เจาะเทรนด์การตลาดดิจิทัลปี’64 ธุรกิจเร่งปิดเกมเร็ว “โพสต์ปุ๊บ ขายปั๊บ”

โควิด-19 กระตุ้นให้ผู้บริโภคใช้สื่อออนไลน์เพิ่มขึ้น ทำให้ธุรกิจต้องปรับกลยุทธ์การตลาดให้สอดรับกับสิ่งที่เกิดขึ้น พร้อม ๆ กับการตั้งคำถามว่า จะทำอย่างไร ให้สามารถเจาะเข้าหาผู้บริโภคบนโลกออนไลน์ได้และปิดการขายให้เร็วที่สุด

ล่าสุด ไวซ์ไซท์ (ประเทศไทย) จัดเสวนาขึ้นในหัวข้อ “How to measure success of social media performance” หรือการวัดผลสำเร็จของแบรนด์ในสื่อออนไลน์ โดยมีตัวแทนจากหลายธุรกิจ ร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับการใช้โซเชียลมีเดียอย่างไร ให้แบรนด์ขายของได้

สินค้าแห่ใช้โซเชียลปิดการขาย

เริ่มจากมุมมองดิจิทัลเอเยนซี่ “สโรจเลาหศิริ” ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาด บริษัท แรบบิท ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด กล่าวว่า โควิด-19 ทำให้คนใช้โซเชียลมากขึ้น และนิยมจะซื้อสินค้าผ่านช่องทางนี้มากขึ้น ดังนั้น ธุรกิจต้องปรับกลยุทธ์การตลาดให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ด้วยการปรับแนวทางการนำเสนอสินค้าใหม่

ให้เหมาะสมกับแต่ละแพลตฟอร์มมากขึ้น ขณะที่คอนเทนต์ก็ต้องยืดหยุ่น และเข้ากับกระแสที่กำลังเกิดขึ้น เพื่อกระตุ้นให้เกิดความสนใจ พร้อมดึงโซเชียลมีเดียเข้าเสริม ด้วยการสร้างบทสนทนา เพื่อกระตุ้นให้เกิดการซื้อ ขณะเดียวกันก็ต้องไม่ทำให้ผู้บริโภครู้สึกว่าไม่ปลอดภัย หรือถูกรุกล้ำความเป็นส่วนตัว

ขณะที่ “พงษ์ปิติ ผาสุขยืด” ผู้ก่อตั้งแฟนเพจ เฟซบุ๊ก Ad Addict กล่าวว่า การผลิตคอนเทนต์ปีนี้จะใช้เครื่องมือ ฟีเจอร์ในการผลิตแบบง่าย แต่ไอเดียต้องสร้างสรรค์ แปลกใหม่

ขณะที่การวัดผลก็เปลี่ยนไป โฟกัสไปที่ยอดแชร์ และยอดสั่งซื้อมากขึ้น ดังนั้นธุรกิจจึงมุ่งไปที่การทำตลาดแบบ affiliate marketing หรือการนำลิงก์สินค้าและบริการจากเว็บไซต์มาส่งให้ผู้บริโภคเข้าไปซื้อสินค้าบนเว็บไซต์เพื่อปิดการขาย

“มัณฑิตา จินดา” ผู้ก่อตั้ง Digital Tips Academy สถาบันสอนเทคนิคการทำธุรกิจออนไลน์และการตลาดดิจิทัล กล่าวว่า จากนี้ไปแบรนด์จะทำการตลาดแบบไร้กระบวนท่ามากขึ้น

โดยเริ่มใช้โซเชียลมีเดีย มาสร้างความบันเทิงและปิดการขายไปพร้อม ๆ กัน ขณะที่การทำตลาดผ่านโซเชียลมีเดียก็จะไม่ยึดติดกับแพลตฟอร์มใดแพลตฟอร์มหนึ่งอีกแล้วเพื่อให้ได้ฐานผู้บริโภคกลุ่มใหม่ ๆ

