ถอดรหัสต้นทุนค่าขนส่ง สู้แบบ “ไปรษณีย์ไทย” กลางมรสุมแข่งดุ

ท่ามกลางธุรกิจอีคอมเมิร์ซที่โตขึ้นทุก ๆ ปี ทำให้การส่งสิ่งของและพัสดุต่าง ๆ เติบโตขึ้นอย่างมากเช่นกัน ซึ่งหลัก ๆ มาจากการขายของผ่านอีมาร์เก็ตเพลซข้ามชาติทั้งหลายที่มาพร้อมกับการไหลทะลักเข้ามาของสินค้าจากผู้ค้าชาวจีน ด้วยต้นทุนการผลิตที่ถูกกว่า ซึ่งไม่ใช่แค่ “ราคาสินค้า” ที่จูงใจเท่านั้น บ้างก็ว่าค่าขนส่งจากจีนมาไทยยังถูกกว่าสั่งซื้อจากผู้ค้าภายในประเทศด้วยกันเองเสียอีก

ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น “ประชาชาติธุรกิจ” ฉบับนี้มีโอกาสพูดคุยกับ “พิษณุ วานิชผล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานธุรกิจองค์กร และ “อริยา ทองใบ” รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ด้านธุรกิจระหว่างประเทศ บมจ.ไปรษณีย์ไทย (ปณท) เพื่อหาคำตอบไปพร้อมกันถึงสิ่งที่เกิดขึ้น

Q : ภาพรวมการแข่งขันในธุรกิจขนส่ง

พิษณุ : ภาพรวมธุรกิจขนส่งสินค้าอีคอมเมิร์ซในไทย (เฉพาะค่าขนส่งไม่นับรวมมูลค่าสินค้า) มีมูลค่า 40,000-50,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งในแง่มูลค่าถือว่าไม่โต เพราะผู้เล่นที่มีอยู่กว่า 10 รายแข่งกันตัดราคาค่าขนส่ง ทำให้มูลค่าโดยรวมโดนฉุดไว้ แต่ในแง่ปริมาณ (จำนวนชิ้น) ถือว่าเพิ่มขึ้น

โดยเฉพาะช่วงโควิดที่ผ่านมามีจำนวนการส่งสินค้าสูงขึ้นชัดเจนตามพฤติกรรมผู้บริโภคที่นิยมสั่งสินค้าผ่านออนไลน์เพิ่มมากขึ้น ซึ่งเราเองยังเป็นผู้นำในตลาดนี้ มีส่วนแบ่งตลาดในเชิงปริมาณที่ 55-60% และในเชิงมูลค่า 45-50% ของตลาดรวม

Q : การขนส่งระหว่างประเทศหลังโควิด-19

พิษณุ : ตลาดอีคอมเมิร์ซที่โตขึ้นมากในปีนี้ มาจากแพลตฟอร์มอีมาร์เก็ตเพลซรายใหญ่ ๆ ขณะที่โซเชียลคอมเมิร์ซหรือกลุ่มผู้ประกอบการที่ขายผ่านเฟซบุ๊กและอินสตาแกรมไม่ได้โตขึ้น เนื่องจากสินค้าที่สั่งจากต่างประเทศยังเข้ามาไม่ได้มากนัก

จากปัญหาเรื่องการขนส่งระหว่างประเทศ ทำให้กระทบต่อเส้นทางการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ ทั้งการขนส่งข้ามพรมแดนภาคพื้นดิน (รถยนต์) ที่ยังทำได้ไม่เต็มที่ หรือการขนส่งทางอากาศที่จำนวนเที่ยวบินหายไป ทำให้ต้นทุนค่าขนส่งของไปรษณีย์ไทยเองสูงขึ้น 30-40% เทียบช่วงเวลาปกติ เราต้องแบกต้นทุนส่วนนี้ไว้จนกว่าสายการบินขนส่งจะเปิดให้บริการได้ตามปกติ

Q : ส่งผลต่อแผนการทำงาน

อริยา : การขนส่งระหว่างประเทศ แบ่ง 2 ส่วน คือ คูเรียร์โพสต์ (courier post) เป็นการจับมือกับพันธมิตรที่มีเครื่องบินขนส่งเอง ซึ่งในช่วงโควิดยังสามารถให้บริการได้ปกติ ให้บริการ 105 ประเทศ อีกส่วน คือ “logispost world” เป็นการขนส่งสินค้าขนาดใหญ่ถึง 200 กิโลกรัม เปิดให้บริการ 31 ประเทศ ขณะที่บริการของ ปณท

