ปัญหาโควิดไม่จบเพียงแค่มี ‘วัคซีน’

คอลัมน์ Tech Times
มัชฌิมา จันทร์สว่างภูวนะ

สัปดาห์ที่ผ่านมา ทั้ง Pfizer และ Moderna สร้างความความฮือฮาด้วยการประกาศความสำเร็จในการผลิตวัคซีนต้านโควิด แต่เราก็ยังไม่สามารถชะล่าใจได้ว่าโลกจะปลอดโควิดเพียงชั่วข้ามคืน

นับตั้งแต่มีการระบาด “โควิด” คร่าชีวิตผู้คนไปแล้ว 1.3 ล้านคน มีผู้ติดเชื้อกว่า 55 ล้านคนทั่วโลก วัคซีนจึงกลายเป็นสิ่ง “จำเป็น” สำหรับมนุษย์ “ทุกคน” ซึ่งไม่มีบริษัทยารายใดจะรองรับได้ไหวเพียงลำพัง

การที่วัคซีนของ Pfizer และ Moderna สร้างความฮือฮาเป็นเพราะใช้เทคโนโลยี mRNA ที่ไม่เคยได้รับการอนุญาตให้ใช้ในมนุษย์มาก่อน แถมมีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อสูงถึง 95% ถือว่าสูงมากเมื่อเทียบกับวัคซีนทั่วไป

แต่ปัญหาคือการจัดเก็บ และการกระจายสินค้า เนื่องจากวัคซีนของ Pfizer ต้องจัดเก็บในอุณหภูมิที่ต่ำถึง -70 องศา ซึ่งทั่วทั้งอเมริกาหรือแม้แต่ทั่วโลกมีห้องเย็นขนาดใหญ่ไม่กี่แห่งที่รองรับวัคซีนปริมาณมากในอุณหภูมิต่ำขนาดนี้ได้ แม้ตอนหลังบริษัทจะบอกว่าวัคซีนอยู่ในอุณหภูมิ 2-8 องศาได้ใน 5 วันแรก แต่หลังจากนั้นต้องกลับไปอยู่ในความเย็นระดับ -70 อยู่ดี ทำให้ vaccine cold-chain infrastructure management หรือการจัดส่งตัวยาจากแหล่งผลิตไปยังผู้บริโภคโดยต้องรักษาความเย็นไว้ตลอดทาง เพื่อไม่ให้วัคซีนเสื่อมประสิทธิภาพ เป็นปัญหาใหญ่

ปกติเส้นทางการกระจายวัคซีนจะเริ่มจากโรงงานผลิตไปยังศูนย์กระจายสินค้า จากนั้นจะส่งต่อไปยังโกดังตามเมืองต่าง ๆ ก่อนกระจายไปยังคลินิก ร้านยา และโรงพยาบาล หากวัคซีนหรือยาตัวไหนต้องการความเย็นจะมีตู้แช่แข็งที่รองรับอุณหภูมิราว 0-20 องศาไว้รองรับ แต่วัคซีนของ Pfizer ต้องการความเย็นมากกว่านั้น ทำให้ต้องใช้วิธีส่งสินค้าตรงจากโรงงานสู่จุดให้บริการฉีดวัคซีนวันละหลายรอบ ซึ่งหมายถึงต้นทุนที่เพิ่มขึ้นมหาศาล อีกวิธีที่กำลังพยายามทำ คือการออกแบบภาชนะจัดเก็บวัคซีนชนิดพิเศษที่รักษาอุณหภูมิ -70 ถึง 10 องศา เป็นเวลา 15 วัน แต่ต้องคอยเติมน้ำแข็งแห้ง โดยติดตั้งระบบ GPS คอยเช็กอุณหภูมิและโลเกชั่นตลอดเวลา

ส่วนวัคซีนของ Moderna อยู่ในตู้เย็นธรรมดาได้สูงสุด 30 วัน หากเก็บนานกว่านั้นต้องอยู่ในอุณหภูมิ -20

นอกจากนี้ ความหวังยังอยู่ที่วัคซีนของบริษัท Novavax ที่ใช้เทคโนโลยีอื่นที่อาจไม่จำเป็นต้องใช้วิธีแช่แข็งในการจัดเก็บและขนย้าย แต่เรากำลังพูดถึงการกระจายสินค้าไปทั่วโลกไปยังผู้คนหลายพันล้าน การเร่งขยายศักยภาพของ cold-chain จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ หากดูจากศักยภาพของ cold-chain ทั่วโลกในปัจจุบันที่ขนส่งวัคซีนไข้หวัดใหญ่ได้เพียงปีละ 6.4 พันล้านโดส ขณะที่มีการคาดการณ์ว่าทั่วโลกต้องการวัคซีนโควิด 1.5 หมื่นล้านโดส

