สเต็ปต่อไป “หมอชนะ” ถ่ายโอนสู่มือดีอีเอส

แอปพลิเคชันหมอชนะ
Jack TAYLOR / AFP

กลายเป็นประเด็นดราม่าสะพัดออนไลน์ สำหรับแอปพลิเคชั่น “หมอชนะ” หลังเกิดประเด็นว่า ทีมพัฒนาแอปยกทีมลาออก จากแรงกดดันของรัฐและปัญหาการแจ้งเตือนสถานะสีของแอปพลิเคชั่น ที่มีการล็อกสีเขียวอย่างเดียว

พร้อมกับการตั้งคำถามถึงอำนาจและความรับผิดชอบของการกำหนดสถานะสีแจ้งเตือน รวมถึงประสิทธิภาพของแอปหมอชนะ

“พุทธิพงษ์” เคลียร์ปมดราม่า

“พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือดีอีเอส ออกมาอธิบายถึงประเด็นนี้ว่า ปัจจุบันทีมพัฒนาแอปพลิเคชั่นหมอชนะไม่ได้ถอนตัว

และกระทรวงดีอีเอสก็ยังทำงานร่วมกับทีมจิตอาสากว่า 100 คน ที่ร่วมพัฒนาแอปพลิเคชั่นหมอชนะตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์ปี 2563 แต่ด้วยจำนวนผู้ใช้งานที่เพิ่มมากขึ้น

จากต้นปี 2564 ที่มียอดดาวน์โหลดเพียง 5 ล้านราย ก็เพิ่มเป็น 7 ล้านรายในปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 18 ม.ค.2564) และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอีก ดังนั้น รัฐบาลโดยกระทรวงดีอีเอสจึงได้มอบให้สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ สพร. เข้าไปดูแลระบบแอปหมอชนะต่อ

เพื่อให้สามารถรองรับการใช้งานที่จะเพิ่มขึ้น หรือ 30-40 ล้านคน ซึ่งทีมพัฒนาเดิมทั้งหมดก็ยังทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาต่อไป

“วันนี้กระทรวงดีอีเอสมีความจำเป็นต้องรับช่วงต่อเข้ามาดูแลแอปพลิเคชั่นหมอชนะ เพื่อให้การดูแลระบบเป็นรูปธรรมมากขึ้น และเดินหน้าต่อในระยะยาว ดังนั้นสเต็ปต่อจากนี้คือ จะต้องตั้งกรอบงบประมาณขึ้น สำหรับการสร้างทีมเพื่อดูแลและพัฒนาแอปต่อ”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ทีม “Code for Public” ผู้พัฒนาแอปพลิเคชั่น “หมอชนะ” ได้แถลงการณ์ผ่านเฟซบุ๊ก “Code for Public” โดยระบุใจความสำคัญว่า จะส่งต่อแอปพลิเคชั่นหมอชนะ จากกลุ่มอาสาสมัครไปสู่การกำกับดูแลจากรัฐบาลเต็มตัว

เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงในการดูแลจัดการแอปที่ค่อนข้างมีความสำคัญ พร้อมชี้แจงถึงความเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้น เพื่อความชัดเจน และความโปร่งใส่ในการทำงาน โดยแอปหมอชนะจะอยู่ภายใต้การดูแลของรัฐบาล

อย่างไรก็ตาม การส่งต่อให้รัฐบาลนี้ ทางทีมผู้พัฒนาคำนึงถึงสิทธิส่วนบุคคลเป็นสำคัญ ดังนั้น ข้อมูลที่มีความละเอียดอ่อน เช่น เบอร์โทรศัพท์ จะมีการลบทิ้งออกจากฐานข้อมูล

รวมถึงตัวแอปได้ปิดฟีเจอร์ยืนยันตัวตนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ตั้งแต่เวอร์ชั่น 2.0.1 ทำให้ผู้ใช้ใหม่จะไม่มีวิธีในการใส่เบอร์ โทร.ตัวเองเข้าระบบอีกต่อไป โดยการเก็บข้อมูลของ “หมอชนะ” จะแยกออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนแรก จะอยู่ภายใต้การดูแลของรัฐ

อีกส่วนจะอยู่ภายใต้การดูแลของ Code for Public ที่จะเปลี่ยนชื่อเป็น SQUID เพื่อป้องกันความสับสน โดยโค้ดใน Github ของ Code for Public จะยังคงเป็น open source และดูแลโดยกลุ่มผู้พัฒนาในภาคประชาชนต่อไป

