ยักษ์โซเชียลเปิดศึก ไล่เก็บฐานลูกค้าชิงเม็ดเงินโฆษณา

เปิดเกมแลกหมัดกันแบบไม่มีใครยอมใคร สำหรับโซเชียลแพลตฟอร์มยักษ์ใหญ่ ทั้งเฟซบุ๊ก, อินสตาแกรม (ไอจี), TikTok และไลน์ ต่างทยอยเปิดฟีเจอร์และเครื่องไม้เครื่องมือใหม่ ๆ มัดใจฐานลูกค้ากลุ่มเดิม

และขยายฐานลูกค้ากลุ่มใหม่ต่อยอดสู่การสร้างรายได้ และช่วงชิงเม็ดเงินโฆษณาออนไลน์ โดยข้อมูลจากสมาคมโฆษณาดิจิทัลแห่งประเทศไทย (DAAT) คาดการณ์ตัวเลขโฆษณาออนไลน์ปี 2564 ว่าจะอยู่ที่ 22,800 ล้านบาท โตขึ้น 8% จากปี 2563 ที่มีมูลค่า 21,058 ล้านบาท

สำหรับปี 2563 ใน 21,058 ล้านบาท“เฟซบุ๊ก” กินส่วนแบ่งรายได้จากโฆษณาออนไลน์เป็นอันดับหนึ่งที่ 6,561 ล้านบาทตามด้วยยูทูบ 4,586 ล้านบาท และไลน์ 1,196 ล้านบาท

โดย DAAT คาดด้วยว่าปีนี้เฟซบุ๊กจะมีรายได้ขยับขึ้นไปที่ 7,224 ล้านบาท ยูทูบ 5,136 ล้านบาท และไลน์ 1,247 ล้านบาท

เมื่อหันมาดูรายงาน Digital 2021 Global Overview Report ของ Hootsuiteและ We Are Social พบว่าคนไทยยังนิยมใช้โซเชียลมีเดียมากถึง 78.7% ของประชากร สูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่อยู่ที่ 53.6%

เมื่อเจาะลงไปในแต่ละแพลตฟอร์มพบว่า “เฟซบุ๊ก” มีผู้ใช้ 51 ล้านบัญชี อินสตาแกรม 16 ล้านบัญชี ยูทูบ 37.3 ล้านบัญชี ไลน์ 47 ล้านบัญชี และทวิตเตอร์ 7.35 ล้านบัญชี

พฤติกรรมในการใช้ 3 อันดับแรก คือ 1.เพื่ออัพเดตข่าวสาร 2.ดูวิดีโอ และ 3.เพื่อฆ่าเวลา

แม้ “เฟซบุ๊ก”จะได้รับความนิยมโกยรายได้จากโฆษณาเป็นอันดับต้น ๆ อีกแพลตฟอร์มที่มาแรง TikTok ที่มีจุดเด่นด้านคลิปวิดีโอสั้นเพิ่งเปิดตัวฟีเจอร์ใหม่เพิ่มความยาวคลิปวิดีโอเช่นกันกับ โซเชียลแพลตฟอร์มอื่น ๆ ก็เร่งเกมบุก

โซเชียลมีเดีย

TikTok ขยับชิงลูกค้ากลุ่มใหม่

“สุรยศ เอี่ยมละออ” Head of Consumer Marketing ของ TikTok กล่าวว่าคลิปวิดีโอสั้นยังได้รับความนิยมจากผู้ใช้ชาวไทย โดยคลิปที่มีความยาว 15 วินาที เป็นคลิปที่ดึงความสนใจของผู้ใช้ได้ดีที่สุด แต่เพื่อขยายกลุ่มผู้ใช้ใหม่ ๆ จึงเพิ่มฟีเจอร์คลิปวิดีโอที่มีความยาว 3 นาทีเพิ่มเติม

เพื่อให้สอดรับกับทิศทางธุรกิจในปีนี้ที่มุ่งไปยังการเพิ่มผู้ใช้ผ่าน 3 แนวทาง คือ 1.การสร้างประสบการณ์ที่ดีด้วยฟีเจอร์ใหม่ ๆ ที่จะพัฒนาขึ้นต่อเนื่อง

เช่น เพิ่มความยาววิดีโอเป็น 3 นาที รวมถึงเปิดตัวฟีเจอร์ Multi-Guest ให้ผู้ใช้ชวนเพื่อนมาไลฟ์พร้อมกันได้สูงสุด 3 คน เป็นต้น

2.ยกระดับคอนเทนต์ ด้วยการร่วมมือกับผู้ผลิตคอนเทนต์ต่าง ๆ ทั้งสำนักข่าว ค่ายเพลง ค่ายละคร เพื่อสร้างสรรค์คอนเทนต์รูปแบบใหม่ ๆ เช่นร่วมกับ Star Hunter เปิดตัวซีรีส์แนวตั้งเรื่อง Bad Roommate ความยาวตอนละ 1-3 นาที

มีเอ็กซ์คลูซีฟไลฟ์สตรีมมิ่งร่วมกับศิลปินดัง และ 3.สร้างครีเอเตอร์ เน้นให้ผู้ใช้มีส่วนร่วมกับแพลตฟอร์ม เช่น ร่วมกับ Pomelo เปิดตัวคอลเล็กชั่นใหม่ นำโลโก้ TikTok มาสร้างสรรค์เป็นลายพรินต์ เป็นต้น

และเมื่อกลางปีที่ผ่านมา ได้ตั้งทีม “TikTok For Business” เพื่อโฟกัสการสร้างรายได้จากโฆษณาออนไลน์