ในส่วนที่ต้องหาสายการบินเพื่อนำจ่ายโดยไปรษณีย์เองนั้น เปิดให้บริการแค่ 45 ประเทศ เพราะช่วงโควิดต้นทุนการขนส่งผ่านสายการบินเพิ่มขึ้น ดังนั้นการจะขนส่งไปก็ต้องพิจารณาเรื่องต้นทุนเป็นหลัก ทำให้บางเส้นทางต้องระงับให้บริการชั่วคราว

Q : ถ้าดูจากต้นทุนต้องปรับราคา

พิษณุ : ขนส่งระหว่างประเทศมีความซับซ้อน โดยหลักพื้นฐาน คือ ความร่วมมือระหว่าง ปณท กับไปรษณีย์แต่ละประเทศ โดยมีสหภาพสากลไปรษณีย์ (Universal Postal Union : UPU) เป็นผู้กำหนดตามอนุสัญญาสากลไปรษณีย์

หรือข้อตกลงการให้บริการร่วมกัน อธิบายง่าย ๆ คือ พัสดุที่ส่งออกไปจากไทยไปจะมีไปรษณีย์ประเทศปลายทางเป็นผู้นำจ่ายให้ และคิดค่านำจ่ายที่แตกต่างกัน ทำให้บริการของ ปณท ต่างจากบริษัทขนส่งเอกชนที่สามารถให้บริการได้ตั้งแต่ต้นทางจนปลายทาง

ซึ่งในปี 2559 UPU ได้กำหนดข้อตกลงใหม่ และมีผลแล้วในปี 2563 นี้ โดย ปณท ต้องปรับโครงสร้างราคานำจ่ายใหม่ ตั้งแต่ของที่มีน้ำหนัก 0 กรัมถึง 2 กิโลกรัม เมื่อ 1 ต.ค.ที่ผ่านมา เนื่องจากต้นทุนเพิ่มขึ้น 40-50% ซึ่งประเทศปลายทางต่าง ๆ จะทยอยใช้อัตราใหม่นี้ ประเทศแรก คือ อเมริกา ตามด้วยยุโรป ถือเป็นประเทศปลายทางหลัก ๆ ของไทย

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา UPU มีการหารือและปรับต้นทุนนำจ่ายปลายทางขึ้นทุก ๆ 4 ปี เพียงแต่ ปณท รับภาระต้นทุนส่วนนี้ไว้ เพื่อไม่ให้กระทบต่อผู้ใช้ แต่ครั้งนี้จำเป็นต้องปรับค่านำจ่ายขึ้น เพราะต้นทุนพุ่งขึ้นมาก

อริยา : การปรับโครงสร้างค่าบริการไปรษณีย์ระหว่างประเทศใหม่ของ UPU ครั้งนี้ แยกประเภทใหม่เป็น 2 ส่วน คือ เอกสารและสินค้า หรือการส่งพัสดุชิ้นเล็กและชิ้นใหญ่ จากเดิมรวมกันอยู่
ผลจากการแยกประเภททำให้ ปณท ต้องปรับโครงสร้างราคานำจ่ายใหม่ ซึ่งตลอด 22 ปีที่ผ่านมา เราพยายามควบคุมต้นทุน เพื่อไม่ให้กระทบผู้ใช้มาตลอด

แต่เมื่อ UPU ปรับข้อตกลงใหม่ เราก็ต้องทบทวนราคาให้สะท้อนต้นทุนจริง และล้อไปกับอนุสัญญาสากลไปรษณีย์
ผลจากการปรับครั้งนี้ทำให้การส่งพัสดุชิ้นใหญ่ได้ประโยชน์มากขึ้น ขณะที่การส่งพัสดุชิ้นเล็กอาจต้องจ่ายแพงขึ้น แต่เราไม่ได้ขึ้นราคาในทุกช่วงพิกัด

Q : มีผลกระทบกับผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซไทย

พิษณุ : ค่าขนส่ง เป็นต้นทุนหลักของธุรกิจอีคอมเมิร์ซ เราตระหนักในเรื่องนี้ และพยายามทำให้ต้นทุนลดลงเท่าที่จะเป็นไปได้ แต่ถ้าพูดถึงอัตราค่าบริการไปรษณีย์ระหว่างประเทศของไทยเทียบกับต่างประเทศแล้ว ไทยยังอยู่ในกลุ่มที่ถูกมาก เช่น สินค้าเดียวกันส่งจากไทยไปอเมริกาจะถูกกว่าส่งจากอเมริกากลับมาไทย 3 เท่า

