เจาะกลยุทธ์โตสไตล์ “ยูทูบ” ปรับให้ทันผู้บริโภคเปลี่ยนเร็ว

“มุกพิม อนันตชัย” หัวหน้าฝ่ายพันธมิตร YouTube ประเทศไทย

ผลจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ได้เปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคอย่างรวดเร็ว โดยให้ความสำคัญกับออนไลน์มากขึ้น ส่งผลให้การทำธุรกรรมออนไลน์ทุกรูปแบบโตขึ้นยกแผง

ทั้งอีคอมเมิร์ซ โซเชียลมีเดียทั้งเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ ไลน์ TikTok รวมถึงแพลตฟอร์มวิดีโอคอนเทนต์ ยูทูบ (YouTube) ที่มียอดผู้ใช้บริการพรีเมี่ยมทั่วโลกพุ่งขึ้นถึง 50 ล้านราย

ต้องไล่ให้ทัน “ผู้บริโภค”

“มุกพิม อนันตชัย” หัวหน้าฝ่ายพันธมิตร YouTube ประเทศไทย กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า แม้โควิดจะส่งผลให้จำนวนคอนเทนต์ครีเอเตอร์และคนดูกลุ่มใหม่เพิ่มขึ้น

แต่ในฐานะแพลตฟอร์มออนไลน์ก็ยังต้องเผชิญกับความท้าทายที่ยากเช่นกัน นั่นคือการช่วงชิงความสนใจผู้บริโภค และเชื่อมโยงแพลตฟอร์มกับผู้ใช้บริการให้ได้ เพราะต้องยอมรับว่าพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนเร็ว

และยูทูบก็ต้องไล่ตามผู้บริโภคให้ทันด้วยการจับเทรนด์และแชร์ต่อไปยังครีเอเตอร์ เพื่อให้สามารถปรับตัวได้ทันกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

“คนหันมาให้ความสำคัญกับการรับสื่อผ่านออนไลน์มากขึ้น จำนวนแพลตฟอร์มก็เพิ่มขึ้น ทั้งเน็ตฟลิกซ์ ดิสนีย์พลัส เชื่อว่าแต่ละแพลตฟอร์มก็มีสิ่งที่ตอบโจทย์คนดูที่ต่างกันไป

ทำให้แพลตฟอร์มเหล่านี้มีพื้นที่ยืนของตนเอง แต่ในเชิงของผู้บริโภคมีเวลาแค่ 24 ชั่วโมงเท่าเดิม ดังนั้น ก็ต้องช่วงชิงพื้นที่ความสนใจให้ได้ ซึ่งเป็นความท้าทายของยูทูบด้วย”

เฟ้นครีเอเตอร์หน้าใหม่

ความท้าทายในเชิงธุรกิจสำหรับ “ยูทูบ”อาจไม่มีปัจจัยที่น่ากังวล เท่ากับความท้าทายในการไล่ตามพฤติกรรมผู้บริโภค ยิ่งเป็นแพลตฟอร์มออนไลน์แล้วทุกอย่างเร็วขึ้นมาก เป็นโจทย์หลักที่ “ยูทูบ”ต้องแก้ให้ได้

อย่างไรก็ตาม การเติบโตของ “ยูทูบ” ในไทย อิงกับจำนวนครีเอเตอร์ที่เพิ่มขึ้นซึ่งจำนวนครีเอเตอร์ที่เพิ่มขึ้น ยังสะท้อนด้วยว่า ผู้ใช้บริการในไทยให้ความสำคัญกับการใช้ยูทูบ

จึงมีแผนเพิ่มครีเอเตอร์ใหม่ ๆ ต่อเนื่อง หนึ่งในนั้นคือ “ครีเอเตอร์” รายเล็ก ๆ ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เช่น เรื่องการเย็บปักถักร้อย งานศิลปะ ตกปลา เป็นต้น

“ครีเอเตอร์กลุ่มเล็ก ๆ ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ยังไม่ค่อยได้รับความนิยมในไทย ปั้นยาก แต่ต้องหาให้เจอ และสอนเขา โดยยูทูบจะทำหน้าที่เป็น canvas เปิดโอกาสให้ทุกคนเข้ามาแบ่งปันประสบการณ์ของตัวเอง ซึ่งอาจบอกได้ยากว่า มีคนที่มีความเชี่ยญชาญเรื่องใดเรื่องหนึ่งอยู่ที่ไหนบ้าง แต่ต้องหาให้เจอ”

