“ฟู้ดดีลิเวอรี่” ทางเลือก ไม่ใช่ทางรอด? สิ่งที่ร้านค้าต้องรู้มากกว่าลดค่า “จีพี”

ยังเป็นกระแสต่อเนื่องเกี่ยวกับการเก็บค่าจีพี (gross profit) ในการใช้แพลตฟอร์มฟู้ดดีลิเวอรี่ ล่าสุดกรณี “ฟู้ดแพนด้า” ที่ร้านค้าพาร์ตเนอร์ออกมาโวยว่าทุนหายกำไรไม่เหลือเพราะต้องจ่ายค่าบริการให้เจ้าของแพลตฟอร์ม เป็นเหตุให้ “ฟู้ดแพนด้า” ต้องเร่งตรวจสอบจนพบว่าระบบเรียกเก็บเงินขัดข้องจึงคืนเงินให้ร้านค้าทันที

ถึงจะอย่างนั้นค่า “จีพี” ที่บรรดาแพลตฟอร์มฟู้ดดีลิเวอรี่เรียกเก็บกันราว 30-35% ก็ยังเป็นต้นทุนที่ร้านค้าส่วนใหญ่มองว่าสูงเกินไป แม้ในช่วงวิกฤตโควิด-19 จะเป็นทางรอดสำคัญในการสร้างรายได้ให้เมื่อเปิดร้านไม่ได้

อย่างไรก็ตาม รัฐเองก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ โดยในการประชุมคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) ครั้งที่ 2/2564 เมื่อเร็ว ๆ นี้ “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์

เปิดเผยว่าที่ประชุมเห็นชอบให้มีการจัดตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาเรื่องที่เกี่ยวข้องกับแพลตฟอร์มฟู้ดดีลิเวอรี่ โดยจะพิจารณาค่า GP ที่ร้านอาหารต้องจ่ายให้แอปสั่งอาหาร เนื่องจากแต่ละแพลตฟอร์มคิดค่าบริการต่างกันจึงต้องพิจารณาเพื่อความเหมาะสม และให้เป็นธรรมกับทุกฝ่าย

“เรดโอเชียน” ฟู้ดดีลิเวอรี่

“มารุต ชุ่มขุนทด” ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท คลาส คอฟฟี่จำกัด แสดงความเห็นกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การเก็บค่าจีพี 30-35% ถือว่าสูงโดยเฉพาะช่วงโควิด

เพราะร้านอาหารไม่มีทางเลือกและจำเป็นต้องพึ่งพาฟู้ดดีลิเวอรี่เพื่อหารายได้ประคองธุรกิจ สิ่งที่รัฐบาลในต่างประเทศทำ เช่น อเมริกา ลดค่าจีพีจากปกติคิด 30% เหลือ 15% ส่วนไทยรัฐเองก็ควรมีมาตรการช่วยเหลือเพื่อไม่ให้เป็นการผลักภาระทั้งหมดไปยังเจ้าของแพลตฟอร์มอย่างเดียว

อย่างไรก็ตาม การที่ภาครัฐขอความร่วมมือแพลตฟอร์มฟู้ดดีลิเวอรี่ให้ลดค่าจีพีเหลือ 25% แล้วก็ยังถือว่าเป็นอัตราที่สูงเมื่อเทียบกับสถานการณ์ในขณะนี้ประกอบกับการแข่งขันในธุรกิจร้านอาหารเป็น “เรดโอเชียน”

เนื่องจากร้านต่าง ๆ ยกขึ้นไปแข่งกันบนแพลตฟอร์มเพื่อสร้างการมองเห็นก็จำเป็นต้องซื้อโฆษณาหรือจ่ายเงินสำหรับบริการเสริมต่าง ๆ เพื่อแลกกับยอดขาย

แนะรัฐไม่ผลักภาระให้ใคร

ผู้บริหารคลาส คาเฟ่ กล่าวด้วยว่า เมื่อภาครัฐมีมาตรการ “เวิร์กฟรอมโฮม” สนับสนุนให้คนอยู่บ้าน ก็ควรลดค่า “จีพี” แพลตฟอร์มฟู้ดดีลิเวอรี่ให้ร้านค้าต่าง ๆ จะเป็นเวลา 3

หรือ 6 เดือนก็ต้องทำเพื่อประคองให้ร้านผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปให้ได้ และมีนโยบายช่วยเหลือแพลตฟอร์มควบคู่ไปด้วย เพราะถ้าปล่อยให้ขาดทุนภาระก็จะตกอยู่กับผู้บริโภคในท้ายที่สุดอยู่ดี