Q : แต่สินค้าจากไทยไปจีนแพงกว่าจีนมาไทย

พิษณุ : ผู้ขนส่งในจีนมีหลายประเภท ถ้าเป็นระหว่างการไปรษณีย์กับการไปรษณีย์ด้วยกัน ส่งจากไทยไปจีนยังถูกกว่าส่งจากจีนมาไทย แต่มีผู้ขนส่งเอกชนจีนที่ทำราคาถูกกว่าเหมือนกับที่ไทยมีการแข่งตัดราคาค่าส่งกันในประเทศ ซึ่งเป็นการบริหารของเอกชนที่จัดการระวางว่างได้เอง ขณะที่ ปณท พึ่งพาสายการบินพาณิชย์ในการขนส่งเป็นหลัก ทำให้ต้นทุนเราสูงกว่า

Q : UPU ให้ประเทศพัฒนาแล้วจ่ายสูงกว่า

อริยา : ส่วนนี้เป็นข้อกำหนดการชำระค่าทำการปลายทางของผู้ให้บริการที่ได้รับมอบหมายให้จัดแบ่งประเทศและดินแดน ให้สอดคล้องกับรายชื่อที่ปรากฏในข้อมติที่ประชุมใหญ่ UPU ซึ่งมีการแบ่งกลุ่มประเทศใหม่จาก 5 เป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ ประเทศและดินแดนที่อยู่ใน target system ก่อน ค.ศ. 2010 (กลุ่ม I) เช่น อังกฤษ ฝรั่งเศส, target system ตั้งแต่ ค.ศ. 2010 และ ค.ศ. 2012 (กลุ่ม II) เช่น สิงคโปร์ เกาหลีใต้, target system ตั้งแต่ ค.ศ. 2016 (กลุ่ม III)

เช่น ประเทศไทยและจีน เป็นต้น และ target system (กลุ่ม VI) ซึ่ง UPU มีเป้าหมายให้ประเทศพัฒนาแล้ว ประเทศกำลังพัฒนาและยังไม่พัฒนา จ่ายค่าทำการปลายทางในราคาเท่ากัน ผลจากการปรับครั้งนี้ทำให้การชำระค่าทำการปลายทางของประเทศกลุ่มที่ 4 จะค่อย ๆ ขยับขึ้นเรื่อย ๆ ท้ายสุดต้องจ่ายเท่ากันกับกลุ่ม 1 เช่น ส่งพัสดุจากอังกฤษไปฝรั่งเศส ต้องจ่ายค่าทำการปลายทางราคาสูงกว่า

เมื่อลาวส่งพัสดุไปอังกฤษ โดยลาวจะจ่ายค่าทำการให้อังกฤษต่ำกว่าที่ฝรั่งเศสจ่ายให้อังกฤษ และเพื่อเตรียมความพร้อมจากข้อกำหนดใหม่ จึงมี transition period ให้ลาวค่อย ๆ จ่ายค่าทำการปลายทางในอัตราที่สูงขึ้นทุกปี จนท้ายสุดจะจ่ายค่าทำการเท่ากัน เป็นต้น

พิษณุ : ปณท เป็นบริการสาธารณะของแต่ละประเทศ วัตถุประสงค์ UPU คือ พยายามให้คนในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกที่จะติดต่อสื่อสาร ส่งสิ่งของ และเอกสารถึงกันได้โดยสะดวก ซึ่งถ้าพิจารณาเรื่องต้นทุนอย่างเดียวก็จะทำให้คนในประเทศที่ยังไม่พัฒนาลำบากที่จะส่งของไปยังประเทศที่พัฒนาแล้ว เพราะต้นทุนสูง

ดังนั้น UPU จึงลดให้สำหรับประเทศที่กำลังพัฒนาและด้อยพัฒนา เพื่อให้คนในประเทศนั้นได้ติดต่อสื่อสาร ใช้บริการพื้นฐานได้ทั่วโลก โดยจากเดิมประเทศไทยจัดอยู่ในกลุ่มที่ยังไม่พัฒนา แต่เมื่อปี 2559 เลื่อนขึ้นให้อยู่ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา

