ไอที-มือถือดิ้นสู้กำลังซื้อฝืด ลุยเงินผ่อน-โปรแรงแก้เกม

ไอที

ค้าปลีก “ไอที มือถือ” ดิ้นสู้กำลังซื้อกลุ่มกลาง-ล่างทรุดหนัก เร่งแก้เกม “เจมาร์ท” ผนึก “ซิงเกอร์-KB J Capital” ปูพรมสินเชื่อเงินผ่อน จัดทีมลงพื้นที่เจาะ “ตลาดนัด-ชุมชน” ขณะที่ “เจ.ไอ.บี” เดินหน้าอัดแคมเปญ “ดับเบิลเดย์” ยิงยาวทั้งปี กระตุ้นการตัดสินใจซื้อ “โนเกีย” ฮึดอัดโปรฯเสริมพลังช่องทางขาย ขณะที่ “คอปเปอร์ ไวร์ด” ลุ้นต่อ หลังหมดมาตรการ“ช้อปดีมีคืน”

แม้การแพร่ระบาดโควิด-19 เป็นแรงบวกผลักดันให้ดีมาน์ในกลุ่มสินค้าไอที และสมาร์ทโฟน เติบโตแต่ซัพพลายชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ขาดยังเป็นปัญหาทำให้ในบางจังหวะเกิดภาวะของขาด แต่ยังไม่เท่ากับปัญหาจากสภาพเศรษฐกิจที่เริ่มส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของผู้บริโภค แม้แต่สินค้าจำเป็นในวิถีนิว นอร์มอล ทำให้บรรดาแบรนด์รวมถึงผู้ประกอบการธุรกิจค้าปลีกสินค้าไอที สมาร์ทโฟนทั้งหลายต้องแก้เกมต่อเนื่อง

กำลังซื้อ Q1 ซึมหนัก

นายนราธิป วิรุฬห์ชาตะพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจมาร์ท โมบาย จำกัด กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กระแสเรียนและทำงานที่บ้านยังคงอยู่ทำให้ความต้องการในการซื้อสินค้าไอทีสมาร์ทโฟนต่าง ๆ จะยังมีแต่สิ่งที่ผู้ประกอบการต้องเผชิญในปีนี้มี

คือ 1.ปัญหากำลังซื้อที่ลดลง ดังจะเห็นได้จำนวนคนเข้ามาใช้บริการในร้านที่ตั้งอยู่ในศูนย์การค้าลดลงไม่คึกคักเท่าที่ควรแม้ในต้นปีจะมีหลายเทศกาลตั้งแต่ปีใหม่ตรุษจีน ต่อเนื่องมาถึงการมีแคมเปญ “ช้อปดีมีคืน” ก็ไม่ได้ทำให้ยอดขายของร้านภายในห้างสูงขึ้น

ปัจจัยถัดมา คือ ซัพพลายสินค้าขาด โดยเฉพาะในกลุ่มคอมพิวเตอร์, โน้ตบุ๊ก และแท็บเลตบางรุ่น ส่งผลให้ร้านไม่มีของขาย ซึ่งในส่วนของเจมาร์ทพยายามขยายช่องทางขายให้มีความหลากหลาย ปัจจุบันมีทั้งร้านในห้าง นอกห้าง และการขายผ่านเครือข่ายซิงเกอร์ ทำให้ยังรักษาระดับการเติบโตได้

“สัญญาณนี้เริ่มเห็นมาตั้งแต่ ธ.ค.ปีที่แล้ว มาเริ่มชัดเจนต้นปีนี้ ปัญหากำลังซื้อรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะในจังหวัดที่พึ่งพาการท่องเที่ยว เพราะเมื่อรายได้ท่องเที่ยวไม่ฟื้นกลับมา ก็ไม่ทำให้เกิดการจับจ่ายจึงประเมินว่าไตรมาส 1 ภาพรวมการขายสินค้าไอทีจะลดลงเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน”

จัดทีมลุยตลาดนัดปูพรมเงินผ่อน

ขณะเดียวกัน เจมาร์ทเพิ่มน้ำหนักการซินเนอร์ยี่กับบริษัทในเครือ และพาร์ตเนอร์มากขึ้น เช่น ร่วมกับเคบี เจ แคปปิตอล ผู้ให้บริการสินเชื่อ “KASH JOY” พร้อมกับจัดทีมเฉพาะออกไปหาลูกค้านอกห้าง