อินฟลูเอนเซอร์พลิกตัวให้เร็ว

ขณะเดียวกัน บทบาทอินฟลูเอนเซอร์ก็เปลี่ยนไป โดยปรับแนวทางการทำคอนเทนต์ให้สอดรับกับไลฟ์สไตล์ผู้บริโภค

“พันธ์ศักดิ์ ลิ้มวัฒนายิ่งยง” ผู้จัดการประจำประเทศไทย Any Mind Group ผู้ให้บริการโซลูชั่นเทคโนโลยีสำหรับโฆษณาด้านอินฟลูเอนเซอร์ กล่าวว่า การแข่งขันอินฟลูเอนเซอร์สูงขึ้นและแข่งกันแย่งความสนใจจากผู้ติดตามข้ามแพลตฟอร์ม

ดังนั้น สิ่งที่อินฟลูเอนเซอร์ต้องทำ คือ ต้องวางแผนมากขึ้น ต้องเข้าใจผู้บริโภคและมีเป้าหมายที่ชัดเจนว่า จะใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่ออะไร เช่น แพลตฟอร์มแรกใช้สร้างรายได้ แพลตฟอร์มที่ 2 ใช้สร้างแฟนคลับ

“ที่ผ่านมา อินฟลูเอนเซอร์ คือ ผู้เลือกว่าจะทำงานกับแบรนด์หรือไม่ และทำหน้าที่แค่รีวิวสินค้า ขณะที่ปัจจุบันแบรนด์ คือ ผู้เลือกโดยดูจากหลายปัจจัย เช่น ตอบวัตถุประสงค์หรือไม่ เข้าใจผู้บริโภคแค่ไหน ที่สำคัญ คือ ปิดยอดขายให้แบรนด์ได้หรือไม่ ดังนั้นการทำงานของอินฟลูเอนเซอร์ก็ยากขึ้นด้วย”

“ชัยวุฒิ ผาติภากร” Talent Director บริษัท พ๊อพส์ (ประเทศไทย) จำกัดผู้ให้บริการดิจิทัลเอ็นเตอร์เทนเมนต์ กล่าวว่า ปัจจุบันอินฟลูเอนเซอร์ต้องปรับตัวให้เร็ว

โดยต้องเริ่มวางแผนการสร้างคอนเทนต์ให้สอดรับกับแต่ละแพลตฟอร์มปรับรูปแบบการนำเสนอใหม่ จากเดิมแค่รีวิว หรือ tie-in เข้าไปในคอนเทนต์โดยต้องเน้นการเล่าเรื่อง หรือแชร์ประสบการณ์ที่มีต่อตัวสินค้ามากขึ้น เพื่อกระตุ้นให้เกิดการซื้อ

“กิตติพัฒน์ มหพันธ์” ผู้ก่อตั้ง BUZZPURR ผู้ให้บริการด้านกลยุทธ์สื่อสารด้านอินฟลูเอนเซอร์มาร์เก็ตติ้ง กล่าวว่า โควิด-19 ทำให้แผนระยะสั้นที่แบรนด์วางไว้ปีนี้และปีหน้า

คือ ทำอย่างไรให้ธุรกิจอยู่รอด ส่วนแผนระยะยาว คือ จะต้องสร้างการเติบโตให้ธุรกิจ ซึ่งแนวทางหลัก ๆ ที่แบรนด์จะทำ คือ การเลือกอินฟลูเอนเซอร์ที่ช่วยสร้าง brand love ให้กับผู้บริโภคพร้อม ๆ กับการปิดการขายให้ได้

เท่ากับว่า โจทย์การทำตลาดดิจิทัลปีนี้ ทั้งแบรนด์และอินฟลูเอนเซอร์ต้องทำงานคู่กัน โดยพยายามหาไอเดียใหม่ ๆ พร้อมทำคอนเทนต์ให้เข้ากับแต่ละแพลตฟอร์ม เพื่อดึงความสนใจ จนนำไปสู่เป้าหมายสำคัญ คือ ปิดการขายให้ได้