Q : มีการนำระบบ IT เข้ามาช่วย

พิษณุ : UPU มีระบบอิเล็กทรอนิกส์ในการปฏิบัติการร่วมกัน คือ “IPS-international postal system” วัตถุประสงค์หลัก ๆ คือ การติดตามสิ่งของที่ส่งระหว่างประเทศ และคิดค่านำจ่ายระหว่างกัน โดยมีการพัฒนาระบบที่จะอำนวยความสะดวกในการผ่านพิธีศุลกากรในแต่ละประเทศ

ซึ่งขึ้นอยู่กับศุลกากรของแต่ละประเทศว่าจะใช้ระบบ UPU ได้มากน้อยแค่ไหน แต่ผลจากการนำระบบนี้เข้ามาใช้ ทำให้ขั้นตอนการผ่านพิธีศุลกากรเร็วขึ้น ส่งผลดีต่อผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซ
ในอนาคตทุกประเทศที่อยู่ภายใต้ UPU ต้องนำระบบนี้เข้ามาใช้

โดยเฉพาะยุโรปกับอเมริกาที่ให้ความสำคัญกับเรื่องความปลอดภัยขนส่งระหว่างประเทศ ฉะนั้น ถ้าไปรษณีย์ต้นทางไม่แจ้งล่วงหน้าว่าจะขนส่งอะไรเข้ามา ประเทศปลายทางจะไม่รับพัสดุและจะไม่นำส่งได้

อริยา : ระบบกลางของ UPU จะนำไปใช้ในทุกประเทศ หรือเรียกว่า custom declaration system ซึ่ง ปณท จะเริ่มใช้ในปี 2564 เพราะต้องส่งข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ล่วงหน้าไปยังประเทศปลายทางเหมือนที่บริษัทเอกชนส่งกัน

ตอนนี้เราเปิดเว็บไซต์และแอปพลิเคชั่นชั่วคราวขึ้นภายใต้ชื่อ “DPost Inter” สำหรับเช็กข้อมูลส่งสินค้าระหว่างประเทศ ก่อนเปิดตัวระบบฝากส่งล่วงหน้า “shipping tool” ซึ่งอยู่ระหว่างการพัฒนา คาดว่าจะเปิดใช้ได้กลางปี 2564

สำหรับ shipping tool เป็นระบบที่ช่วยจ่าหน้า สามารถเก็บจ่าหน้าในลักษณะคอนแท็กต์ลิสต์สำหรับผู้ใช้บริการที่ใช้บ่อย ข้อมูลพวกนี้ก็จะส่งให้ศุลกากรปลายทาง ถือว่าจำเป็นสำหรับการค้าขายในอีคอมเมิร์ซ เพราะประเทศปลายทางจะเข้มงวดเรื่องการขนส่งระหว่างประเทศขึ้นเรื่อย ๆ

Q : ต้นทุนที่เพิ่มขึ้นทุกปีเป็นโจทย์ใหญ่

พิษณุ : ไปรษณีย์ทุกประเทศกำลังเผชิญเรื่องนี้ แนวทางหลักของ ปณท ก็ปรับลดต้นทุนทุกอย่างต่อเนื่อง ขณะที่กรณีข้อกำหนด UPU ที่จะทำให้ค่านำจ่ายในบางประเทศปลายทางสูงขึ้น เราก็เข้าไปเจรจาลดค่านำจ่ายกับประเทศปลายทางที่สำคัญ ๆ โดยที่ผ่านมามีการเจรจากับไปรษณีย์ของแต่ละประเทศโดยตรง

Q : กรณีคนไทยส่งสินค้าไปขายต่างประเทศ

กลุ่มผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซไทยส่งสินค้าไปขายต่างประเทศเพิ่มขึ้นทุกปี แต่ปัญหา คือ สินค้าที่ส่งออกไปมูลค่าไม่สูง เมื่อเทียบกับค่าส่งสินค้าข้ามแดน (cross border) ทำให้เมื่อคิดแล้วค่าขนส่งเราจึงแพงกว่า

เช่น คนไทยสั่งซื้อกระเป๋าออนไลน์จากฝรั่งเศส ต้นทางเลือกการขนส่งที่แพงสุดและเร็วสุด แต่สิ่งที่คนไทยส่งไปขาย คือ เคสโทรศัพท์ ผ้าเช็ดตัว ของชุมชน ที่มีมูลค่าไม่มาก ดังนั้นเมื่อคิดค่าขนส่งจึงมีสัดส่วนสูงกว่าเมื่อเทียบกับราคาสินค้า กลายเป็นอุปสรรคในการไปทำตลาดต่างประเทศของผู้ค้าไทย