ทำไมต้องถ่ายโอนสู่มือดีอีเอส

“พุทธิพงษ์” ขยายความว่า เนื่องจากขนาดการใช้งานใหญ่ขึ้นให้ประชาชนทั้งประเทศได้ใช้ และต้องทำในระยะยาว จึงต้องโอนถ่ายมาให้รัฐบาลรับผิดชอบทำให้เป็นระบบ รัดกุมทางกฎหมาย และบริหารทั้งงบประมาณและบุคลากรทั้งหมดให้สมบูรณ์ มีประสิทธิภาพ

ขณะเดียวกัน เมื่อจำนวนผู้ใช้เพิ่มขึ้น ในแง่ของจำนวนข้อมูลก็จะเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน ทำให้ดีอีเอสต้องเข้าไปบริหารจัดการและเก็บข้อมูล โดยจะให้บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT เข้ามาดูแลระบบการเก็บและบริหารข้อมูลบนคลาวด์ เพื่อลดต้นทุนเพราะ NT ก็ได้จัดทำระบบคลาวด์กลางของภาครัฐอยู่แล้ว

“ช่วง 9-10 เดือนที่ผ่านมา แอปหมอชนะใช้งบฯลงทุนไปแล้วประมาณ 20 ล้านบาท โดยหลัก ๆ คือการเช่าระบบจัดเก็บข้อมูลบนคลาวด์ และยังสามารถรองรับข้อมูลได้อีก”

“พุทธิพงษ์” ย้ำว่า การถ่ายโอนการดูแลจากผู้พัฒนาเดิมสู่ดีอีเอสดำเนินการมาได้ 1 เดือนแล้ว และจะดำเนินต่อไปเพราะข้อมูลและจำนวนคนใช้มากขึ้น ดังนั้น รัฐต้องเข้ามาดูแล เพื่อให้เกิดการใช้แบบเอกภาพ ไม่ทำให้ประชาชนสับสนและเพื่อประโยชน์ในการใช้งาน

แจงระบบแจ้งเตือนไม่มีปัญหา

อย่างไรก็ตาม การออกแบบแอปพลิเคชั่นในช่วงแรก ๆ ผู้ใช้ต้องใส่หมายเลขโทรศัพท์ เพื่อให้การใช้งานมีประสิทธิสูงสุด แต่กระทรวงดีอีเอสก็ปรับให้ใช้งานได้ง่ายขึ้น ไม่ต้องใส่เบอร์โทรศัพท์ ไม่ต้องมีการยืนยันตัวเอง และผู้ที่สามารถเข้าถึงข้อมูลได้ คือ กรมควบคุมโรคติดต่อ ซึ่งผู้ใช้เชื่อมั่นได้ว่าข้อมูลจะปลอดภัย

สำหรับประเด็นการทำงานของแอป กรณีฟังก์ชั่น สีสถานะ เพื่อการติดตามสอบสวนโรคนั้น ที่มีการตั้งข้อสังเกตว่า ระบบการแจ้งเตือนสถานะสีของแอปพลิเคชั่น มีปัญหาและมีการล็อกสีไว้ให้เป็นสีเขียวอย่างเดียวนั้น ขอยืนยันว่าระบบไม่มีปัญหาและไม่ได้ล็อกสถานะเป็นสีเขียวแต่อย่างใด

โดยกรมควบคุมโรคจะเป็นผู้ควบคุมข้อมูลและยืนยันสีสถานะข้อมูลของผู้ใช้งานหน่วยงานเดียวเท่านั้น

“ระบบสถานะสีไม่ได้มีปัญหา แต่อาจต้องใช้เวลาให้เจ้าหน้าที่กรมควบคุมโรคได้ตรวจสอบอย่างถูกต้องชัดเจนก่อน และเมื่อได้รับการยืนยันจากกรมควบคุมโรคแล้วก็จะเปลี่ยนสถานะสี”

สำหรับแอปพลิเคชั่น หมอชนะ เป็นแอปพลิเคชั่นที่บันทึกข้อมูลการเดินทางของผู้ใช้งานด้วยเทคโนโลยี GPS และ bluetooth ร่วมกับการสแกน QR code เช่น ไทยชนะ เพื่อเช็กอินตามสถานที่ต่าง ๆ ทำให้บันทึกการเดินทางของผู้ใช้งานแม่นยำและเที่ยงตรงมากยิ่งขึ้น

จึงเป็นเครื่องมือที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้กรมควบคุมโรค และบุคลากรทางการแพทย์สอบสวนโรคได้อย่างรวดเร็ว โดยแอปจะแจ้งไปยังกลุ่มผู้ใช้งานที่มีประวัติสัมผัสหรือเข้าใกล้กับผู้ติดเชื้อ COVID-19 ถึงวิธีการปฏิบัติตนที่ถูกต้อง