เปิดแนวรุกเพิ่มรายได้

ด้าน “สิรินิธิ์ วิรยะศิริ” Head of Business Marketing บริษัทเดียวกัน กล่าวว่า ยอดดาวน์โหลด “TikTok” โตต่อเนื่องโดยในเดือน ม.ค. 2564 โตขึ้น 44%เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน

และในปีนี้ได้พัฒนาโซลูชั่นและเครื่องมือใหม่ พร้อมจัดอบรมสัมมนาออนไลน์ฟรี เพื่อขยายฐานลูกค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมมากขึ้น หลังจากเมื่อกลางปีที่แล้วตัวแพลตฟอร์มโฆษณา “Self-serve”

สำหรับเอสเอ็มอี ให้วางแผนทำตลาดบน TikTok ง่ายขึ้น ปรับเปลี่ยนงบฯได้ตลอดเวลา และวัดผลได้ ราคาเริ่มต้น 200 บาทต่อวัน

“ปีนี้เน้นจัดอบรม สัมมนาออนไลน์มากขึ้น เพื่อดึงให้ลูกค้าทุกกลุ่มอุตสาหกรรม ทั้งสินค้าอุปโภคบริโภค ท่องเที่ยว เอสเอ็มอีเข้ามาใช้ TikTok โฆษณาเพิ่มขึ้น”

ก่อนหน้านี้โซเชียลแชต “ไลน์” ที่มีผู้ใช้ 47 ล้านรายทั่วประเทศ ก็มีเครื่องมือช่วยขาย “แชตคอมเมิร์ซ” ดึงให้แบรนด์เอสเอ็มอีเข้ามาใช้บริการ เช่น LINE OA (LINE Official Account) และฟังก์ชั่นต่างๆ เพื่อโฆษณาและช่วยแบรนด์ให้ขายสินค้าได้

นั่นทำให้ยักษ์ดิจิทัลแพลตฟอร์มที่กินเม็ดเงินโฆษณาอันดับหนึ่งในไทยอย่าง “เฟซบุ๊ก”ขยับเข้าสู่สมรภูมิวิดีโอสั้นเพิ่มเติมโดยแท็กทีมกับ “อินสตาแกรม”(ไอจี)

เปิดตัวฟีเจอร์วิดีโอสั้นบน “ไอจี”อย่างเป็นทางการในประเทศไทยเรียบร้อยแล้ว หลังจากก่อนหน้าเปิดตัวไปแล้วในหลายประเทศ

เฟซบุ๊กผนึกไอจีลุยคลิปสั้น

“เอริน เพตติกรูว์” ผู้จัดการฝ่ายผลิตภัณฑ์ Instagram กล่าวว่า พฤติกรรมการใช้งานของผู้บริโภคในปัจจุบันเปลี่ยนไป โดยต้องการรับชมวิดีโอสั้น และมีส่วนร่วมกับการสร้างสรรค์คอนเทนต์มากขึ้น

ทั้งการตกแต่ง ตัดต่อวิดีโอสั้นบนแพลตฟอร์มไอจีจึงเปิดตัวฟีเจอร์วิดีโอสั้นความยาว 15-30 วินาทีชื่อ “Instagram Reels” ในไทย

“แม้ TikTok จะเป็นผู้ให้บริการแพลตฟอร์มวิดีโอสั้นที่โดดเด่น แต่การออกฟีเจอร์วิดีโอสั้น และฟีเจอร์เพลงของเราด้วยเพราะเชื่อว่าแต่ละแพลตฟอร์มต่างมีเอกลักษณ์

และกลุ่มเป้าหมายต่างกัน จุดมุ่งหมายหลักคือ ต้องการเป็นอีกพื้นที่ให้บรรดาครีเอเตอร์ได้สร้างสรรค์คอนเทนต์ใหม่ผ่านคลิปวิดีโอ และให้เข้าถึงผู้ชมจากทั่วโลกได้ง่ายขึ้นมากกว่า”

ไม่ใช่แค่นั้น “เฟซบุ๊ก” ยังเปิดตัวฟีเจอร์เพลงที่ใช้ได้ทั้งบนเฟซบุ๊กและไอจี โดย “ธารินาถ ภัทรเรืองรอง” ผู้จัดการฝ่ายกลยุทธ์พันธมิตรด้านความบันเทิง เฟซบุ๊ก ประเทศไทย เสริมว่าเฟซบุ๊กยังมีจุดยืนอยู่ที่การเชื่อมโยงผู้คนทั่วโลกเข้าด้วยกัน

เมื่อผู้บริโภคต้องการรับชมวิดีโอสั้นและความบันเทิงมากขึ้น จึงเปิดตัวฟีเจอร์เพลงที่ใช้ได้ทั้งเฟซบุ๊กและไอจี ได้แก่ สติ๊กเกอร์ดนตรีและสติ๊กเกอร์เนื้อเพลง ในคลังเพลงทั้ง Facebook Stories

และ Instagram Stories รวมเพลงลิขสิทธิ์จากทั่วโลกไว้ ซึ่งผู้ใช้สามารถนำเพลงไปแต่งบนหน้าโปรไฟล์ได้นาน 90 วินาที พร้อมเชื่อมต่อไปยัง Spotify และ Apple Music ด้วย

เรียกได้ว่ายักษ์ดิจิทัลแพลตฟอร์มไม่มีใครยอมใครในการรุกคืบสร้างฐานลูกค้าและเก็บเกี่ยวเม็ดเงินโฆษณา ขณะที่ในบ้านเราเองก็กำลังจะดีเดย์เก็บภาษีกับบรรดาบริการ “อีบิสซิเนส” ทั้งหลายด้วยเช่นกัน