คอลัมน์ Tech Times มัชฌิมา จันทร์สว่างภูวนะ
“เฟซบุ๊ก” เผชิญกับมรสุมครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 3 ปี ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา พายุลูกแรกเริ่มตั้งเค้าในวันที่ 13 กันยายน หลัง The Wall Street Journal ทยอยตีพิมพ์เอกสารที่ได้จากอดีตพนักงานของเฟซบุ๊กภายใต้ซีรีส์ “TheFacebook Files” ที่แฉว่าบริษัทรู้มาตลอดว่าแพลตฟอร์มของตนก่อให้เกิดปัญหาสังคม แต่ไม่คิดหาทางแก้ไข ทั้งปัญหาเฟกนิวส์ hate speech ไปจนถึงการเผยแพร่ค่านิยมที่ผิดเกี่ยวกับรูปลักษณ์
พายุลูกที่สอง คือ การที่ระบบของเฟซบุ๊ก ไอจี และ WhatsApp พร้อมใจกันล่มเป็นเวลาถึง 6 ชม.เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ถือว่าเป็นการล่มครั้งมโหฬารที่สุดในรอบ 13 ปี และส่งผลให้เฟซบุ๊กสูญรายได้จากการขายโฆษณาราว 110-120 ล้านเหรียญ หรือราว 0.4% ของรายได้ในไตรมาส 4 ของปีก่อน (ประเมินโดย Morningstar)
พายุทั้งสองลูกทำให้นักลงทุนแสดงความไม่พอใจจนส่งผลให้หุ้นเฟซบุ๊กร่วงไปแล้ว 12% ในเวลาแค่ 3 สัปดาห์ ระดับความโกรธเกรี้ยวของสังคมที่มีต่อเฟซบุ๊กครั้งนี้น่าจะอยู่ในสเกลเดียวกันกับที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในปี 2018 เมื่อพบว่าเฟซบุ๊กปล่อยให้ Cambridge Analytica เข้าถึงข้อมูลผู้ใช้งานกว่า 87 ล้านคนเพื่อให้ทีมงานโดนัลด์ ทรัมป์ ยิงโฆษณาได้ตรงกลุ่มเป้าหมายระหว่างหาเสียงปี 2016
คดี Cambridge Analytica ทำให้เฟซบุ๊กถูกปรับถึง 5 พันล้านเหรียญแต่พอข่าวซาลง เฟซบุ๊กกลับมาเฉิดฉายในฐานะโซเชียลมีเดียที่ทรงอิทธิพลที่สุดในโลกอีกครั้ง แถมปริมาณเฟกนิวส์ยังคงล้นหลามเช่นเดิม
คราวนี้ที่คนออกมาด่าเฟซบุ๊กอย่างหนัก เป็นผลมาจากการเผยแพร่เอกสารภายในที่คอนเฟิร์มว่าบริษัทรู้อยู่แก่ใจว่าแพลตฟอร์มของตนทำให้เกิดปัญหาสังคมมากมาย แต่ยังเดินหน้าหาเงินจากระบบต่อไปหน้าตาเฉย
ร้อนถึง ส.ว. “เอ็ด มาร์กี้” ต้องลุกขึ้นด่ากลางที่ประชุมของคณะอนุกรรมาธิการคุ้มครองผู้บริโภคของวุฒิสภาว่า เฟซบุ๊กทำตัวเหมือนบริษัทบุหรี่ที่ยัดเยียดสินค้าที่เป็นโทษต่อสุขภาพให้กับเยาวชน เพื่อจะหาเงิน
การกล่าวหาครั้งนี้มีน้ำหนัก เพราะผู้กล่าวหาเป็นอดีตพนักงานระดับผู้จัดการที่เพิ่งลาออกเมื่อเดือนพฤษภาคมนี่เอง
“ฟรานเชส เฮาเกน” ผู้เปิดเผยตัวครั้งแรกในรายการ 60 Minutes ในวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ทยอยส่งเอกสารเกี่ยวกับการวิจัยและการสื่อสารภายในของเฟซบุ๊กจำนวนหลายพันหน้าให้ The Wall Street Journal และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐ ตั้งแต่กลางเดือนก่อน
นอกจากให้สัมภาษณ์สื่อแล้ว เธอยังให้ข้อมูลกับคณะอนุกรรมาธิการคุ้มครองผู้บริโภคของวุฒิสภาว่า เฟซบุ๊กให้ความสำคัญกับการหารายได้มากกว่าความปลอดภัย และสุขภาพประชาชน
การให้ปากคำของฟรานเซสต่อคณะอนุกรรมาธิการได้รับความสนใจจากสื่อจำนวนมากจนเจ้าพ่อเฟซบุ๊กอย่าง มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ต้องออกมาปกป้องบริษัทเรื่องเห็นแก่เงินว่า เป็นข้อกล่าวหาที่ฟังไม่ขึ้น เพราะรายได้หลักมาจากการขายโฆษณาและคงไม่มีลูกค้าคนไหนอยากเห็นงานโฆษณาของตนอยู่ใกล้โพสต์ที่สร้างความเกลียดชังหรือเฟกนิวส์
และที่กลับมาอยู่ในความสนใจของสังคมอีกครั้งคือ โครงการไอจีสำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 13 ที่เคยทำให้อัยการจาก 44 รัฐต้องรวมตัวกันยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงมาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก เพื่อเรียกร้องให้หยุดโครงการดังกล่าว เพราะเกรงว่าจะส่งผลเสียและความปลอดภัยของเด็กที่ยังไม่มีวุฒิภาวะที่จะรับมือกับการถูกละเมิดความเป็นส่วนตัวบนแพลตฟอร์มออนไลน์ได้
พร้อมยกตัวเลขในปี 2020 ที่มีรูปเด็กโดนละเมิดทางเพศเผยแพร่ผ่านเฟซบุ๊กและอินสตาแกรมกว่า 20 ล้านรูป โดยที่เฟซบุ๊กไม่สามารถควบคุมได้
มรสุมครั้งล่าสุดทำให้บริษัทประกาศว่าจะหยุดเดินหน้าโครงการดังกล่าวแล้ว ซึ่งไม่มีข้อผูกมัดว่าจะไม่หยิบมาปัดฝุ่นใหม่หลังเรื่องเงียบลง แต่จากอดีตที่ผ่านชี้ให้เห็นแล้วว่าแรงกดดันจากสังคมอย่างเดียวทำอะไรเฟซบุ๊กไม่ได้
แต่หากมองอย่างมีความหวัง ข้อกล่าวหาครั้งนี้อาจนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงได้ การที่ทีมวิจัยของบริษัทเขียนในรายงานถึงผู้บริหารว่า “เราไม่ได้ทำในสิ่งที่เราบอกสังคมว่าเราจะทำ”
บวกกับเอกสารอีกหลายพันหน้าที่ฟรานเซสส่งให้ กลต. น่าจะเป็นระเบิดลูกใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นต่อบริษัทอย่างหนัก โดยเฉพาะสำหรับบริษัทมหาชนขนาดใหญ่ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แบบเฟซบุ๊ก
คำถาม คือ ผู้รักษากฎโดยเฉพาะบรรดานักการเมืองในสภาคองเกรสจะรับลูกแล้วเอาหลักฐานนี้มาจัดระเบียบบริการโซเชียลมีเดียอย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อสังคมต่อไป