“เจมาร์ท” ปรับแผนปิดสาขารุกออนไลน์

โควิดไม่สะเทือน เจมาร์ทประกาศตั้งเป้ากำไรสูงสุดอีกครั้ง ดัน JMT เป็นหัวหอกรับจังหวะ NPL พุ่ง พร้อมตั้งเป้า 3 ปีผุดบัตรเครดิตหลังปิดดีล ร่วมทุน KB Kookmin Card ฟากธุรกิจโมบายรุกออนไลน์เต็มสูบ เล็งปิดสาขารับพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยน

นายอดิศักดิ์ สุขุมวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจมาร์ท จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ปีนี้จะยังเป็นปีที่ดีของเจมาร์ท หลังจากปี 2562 มีกำไรสุทธิ 533.8 ล้านบาท สูงสุดในรอบ 30 ปี โดยปีนี้ยังคงเป้าการเติบโตของรายได้ไว้ที่ 10% และมีกำไรเติบโต 25% จากการบริหารต้นทุนและบริหารค่าใช้จ่าย

โดยมีบริษัทในเครืออย่าง บมจ.เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส (JMT) ซึ่งทำธุรกิจบริหารหนี้ เป็นหัวหอกสำคัญในการสร้างรายได้ คาดว่าปีนี้จะมีกำไรเพิ่ม 30% และมีแผนเตรียมเข้าซื้อหนี้ NPL (หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้) เข้าพอร์ตเพื่อบริหารอีก 4,500-5,000 ล้านบาท ตามการเติบโตของ NPL ที่เริ่มเห็นสัญญาณตั้งแต่ไตรมาส 3/2562

ขณะที่ดีลการร่วมทุนระหว่าง บริษัท เจ ฟินเทค จำกัด (J Fintech) ที่ให้บริการธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคล ภายใต้แบรนด์ “J Money” กับ KB Kookmin Card Co., Ltd. บริษัทผู้ให้บริการบัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคลรายใหญ่ของเกาหลีใต้ ด้วยการเพิ่มทุน 650 ล้านบาท จะยิ่งทำให้ทั้งเครือแข็งแรงขึ้น

“ดีลนี้ช่วยต่อจิ๊กซอว์ให้ภาพชัดเจนขึ้น โดยเฉพาะ funding ที่มีต้นทุนการเงินต่ำ เทคโนโลยี KB ที่ล้ำหน้า เชื่อว่าต้นทุนที่ต่ำลง ขณะที่ JMT เจมาร์ท ซิงเกิล ที่มีพื้นที่ทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด ทำให้เป็นจุดแข็งที่จะนำมาต่อยอดธุรกิจนี้ให้กับทั้งเจมาร์ท และ KB ให้ธุรกิจในไทยเติบโต พร้อมทั้งในแง่ของเงินทุน ทั้งเทคโนโลยีที่เมื่อผ่านพ้นวิกฤตโควิดก็จะฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว ซึ่ง KB และ J Fintech ประกาศจะเป็น 1 ใน 5 ของ nonbank ที่ให้บริการทางการเงินในไทย และมีเทคโนโลยีนำหน้า”

สำหรับแผนธุรกิจ คือ ในช่วง 1-2 ปีแรกจะยังคงเน้นที่ธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อจำนำรถ และเริ่มให้บริการบัตรเครดิตในปีที่ 3 ก่อนจะเริ่มทำกำไรได้ในปีที่ 5 และมีพอร์ตสินเชื่อเติบโตหลักหมื่นล้านบาท

“ไวรัสโควิดได้ทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยน คุ้นเคยกับช่องทางออนไลน์เร็วขึ้น อย่างธุรกิจโมบายยอดขายใน shop ได้รับผลกระทบจากการปิดห้าง แต่ก็ได้จากช่องทางออนไลน์เข้ามาช่วย แม้จะไม่ cover แต่ด้วยการบริหารต้นทุนก็เชื่อว่าจะทำให้ในส่วนธุรกิจโมบายไม่ขาดทุน ส่วนแผนการเปิดสาขาให้มากขึ้น สำหรับในห้างคงไม่เพิ่มแน่นอน และอาจจะปิดบางจุดที่คิดว่ารูปแบบการใช้บริการของผู้บริโภคเปลี่ยนไป แต่ทุกอย่างก็ต้องรอดู เพราะเราก็ยังไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น คนอาจจะลืมเร็ว แล้วกลับมาเดินห้างเหมือนเดิมก็ได้”