“มารุต” ย้ำว่า ก่อนวิกฤตโควิด-19 ร้านค้าส่วนใหญ่จะมีเป้าหมายและแนวทางที่ชัดเจนว่าจะเลือกใช้แพลตฟอร์มฟู้ดดีลิเวอรี่หรืออีมาร์เก็ตเพลซเพื่อให้บรรลุเป้าหมายอะไร แต่เมื่อเกิดโควิดช่องทางไหนขายได้ก็ต้องลอง

“คลาส คาเฟ่เองก็ใช้ทุกแพลตฟอร์มเพื่อสร้างรายได้ ไม่เลือกแพลตฟอร์มแล้ว แต่สิ่งที่เกิดขึ้นต้องยอมรับว่ายอดขายฟู้ดดีลิเวอรี่ไม่สามารถทดแทนรายได้จากหน้าร้านที่หายไปเกือบ 70% ได้ เป็นแค่การช่วยประคองธุรกิจเท่านั้น”

บีบลดค่า “จีพี” ได้แค่ระยะสั้น

ด้าน “อเล็กซานเดอร์ เฟลเดอร์” ผู้ร่วมก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟู้ดแพนด้า (ไทยแลนด์) จำกัด ผู้ให้บริการดีลิเวอรี่แพลตฟอร์ม “ฟู้ดแพนด้า”กล่าวว่า รายได้หลักของธุรกิจฟู้ดดีลิเวอรี่มาจากการเก็บค่า “จีพี”

จากร้านอาหารและไรเดอร์ ขณะที่ต้นทุนหลักอยู่ที่การทำการตลาดผ่านแคมเปญต่าง ๆ เพื่อกระตุ้นการสั่งซื้อ หากมีการปรับลดค่าจีพีให้ร้านค้าเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนจากโควิด-19 ก็สามารถทำได้แค่ระยะสั้น ๆ

เพราะการลดค่าคอมมิสชั่นหมายถึงรายได้หลักลดลง ซึ่งจะส่งผลถึงการทำตลาดกับผู้บริโภคด้วย เป็นผลกระทบต่อกันเป็นระลอก ๆ

สำหรับร้านที่ไม่ต้องการจ่ายค่าจีพีก็มีทางเลือก เช่น ไลน์แมนมี non GP model คิดค่าส่งตามระยะทางจริง แต่โอกาสที่ลูกค้าจะมองเห็นร้านก็ลดลงเช่นกัน ส่วนรูปแบบ GP model เสียค่า GP 30% จากยอดขายรวมภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% เป็น 32.1% แต่ได้สิทธิประโยชน์ต่าง ๆ เช่น เข้าร่วมแคมเปญส่งเริ่มต้น 0 บาท โปรโมตร้าน เป็นต้น

หรือจะเข้าร่วมกับ “โรบินฮู้ด” (Robinhood) ฟู้ดดีลิเวอรี่แพลตฟอร์มที่ประกาศตัวแต่แรกว่าจะไม่เก็บค่าจีพีก็ได้

สิ่งที่ร้านค้าต้องเรียนรู้

อย่างไรก็ตาม “ธนา เธียรอัจฉริยะ” ประธานกรรมการ บริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด ผู้ให้บริการฟู้ดดีลิเวอรี่“โรบินฮู้ด” กล่าวว่า ฟู้ดดีลิเวอรี่เป็นเพียงสะพานเชื่อมระหว่างร้านค้ากับลูกค้าเข้าด้วยกัน

ซึ่งจะไม่สามารถแสดงร้านค้าที่มีเป็นหลักแสนรายให้ผู้บริโภคเห็นได้ทั้งหมด ดังนั้น ผู้ประกอบการต้องเรียนรู้รูปแบบการขายฟู้ดดีลิเวอรี่ด้วยเช่น การจัดอาหารให้มีหน้าตาและรสชาติเหมือนมาทานที่ร้าน หรือการทำดิจิทัลมาร์เก็ตติ้งต่าง ๆ เช่น การสร้างคอมมิวนิตี้ในโซเชียลมีเดียเพื่อเพิ่มช่องทางการเข้าถึงลูกค้า

“โรบินฮู้ดอาจมีฐานลูกค้าและจำนวนร้านค้าน้อยกว่า่เจ้าอื่น ๆ แต่ด้วยจุดแข็งที่ไม่เก็บค่า GP จึงเป็นข้อได้เปรียบ เพราะร้านค้าที่เข้าร่วมกับเราจะต้องคำนึงถึงการเพิ่มคุณภาพและปริมาณอาหารให้เหมาะสมกับราคา และรู้จักการทำการตลาดให้เป็นด้วยการสร้างแบรนดิ้งให้ตนเองไปพร้อมกัน”