ร่วมจับมือฝ่าวิกฤต เฟซบุ๊กกรุ๊ป พื้นที่แชร์ทุกข์สุข

ในวันที่ถูกล็อกดาวน์ “Facebook Group” กลายเป็นอีกช่องทางในการเชื่อมโยงผู้คน

“ขจีภรณ์ เตชะทวีกิจกุล” ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาพันธมิตร ประจำภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก Facebook กล่าวว่า Facebook Page ถูกสร้างขึ้นเพื่อให้กลุ่มธุรกิจหรือองค์กรต่าง ๆ สามารถแสดงตัวตนสู่สาธารณะได้ ขณะที่ Fa-cebook Group ถูกสร้างขึ้นเพื่อให้เป็นพื้นที่สำหรับผู้คนที่มีความชื่นชอบในลักษณะเดียวกัน หรือเรื่องที่มีความสนใจร่วมกัน ได้เข้ามาพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างกันโดยเฉพาะในช่วงวิกฤตนี้

“โชติวัน วัฒนลาภ” แอดมินกลุ่ม Thailand Restaurant Rescue : ช่วยร้านอาหารไทยต้านภัย COVID-19 กล่าวว่า Facebook Group Thailand Restaurant Rescue ถูกสร้างขึ้นเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

“การสร้างการมีส่วนร่วมและสนับสนุนซึ่งกันและกันผ่านช่องทางออนไลน์ในช่วงเวลาที่ยากลำบาก ช่วยสร้างแรงบันดาลใจและทำให้มองเห็นความหวังจากชาวไทยด้วยกัน”

ที่ผ่านมา มีสมาชิกเข้ามาจำนวนมาก แบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลัก ได้แก่ ประเภทแรก เป็นกลุ่มร้านอาหารแบบออฟไลน์อยู่แล้ว แต่ยังมีความรู้ด้านการทำออนไลน์ที่ค่อนข้างน้อย ประเภทที่สอง เป็นกลุ่มธุรกิจด้านการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส ซึ่งได้ผันตัวเองมาทำธุรกิจขายอาหารบนช่องทางออนไลน์

“ภายในกลุ่ม จะสอนการใช้ tools ต่าง ๆ ที่จำเป็นสำหรับการขายอาหารออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นการยิง Ads การบูตโพสต์ และการใช้แอปพลิเคชั่นด้านการขนส่งต่าง ๆ เป็นต้น”

ด้าน “ปาณิศา จันทร์วิไล” ผู้ร่วมก่อตั้งชุมชน Courageous Kitchen กล่าวว่า สมาชิกในกลุ่มที่เป็นอาสาสมัครและจะต้องไปลงพื้นที่ในชุมชน เพื่อทำกิจกรรมด้านอาสา ไม่ว่าจะเป็นการสอนทำอาหาร การสอนภาษาอังกฤษ หรือการบริจาคสิ่งของ เป็นต้น

ขณะที่ Facebook ก็มีเครื่องมือ Facebook tool ช่วยในการทำงานของกรุ๊ปให้สะดวกขึ้น อาทิ การใช้ “workplace” ช่วยในการจัดตาราง และวางแผนการทำงาน ใช้ “fundraising” เป็นตัวช่วยในการระดมทุนขององค์กร และ “event” ที่ช่วยในการประชาสัมพันธ์กิจกรรมต่าง ๆ ในรูปแบบลักษณะที่เป็นออฟไลน์

ส่วน “ณัฐวุฒิ อมรวิวัฒน์” และ “ชลทิพย์ ยิ้มย่อง” ผู้ร่วมก่อตั้งชุมชน Read for the Blind และแอดมินกลุ่ม  “ช่วยอ่านหน่อยนะ : Help Us Read” เปิดเผยว่า ขณะนี้ Read for the Blind มีสมาชิกกลุ่มกว่า 180,000 คน และช่วยอ่านหน่อยนะ มี 18,000 คน

“สังเกตได้ว่าการเข้ามาของผู้คน จะเข้ามาเป็นระลอก เมื่อมีการแชร์เรื่องราวของกลุ่มที่ทำให้ผู้คนสนใจ
แอดมินหรือสมาชิก จึงช่วยกันทำให้เกิดปฏิสัมพันธ์ รวมไปถึงสร้างแรงจูงใจให้กลุ่มคนเหล่านี้ด้วย ถือเป็นการสร้างบรรยากาศที่ดีในกลุ่ม เป็นเรื่องสำคัญที่จะทำให้การทำกิจกรรมร่วมกันมีความราบรื่น”

“ฉัตรชัย อภิบาลพูนผล” ผู้ก่อตั้งและหนึ่งในผู้นำชุมชนออนไลน์ จากกลุ่ม Run2gether “วิ่งไปด้วยกัน” ซึ่งได้เข้าร่วมโครงการ Facebook Community Leadership Program ประจำปี 2561 ระบุว่า การที่ Facebook เข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาสังคม ผ่านการสร้างชุมชนออนไลน์ขึ้น และจัดโครงการ Community Accelerator ซึ่งช่วยฝึกอบรม ให้คำปรึกษาในการสร้างชุมชนให้เติบโต ถือเป็นการแก้ไขปัญหารูปแบบใหม่ที่เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน และจะเป็นเรื่องที่ดีมากยิ่งขึ้นถ้ากลุ่มผู้นำชุมชนต่าง ๆ ในประเทศไทย ได้มีโอกาสเข้าร่วมโครงการดังกล่าว เพราะจะทำให้ชุมชนอื่นมีความแข็งแรงมากยิ่งขึ้น และถือเป็นการขยายผลไปสู่กลุ่มต่าง ๆ ในปริมาณมากยิ่งขึ้นด้วย

“หลังจากเข้าร่วมโครงการได้ขยายพื้นที่จัดกิจกรรม “วิ่งไปด้วยกัน” จาก 4 จังหวัดเป็น 10 จังหวัด และขยายเครือข่ายไปยังต่างประเทศด้วย โดยใช้ความรู้ในการบริหารจัดการชุมชนออนไลน์ รวมไปถึงการใช้ Facebook tool จากการอบรม”