“ไอทีซิตี้” ดึงบิ๊กดาต้าเพิ่มพลังค้าปลีก IT

ไอที

“ไอทีซิตี้” โหม “omnichannel” ดึง เครือข่ายร้านค้าปลีกเชื่อมช่องทางออนไลน์ ปรับสาขา 417 แห่งเป็นจุด drop point เสริมศักยภาพงานบริการ ใช้ “บิ๊กดาต้า” วิเคราะห์ลูกค้าออกโปรแกรมเงินผ่อนเร่งการตัดสินใจซื้อ ชี้กระแสบิตคอยน์-WFH ดัน “การ์ดจอ-โน้ตบุ๊ก-คอมพ์ฯ DIY” โต มั่นใจปั๊มยอดขายแตะหมื่นล้านบาทในสิ้นปี

นายเกษม ศรีเลิศชัยพานิช รองกรรมการผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดออนไลน์ บริษัท ไอทีซิตี้ จำกัด (มหาชน) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงแผนการดำเนินงานปี 2564 ว่าจะโฟกัสไปที่การทำ “omnichannel” โดยใช้สาขาเป็นจุด “drop point” ให้บริการหลังการขาย หลังควบรวมกับซีเอสซีเมื่อปี 2562 ทำให้มีสาขาในเครือกว่า 417 สาขาทั่วประเทศ

แบ่งเป็นไอทีซิตี้ 131 สาขา และซีเอสซี 286 สาขา จึงให้บริการลูกค้าได้ครอบคลุมมากขึ้น โดยจะเร่งขยายสาขาไปยังพื้นที่ใหม่ ๆ ที่ยังไม่เคยมีมาก่อน และคำนึงถึงความสามารถในการขายของพนักงานหน้าร้าน รวมถึงกำลังซื้อของผู้บริโภคในพื้นที่ควบคู่กันด้วย

ขณะที่การทำตลาดผ่านช่องทางออนไลน์ เริ่มมาตั้งแต่ช่วงโควิด-19 ในปีที่ผ่านมา ทำให้ไอทีซิตี้หันมาให้ความสำคัญกับการใช้บิ๊กดาต้าวิเคราะห์พฤติกรรมลูกค้า ทั้งในเว็บไซต์หลัก, เฟซบุ๊ก และมาร์เก็ตเพลซต่าง ๆ อาทิ “ลาซาด้า และช้อปปี้” ตั้งแต่ขั้นเริ่มรู้จักแบรนด์จนไปถึงขั้นการตัดสินใจซื้อเพื่อออกแบบบริการให้ตอบโจทย์ผู้บริโภคมากที่สุด

ทั้งยังมีแผนที่จะให้บริการไมโครไฟแนนซ์ “ผ่อนชำระสินค้า” ในระยะเวลาที่ยาวขึ้น จากปัจจุบันสูงสุด 36 เดือน ด้วยการประเมินรายจ่ายรายเดือน และขีดความสามารถในการชำระดอกเบี้ยของผู้บริโภค เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดหนี้เสียในระบบ

“omnichannel จะกลายเป็นนิวนอร์มอลของธุรกิจค้าปลีกไอที ซึ่งแต่ละเจ้าก็จะตีความไม่เหมือนกันตามศักยภาพที่มี ดังนั้นความท้าทายคือ การทำให้ลูกค้าได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและได้รับบริการเหมือนกัน ทั้งช่องทางออนไลน์และออฟไลน์ ทำให้ทุกเจ้าเร่งพัฒนาแพลตฟอร์มของตนเองเพื่อให้สามารถแข่งขันกับธุรกิจค้าปลีกด้วยกันและมาร์เก็ตเพลซได้”

อย่างไรก็ตาม ไอทีซิตี้ได้รับผลจากโควิด-19 ระลอกใหม่ด้วยเช่นกัน แม้ผู้บริโภคจะมีความต้องการสินค้าไอที ทั้งคอมพิวเตอร์และโน้ตบุ๊กเพิ่มขึ้น จากกระแสเวิร์กฟรอมโฮมที่กลับมาอีกครั้ง แต่จะเลือกซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์มากกว่าซื้อจากหน้าร้าน ทำให้ยอดขายออฟไลน์ลดฮวบ โดยเฉพาะสาขาที่อยู่ในพื้นที่สีแดง เช่น แถบบางแคและพระราม 2 เป็นต้น ขณะที่ยอดขายออนไลน์เติบโตขึ้น 20% คาดว่าจะโตต่อเนื่องตลอดทั้งปีไม่ต่ำกว่านี้

“สินค้าที่ได้รับอานิสงส์คงหนีไม่พ้นการ์ดจอจากกระแสขุดบิตคอยน์ รองมาเป็นคอมพิวเตอร์ประกอบเองหรือดีไอวายที่ได้รับความนิยมจากกลุ่มเกมมิ่งและโน้ตบุ๊กที่ใช้สำหรับทำงานและเรียนออนไลน์”

นายเกษมกล่าวต่อว่า ผู้บริโภคมีความต้องการสินค้าไอทีสูงขึ้น ซัพพลายจึงผลิตไม่ทันกับความต้องการ ราคาเฉลี่ยของสินค้าไอทีทุกกลุ่มจึงมีแนวโน้มที่จะปรับสูงขึ้น ส่งผลดีให้กับธุรกิจค้าปลีกไอที

และบริษัทคาดการณ์ว่าในปีนี้จะมีรายได้สุทธิอยู่ที่ 10,000 ล้านบาท เพิ่มจากปีที่ผ่านมาที่มีรายได้รวมอยู่ที่ 7,007 ล้านบาท หรือโตขึ้น 30.88% จากปี 2562