่ เอส 20 และในต้น มี.ค.จะมีอีกอย่างน้อย 3 รุ่นของยี่ห้ออื่น ๆ เช่น ออปโป้ เป็นต้น ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นตัวท็อปราคาทะลุ 3 หมื่นทั้งสิ้น

สงคราม “ราคา” ที่เคยมีอยู่แล้วใน 4G ก็คงจะมีอยู่ต่อไป และอาจหนักขึ้นอีก

ทุกค่ายมือถือพูดคล้าย ๆ กันหมดว่า กว่าที่ผู้บริโภคส่วนใหญ่จะได้ใช้ 5G จริงจังคงไม่ใช่ในเร็ววันนี้แน่นอน แต่ถึงอย่างนั้นก็เถอะ ไม่มีใครรอช้าในการช่วงชิงความเป็นผู้นำในการเปิดให้บริการ

โดยเฉพาะ “เอไอเอสและทรูมูฟ เอช” ขนาดแค่เปิดทดลองทดสอบบริการก็ยังต้องเคลมกันว่า “ทำก่อน-เปิดก่อนใคร” ซึ่งก็พอเข้าใจได้

ด้วยว่า “ทรูมูฟ เอช” พลิกเกมไต่อันดับจากเบอร์ 3 ขึ้นมาเป็นเบอร์ 2 ได้ก็เพราะหลังชิงเปิด 3G ได้ก่อนก็ถล่มแคมเปญปั๊มยอดไม่ยั้ง

ถ้ายังจำกันได้ในช่วงนั้น “เอไอเอส” แค่ประคองตัวรักษาคุณภาพเครือข่ายให้ลูกค้าที่มีอยู่เยอะที่สุด แต่คลื่นน้อยสุดไว้ได้ก็เหนื่อยแล้ว จึงทำอะไรไม่ได้มากนัก ทำให้ในจังหวะนั้นสูญเสียจุดแข็งในการเป็นผู้นำเทคโนโลยีไป แต่ยังดีที่มุ่งเน้นเรื่องคุณภาพบริการ และความใส่ใจดูแลลูกค้าผ่าน “พริวิเลจแคมเปญ” ต่าง ๆ มาโดยตลอด จึงมัดใจลูกค้าเดิมไม่ให้ไหลออกไว้ได้ และยังครองความเป็นผู้นำตลาดที่มีฐานลูกค้ามากที่สุดไว้ได้

แม้จะอยากให้ยืดการประมูลออกไปอีกหน่อย แต่ความลำบากในการมีคลื่นน้อยกว่า ทำให้ “เอไอเอส” ไม่พลาดร่วมเข้าชิงคลื่น 5G ในรอบนี้ และจากสถานะการเงินที่แข็งแกร่งจึงเตรียมตัวมาเคาะราคาชิงคลื่นครบทั้ง 3 ย่านความถี่ ใช้เงินไปเบ็ดเสร็จ 40,000 กว่าล้านบาท แลกกับการอัพสปีดขึ้นเป็นผู้ให้บริการที่มีคลื่นอยู่ในครอบครองมากที่สุด

ส่วนกลุ่มทรู การประมูลคลื่นรอบนี้ได้มา 2 ย่านความถี่ คือ 2600 MHz และ 2.6 GHz ไม่ได้เป็นผู้ที่มีความถี่มากสุดจึงได้แต่บอกว่า “มีครบ 7 ย่าน” และระบุว่า มี “ไชน่า โมบาย” ซึ่งเปิด 5G เป็นรายแรกของโลกเป็นพันธมิตรเชิงกลยุทธ์จากการเข้ามาถือหุ้นด้วย จึงน่าจะส่งต่อความสามารถนั้นมายังบริการของตนเองด้วยไม่มากก็น้อย

เชื่อว่าคงเกทับบลัฟแหลกกันไปจนกว่าใครจะกดปุ่มเปิดให้ “ลูกค้า” ได้ใช้จริง ไม่ใช่แค่ “เทสต์” เป็นกิมมิกการตลาด แต่ประโคมกันมากไปแล้วยังใช้ไม่ได้สักทีก็อาจเป็นการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำเปล่า ๆ