“ซี-บิทคับ” พัฒนาคนดิจิทัล ปักหมุดสร้างเศรษฐกิจใหม่

ซี-บิทคับ

โควิด-19 ทำให้รายได้จากอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่เป็นเครื่องยนต์หลักในการสร้างรายได้ให้ประเทศไทยต้องหยุดชะงัก ในทางกลับกันก็เป็นตัวเร่งให้เกิดเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหม่จากการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี

หนังสือพิมพ์มติชน จัดสัมมนาในโอกาสก้าวสู่ปีที่ 45 ภายใต้ชื่อ “สู่ศักยภาพใหม่ Thailand 2022” โดย 2 ใน 3 ผู้ที่มาร่วมเสวนาบนเวทีเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจและแนวทางการสร้างศักยภาพใหม่ของประเทศไทย มี 2 บริษัทยักษ์ใหญ่ในแวดวงเทคโนโลยี ได้แก่ ซีกรุ๊ป และบิทคับ

โดย ดร.ศรุต วานิชพันธุ์ ผู้อำนวยการ Sea ประเทศไทย ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ ช้อปปี้ การีน่า กล่าวว่า ในอนาคตเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจยังคงอยู่ที่อุตสาหกรรมท่องเที่ยว ส่งออก แต่อาจจะต้องกลับมาพิจารณาว่า จะปรับเปลี่ยนอย่างไร ให้เครื่องยนต์วิ่งได้ดีขึ้น เร็วขึ้น โดยนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ และในระยะยาวก็ต้องมองต่อไปว่า โลกกำลังเปลี่ยนไปอย่างไรและจะปรับตัวต่ออย่างไร

ดร.ศรุต วานิชพันธุ์
ดร.ศรุต วานิชพันธุ์ ผู้อำนวยการ Sea ประเทศไทย

อีสปอร์ตโอกาสใหม่

“ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา แม้ไทยต้องเผชิญวิกฤตโควิด แต่มูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัลก็ยังเติบโตได้ดี ติดอันดับ 2 ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เนื่องจากโควิดเร่งให้พฤติกรรมคนเปลี่ยน หันมาใช้เทคโนโลยีมากขึ้น ดังนั้นเมื่อสถานการณ์พร้อม หน้าที่ต่อไปคือ จะทำอย่างไร เพื่อผลักดันให้การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาต่อยอดสร้างโอกาสใหม่ ๆ”

ขณะเดียวกันจากข้อมูลจากสถาบัน IMD พบว่า ศักยภาพด้านเทคโนโลยีของประเทศไทยอยู่อันดับที่ 22 โดยเฉพาะในด้านการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตเคลื่อนที่ การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตใช้สาย และโครงสร้างพื้นฐานทางด้านโทรคมนาคม ซึ่งหากนำศักยภาพนี้มาส่งเสริมเอสเอ็มอีก้าวเข้าสู่คอมเมิร์ซ และให้สามารถส่งออกได้มากขึ้นก็จะกระตุ้นเศรษฐกิจได้อีกแรง เพราะปัจจุบันไทยมีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในไทย 3 ล้านราย แต่มีเพียง 3 หมื่นรายที่ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย ถือเป็นสัดส่วนที่น้อยมาก

นอกจากนี้ไทยยังสามารถนำศักยภาพด้านเทคโนโลยีนี้มาใช้พัฒนาอุตสาหกรรมอื่น ๆ ได้อีกมหาศาล โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอีสปอร์ต ซึ่งทุกภาคส่วนทั้งรัฐและเอกชนต้องช่วยกันอย่างชัดเจนในทุกมิติ ตั้งแต่การผลิต พัฒนาทักษะ จัดการแข่งขัน เพื่อสร้างรายได้ก้อนใหม่ให้แก่ประเทศ

เร่งพัฒนาคนดิจิทัล

ปัญหาสำคัญที่ทำให้ไทยยังพัฒนาไปได้ไม่ดีเท่าควร เพราะบุคลากรยังขาดทักษะด้านดิจิทัล ซึ่งภาครัฐต้องเข้ามาสนับสนุนในส่วนนี้ โดยที่ผ่านมา Sea ประเทศไทย ก็มองธุรกิจนี้เช่นกัน และพยายามช่วยสร้างอีโคซิสเต็มในประเทศไทยให้เติบโต เช่น การสร้างผู้เล่น ให้เติบโตเป็น proplayer

โดยร่วมมือกับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ทำหลักสูตรพัฒนาจากนักกีฬาสมัครเล่น ไปเป็นนักกีฬาอาชีพ มีการดึงการแข่งขันระดับนานาชาติเข้ามาจัดในประเทศไทย ให้เปลี่ยนจากเกมเมอร์ เป็นครีเอเตอร์ ของอีสปอร์ต มีการจัด Garena World ซึ่งเป็นมหกรรมอีสปอร์ตที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