จากการรายงานของ The Conversation ระบุว่า ในปี 2019 วัคซีนที่มีการขนย้ายทั่วโลกมีการเสื่อมประสิทธิภาพระหว่างขนส่งถึง 25% มีมูลค่าความเสียหายกว่า 3.4 หมื่นล้านเหรียญ ไม่รวมความสูญเสียต่อชีวิตผู้คนจำนวนมาก

ที่ผ่านมารัฐบาลสหรัฐอัดฉีดเงินให้บริษัทยาเพื่อเร่งพัฒนาวัคซีนปริมาณมากออกมาให้เร็วที่สุด โดย Novavax ได้ไป 1.6 พันล้านเหรียญ เพื่อผลิตวัคซีน 100 ล้านโดส Moderna ได้ 2 พันล้าน เพื่อผลิต 100 ล้านโดส และ Pfizer ได้ไป 1.95 พันล้าน เพื่อผลิตอีก 100 ล้านโดส อาจดูเหมือนมากแต่วัคซีนโควิดส่วนใหญ่ที่กำลังพัฒนาจำเป็นต้องใช้ถึง 2 โดสต่อคน มีเพียง Johnson & Johnson ที่บอกว่ากำลังพัฒนาวัคซีนทั้งแบบ 2 โดส และโดสเดียว หมายความว่าเมื่อฉีดเข็มแรกแล้ว อีก 3 อาทิตย์ต้องฉีดซ้ำอีกเข็ม และเมื่อเปิดขวดแล้ว ตัวยาจะมีอายุเพียง 24 ชม. นำไปสู่อุปสรรคถัดไป คือการหาทางฉีดวัคซีนให้คนจำนวนมากในคราวเดียว เพื่อลดความเสี่ยงของการเสื่อมประสิทธิภาพของยา (mass vaccination) โดยความน่าจะเป็นคือกำหนดว่า ให้เริ่มฉีดวัคซีนให้กลุ่มแนวหน้าอย่างแพทย์และพยาบาลก่อน

นักวิทยาศาสตร์ยังตั้งคำถามว่า วัคซีนที่ผลิตออกมาป้องกันการแพร่เชื้อต่อไปยังคนอื่นได้หรือไม่ เพราะคนติดโควิดอาจไม่แสดงอาการ หากวัคซีนลดอาการอย่างเดียวแต่ไม่สามารถหยุดการแพร่เชื้อ โอกาสที่เราจะต้องใส่หน้ากากและรักษาระยะห่างทางสังคมต่อไปก็มีสูง

มีคำถามอีกว่าวัคซีนนี้จะสร้างภูมิคุ้มกันได้นานเท่าใด และจำเป็นต้องได้รับวัคซีนบ่อยแค่ไหน

อีกเรื่องที่ต้องคำนึงถึงคือ การกระจายยาอย่าง “เท่าเทียม”

“ดร.สุมยา สวามินาทาน” หัวหน้านักวิทยาศาสตร์ของ WHO บอกว่า ครึ่งปีแรกของปีหน้า ปริมาณวัคซีนจะมีจำกัดมากเพราะบริษัทยาเซ็นสัญญาซื้อขายกับรัฐบาลบางแห่งเรียบร้อยแล้ว ทำให้ตัวยามีเจ้าของตั้งแต่ยังไม่ผลิตด้วยซ้ำ

จากการวิเคราะห์ของมหาวิทยาลัย Duke พบว่า วัคซีนกว่า 3.8 พันล้านโดส แม้ยังอยู่ในขั้นการทดลอง ได้ขาย “ล่วงหน้า” ไปแล้ว และมีอีก 5 พันล้านโดสที่มีการจับจองแล้วเช่นกัน โดยผู้ซื้อหลัก ได้แก่ อเมริกา กลุ่มประเทศอียู และอินเดีย

ทั้ง Moderna และ Pfizer บอกว่า ผลิตวัคซีนรวมกันได้ 70 ล้านโดส (Moderna 20 ล้าน Pfizer 50 ล้าน) ในสิ้นปีนี้ แต่เป้าหมายหลักคือจะผลิตวัคซีนสำหรับ “คนอเมริกัน” ทั้งหมดในไตรมาส 2 ปีหน้า โดย Pfizer ตั้งเป้าว่าจะผลิตได้ 1.3 พันล้านโดส ส่วน Moderna บอกว่าอาจผลิตได้ 500-1,000 ล้านโดสในสิ้นปีหน้า หากโชคดีบริษัทอื่น ๆ ผลิตได้ด้วยก็อาจมีวัคซีนออกสู่ตลาดราว 6 พันล้านโดส

แต่ตลอด 1 ปีที่ผ่านมา “โควิด” ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพเท่านั้น แต่ยังกระชากหน้ากากให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำในสังคมอย่างไม่เคยมีมาก่อน และเป็นไปได้ว่าเมื่อมีวัคซีนออกมา อาจยิ่งตอกย้ำปัญหานี้ให้ชัดขึ้นกว่าเดิม