อีกหนึ่งกิจกรรมที่ส่งเสริมครีเอเตอร์คือ การจัด Creators Camp ซึ่งจัดต่อเนื่องทุกปี โดยปีนี้จัดขึ้นในเดือน ต.ค.นี้ เพื่อเปิดโอกาสให้ครีเอเตอร์หน้าใหม่ ๆ ที่มีช่องแล้ว และมีจำนวนผู้ติดตามเกิน 1,000 คนขึ้นไป เข้ามาเพิ่มทักษะความรู้เกี่ยวกับการวางกลยุทธ์ของคอนเทนต์ นักแสดงแห่เปิดช่องยูทูบทั่วโลก

ปัจจุบันมีช่องทีวี ผู้ผลิตคอนเทนต์ นักแสดง และนักร้อง เข้ามาเปิดช่องบนยูทูบมากขึ้น “มุกพิม” ชี้ว่าเป็นเทรนด์ที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก

“เราไม่สามารถเชิญให้บุคคลที่มีชื่อเสียงเหล่านี้มาเปิดช่องบนยูทูบเองได้ เนื่องจากการเปิดช่องบนยูทูบต้องอาศัยปัจจัยหลายอย่าง ทั้งความคิดสร้างสรรค์ การนำเสนอบางเรื่องก็เป็นเรื่องที่มีความเป็นส่วนตัวมาก ๆ ยูทูบคงไม่สามารถแนะนำครีเอเตอร์เหล่านี้ได้ แต่นักแสดง และนักร้องต้องการมี own media ของตนเอง เพื่อสื่อสารกับแฟนคลับมากขึ้น”

คีย์วัดความสำเร็จในไทย

สำหรับ “ยูทูบ” ในไทย แม้จะเปิดตัวมาแล้ว 6 ปี แต่อัตราการเติบโตในแง่ชั่วโมงในการดูไม่ได้ลดลง โดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 20% ทุกปี ถือว่าเป็นการเติบโตที่แข็งแรง และอีกตัววัดสำคัญ

คือจำนวนครีเอเตอร์ที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในช่วงที่โควิด-19 ตั้งแต่ปีก่อนลากยาวถึงปัจจุบันแม้อาจจะไม่มีตัวเลขที่ชัดเจน แต่เชื่อว่าด้วยพฤติกรรมคนที่เปลี่ยน

หันมาให้ความสำคัญกับออนไลน์มากขึ้นประกอบกับมาตรการล็อกดาวน์ ส่งผลให้จำนวนคนดู และคนที่ยังกล้า ๆ กลัว ๆ ที่จะเข้ามาเปิดช่องบนยูทูบตัดสินใจได้เร็วขึ้น

โดยมีจำนวนครีเอเตอร์ในช่องที่มีผู้ติดตามระดับเกิน 1 ล้านราย เพิ่มจาก 450 ช่องในปีที่ผ่านมา เป็น 650 ช่องในปีนี้ ส่วนช่องที่มีผู้ติดตาม 1 แสนราย จากปีก่อนมี 5,000 ช่อง เพิ่มเป็น 7,000 ช่องในปีนี้

“หากเฟ้นสูตรสำเร็จยูทูบในไทย แบ่งได้ 3 ส่วน คือ 1.มีคอนเทนต์บันเทิงที่ตอบจริตคนไทย 2.empower เป็นพื้นที่คนสามารถเข้ามาหาข้อมูลข่าวสารที่เชื่อถือได้ 3.พื้นที่ช่วยเพิ่มทักษะ”

โควิดเปลี่ยนพฤติกรรมคนดูวิดีโอ

สำหรับผู้บริโภคกลุ่มใหญ่ที่เข้ามาในยูทูบยังรับชมคอนเทนต์เอ็นเตอร์เทนเมนต์เป็นหลัก เช่น เพลง มิวสิกวิดีโอ คาราโอเกะ เป็นต้น ถือเป็นแม็กเนตสำคัญที่ทำให้บริการ “ยูทูบพรีเมี่ยม”เติบโตได้ดี

แต่อาจไม่มีตัวเลขเฉพาะเจาะจงในไทย แต่ปัจจุบันผู้ใช้บริการยูทูบทั่วโลกอยู่ที่ 50 ล้านราย มากกว่าเป้าหมายที่วางไว้ โดยกลุ่มหลักยังมีอายุเฉลี่ย 18-35 ปี เพราะเป็นกลุ่มที่คุ้นเคยกับเทคโนโลยี แต่กลุ่มที่เติบโตใน 2-3 ปีที่ผ่านมา คือ กลุ่มอายุ 45-55 ปี ขณะที่กลุ่มอายุ 65 ปีโตดีช่วงโควิด