อีกทั้งได้พัฒนาบุคลากรภายใต้ชื่อโครงการ Garena Academy ที่แนะแนวน้อง ๆ รุ่นใหม่ที่สนใจในอาชีพนี้ ซึ่งอุตฯอีสปอร์ตมีเม็ดเงินรวมกว่า 30,000 ล้านบาท เติบโตเฉลี่ย 10% ต่อเนื่องทุกปี เป็นอีกโอกาสที่จะทำให้ประเทศไทยมีรายได้จากธุรกิจใหม่เพิ่มขึ้น พร้อม ๆ ผลักดันให้ไทยกลายเป็นอีสปอร์ตฮับของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ขณะเดียวกัน “จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา” ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด กล่าวว่า การหาบุคลากรที่มีทักษะด้านเทคโนโลยี ทั้งบล็อกเชน AI ถือเป็นโจทย์ยาก เพราะที่ผ่านมาสถาบันการศึกษายังไม่สามารถสร้างบุคลากรที่มีทักษะตามที่ภาคธุรกิจต้องการได้ ซึ่งกว่าจะสอน สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับงาน ก็ต้องใช้ระยะเวลานาน ทำให้ต้องเรียนรู้ไปด้วย ทำงานไปด้วย โดยแนวทางนี้จะช่วยลดช่องทางนี้ลง

จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา
จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด

หาอีโคโนมีบิสซิเนสใหม่

“จิรายุส” กล่าวต่อว่า การระบาดของโควิด-19 ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เห็นธุรกิจที่ได้รับผลกระทบเป็นธุรกิจเดิม ๆ แต่บริษัทที่เป็นเศรษฐกิจใหม่ จะเป็นบริษัทที่เติบโตได้อย่างมหาศาล ซึ่งเป็นบริษัทที่นำเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้กับธุรกิจได้ ส่วนบริษัทที่ไม่สามารถนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาใช้ในธุรกิจได้ทันจะได้รับผลกระทบ

ทิศทางของประเทศไทยจากนี้ไปจะต้องเปลี่ยนตัวเองให้เป็นนิวอีโคโนมีบิสซิเนส ซึ่งภาคธุรกิจไม่ควรมีโมเดลธุรกิจแบบเก่า ควรนำกำไรมาลงทุนด้านเทคโนโลยี เพื่อให้ทรานส์ฟอร์มไปกับโลกที่เปลี่ยนแปลง เช่น เฟซบุ๊ก ได้เปลี่ยนชื่อบริษัทใหม่ และใช้เงินลงทุนกับธุรกิจที่เป็นโลกเสมือนจริง ซึ่งชัดเจนว่าโลกกำลังขับเคลื่อน web 3.0 ต่อจาก web 1.0 และ web 2.0 โดยมีโครงสร้างใหม่เรื่อง AI บล็อกเชน สินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งกำลังจะเกิดอีก 10 ปีจากนี้

“ประเทศไทยควรจะมองโอกาสใหม่ ๆ ไม่ควรพัฒนาบนสิ่งเก่า หรือแก้ไขปัญหาเดิม ควรหาอุตสาหกรรมอนาคตใหม่ ๆ โดยการจะเกิดสิ่งใหม่ได้จำเป็นต้องสร้างอีโคซิสเต็มขึ้นมา ซึ่งไม่สามารถทำเอง หรือคนใดคนหนึ่งทำได้ แต่ต้องทำร่วมกันในทุกภาคส่วน ทั้งผู้ประกอบการที่ต้องกล้าออกมาเปิดบริษัท และสร้างสิ่งใหม่เพิ่มขึ้น เล่นกับสิ่งที่เป็น web 3.0 ให้มากที่สุด”

“ฝั่งรัฐบาลก็ต้องออกกฎหมายที่สอดคล้องกับการสร้างสิ่งใหม่ขึ้น เป็นกฎหมายที่เข้าใจเทคโนโลยี เหมือนการออกกฎหมายให้คนไทยถือปืน ต่างชาติถือมีด แต่กฎหมายที่ผ่านมาเป็นการออกแบบคนไทยถือมีด แต่ต่างชาติถือปืน เดินหมากผิดมาตลอดในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา ทำให้เทคโนโลยีที่ผ่านมาในช่วง web 1.0 ถึง 2.0 เป็นของชาวต่างชาติเกือบทั้งหมด ซึ่งเชื่อว่าน่าจะมีแค่แอปพลิเคชั่นของธนาคารเท่านั้นที่เป็นของคนไทย เนื่องจากธุรกิจใหม่ ๆ นี้ถ้ามีผู้เล่นชนะเพียงแค่ 1 ราย เท่ากับว่าชนะได้ทั้งหมด”

เป้าหมายต่อไปของบิทคับ คือ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน web 3.0 เพราะเชื่อว่าถ้าสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอีก 10 ปีข้างหน้าจะเร็วมาก เร็วกว่าช่วง 50 ปีที่ผ่านมา

และเราก็ต้องสร้างโครงสร้างพื้นฐาน web 3.0 ให้เกิดขึ้นให้ได้ ซึ่งขณะนี้บิทคับมีศักยภาพเพียงพอ แต่ที่ยังไม่เกิดขึ้นเพราะยังทำไม่ได้ เนื่องจากกฎหมายตามไม่ทัน ซึ่งไทยจะต้องออกกฎหมายที่ทันต่อโลกและเทคโนโลยี อีกส่วนคือการเร่งพัฒนาบุคลากรและขยายองค์ความรู้เพิ่ม