ขณะที่ยอดอัพโหลดที่มาจากครีเอเตอร์และบรอดแคสเตอร์หน้าใหม่ ๆ ก็เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยปีนี้ยอดอัพโหลดโตขึ้น 80% ปัจจุบันมีคอนเทนต์ครีเอเตอร์เพิ่มขึ้นหลายสาขา

ทั้งการเงิน ธุรกิจบันเทิง นักแสดง นักร้อง และคนทั่วไปที่กล้าแสดงออกมากขึ้น สะท้อนออกมาเป็นประเภทของคอนเทนต์ที่พบว่ามีการรับชมเพิ่มขึ้นช่วงโควิด

โดยในปี 2563 พบว่า คนดูคอนเทนต์ใหม่ ๆ บนยูทูบเพิ่มขึ้น และคอนเทนต์ที่มีการเติบโต 3 อันดับแรก ได้แก่ 1.คอนเทนต์ออกกำลังกาย ปัจจัยหลักมาจากมาตรการล็อกดาวน์ โตถึง 80%

จากปี 2562 2.ทำอาหาร และขนม เพิ่มขึ้น 80% 3.คอนเทนต์เกี่ยวกับการซ่อมแซม และตกแต่งบ้าน โตขึ้น 70% และเมื่อต้นปีสำรวจอีกครั้ง เพื่อพิจารณาว่าความสนใจของผู้ใช้บริการเปลี่ยนไปหรือไม่

พบว่าคอนเทนต์การเงินยังโตต่อเนื่อง สูงถึง 100% จากปี 2563 มีครีเอเตอร์หน้าใหมด้านการเงิน เพิ่มขึ้น ตามด้วยคอนเทนต์ปลูกผัก โตขึ้น 50% และสารคดี มีคนดูเพิ่มขึ้น 45%

“สะท้อนได้ว่า ยูทูบเป็นพื้นที่ที่เข้ามาหาไอเดียใหม่ในช่วงวิกฤต จากวิถีชีวิตเปลี่ยนไป ทำให้เกิดคอนเทนต์ใหม่ ๆ แต่อาจต้องสำรวจอีกครั้งว่าถ้าเปิดประเทศแล้ว การดูคอนเทนต์จะเปลี่ยนไปอย่างไร”

ซัพพอร์ตภาษีอีเซอร์วิส

สำหรับการเข้ามากำกับดูแลของภาครัฐ ทั้งในส่วนพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (PDPA) และการเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) กับผู้ให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศ (e-Service)

และอิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์มต่าง ๆ นั้น “มุกพิม” บอกว่ายูทูบปฏิบัติตามกฎหมายไทยอยู่แล้ว โดยในส่วน พ.ร.บ. PDPA มีทีมดูแลโดยเฉพาะ เชื่อมั่นได้ว่าข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้บริการมีความปลอดภัยตามมาตรฐานเดียวกันกับหลายประเทศทั่วโลก

ส่วนกรณีภาษีอีเซอร์วิส ปัจจุบันยูทูบยังไม่เพิ่มราคาบริการพรีเมี่ยม โดยเป็นผู้สนับสนุนภาษี 7% ให้ผู้บริโภค ส่วนในอนาคตนั้นอาจต้องตัดสินใจร่วมกันทั้งอุตสาหกรรมจึงยังไม่สามารถให้คำตอบได้

“มุกพิม” ทิ้งท้ายว่า ยูทูบเป็นโอเพ่นแพลตฟอร์มที่ทุกคนเข้ามาเปิดช่องของตนเองได้ตลอดเวลา และต้องยอมรับว่ามีครีเอเตอร์จำนวนมากหมุนเวียนเข้าออกการหาครีเอเตอร์ใหม่ ๆ

เข้ามาเป็นอีกแรงหนุนสำคัญที่ทำให้ยูทูบยังสร้างการเติบโตได้ เพื่อตอกย้ำภาพจำในปัจจุบัน และอนาคตที่ต้องการเป็นวิดีโอคอนเทนต์ที่ให้ความรู้ เพิ่มทักษะใหม่ ๆ และเป็นประโยชน์กับคนไทยต่อไป