เช่น ตามตลาดนัด และพื้นที่ชุมชนต่าง ๆ ทั่วประเทศ เพื่อเจาะกลุ่มลูกค้าเงินผ่อนมากขึ้น รวมไปถึงมีโปรโมชั่นต่อเนื่อง ล่าสุดมีแคมเปญ “โน้ตบุ๊ก สเปกจัดเต็ม จ่ายดาวน์ 500 บาทไม่มีบัตรเครดิตก็รับเครื่องได้” ในฝั่งของการทำตลาดสมาร์ทโฟนก็มีแคมเปญจ่ายดาวน์ 500 รับเครื่องได้ ซึ่งจัดต่อเนื่องมาตั้งแต่ปีที่ผ่านมา

“เมื่อคนเดินห้างน้อย เราก็ต้องลงพื้นที่มากขึ้น ให้พนักงานออกไปจัดบูทตามตลาดนัด เพื่อหากลุ่มลูกค้าที่มีความต้องการซื้อ หรือบริการเปิดซิม และใช้เครื่องมือที่มี สินเชื่อเงินผ่อน ผ่อนโทรศัพท์มากระตุ้นให้เกิดการซื้อ คาดว่ารายได้จากการขายผ่านโปรแกรมเงินผ่อนในไตรมาส 1 ปีนี้ จะโตกว่าไตรมาส 4/2563 ที่มีมูลค่าอยู่ที่ 135 ล้านบาท”

นายนราธิปกล่าวว่า ทิศทางธุรกิจในปีนี้ จะเน้น 4 กลยุทธ์ คือ Gadget Destination เพิ่มสินค้าไอทีให้หลากหลายขึ้น หลังจากปีที่ผ่านมา นำโน้ตบุ๊ก และสินค้าไอโอทีเข้ามาเพิ่มเติม 2.Financial Destination ผลักดันยอดขายมือถือในกลุ่มสินเชื่อ ทั้งในส่วนของสินเชื่อ KB J Capital (Kashjoy)

และซิงเกอร์ 3.Digital Transformation จัดกิจกรรม JFIN Adoption โปรโมชั่น ลด แลก แจก JFIN ต่อเนื่อง ทั้งผ่านหน้าร้าน และเจมาร์ทสโตร์ออนไลน์ และ 4.Power of Synergy มีโมเดลซินเนอร์ยี่ช็อปและขายผ่านซิงเกอร์ โดยตั้งเป้ารายได้ปี 2565 จะโตขึ้น 50% หรือมีมูลค่า 12,500 ล้านบาท

“โนเกีย” อัดโปรฯต่อเนื่อง

นายภราดร รามบุตร ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ บริษัท เอชเอ็มดี โกลบอล จำกัด เจ้าของลิขสิทธิ์การจัดจำหน่ายสมาร์ทโฟน “โนเกีย” กล่าวว่า ภาพรวมตลาดสมาร์ทโฟน และสินค้าไอทีช่วงต้นปีค่อนข้างแผ่ว จากปัญหากำลังซื้อที่ลดลง เพราะสภาวะเศรษฐกิจ โดยเฉพาะตลาดกลาง และล่างได้รับผลกระทบชัดเจน ขณะที่กลุ่มบนยังมีช่องว่างในการเติบโต บริษัทจึงพยายามนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายเน้นความคุ้มค่าคุ้มราคา โดยมีสินค้าตั้งแต่ 2,000 บาท ถึง 7,000-8,000 บาท

และใช้งานได้นาน รวมเข้ากับการจัดโปรโมชั่นต่อเนื่องตลอดทั้งปี เพื่อกระตุ้นให้เกิดการซื้อในช่องทางจำหน่ายที่ขยายเพิ่มเติมให้ครอบคลุมยิ่งขึ้น โดยเฉพาะช่องทางโมเดิร์นเทรด และตัวแทนจำหน่ายทั่วประเทศจึงเชื่อว่าจะยังรักษาการเติบโตไว้ได้

เจ.ไอ.บี.จัดเซตคอมพ์ดีไอวาย

ด้านนายสมยศ เชาวลิต กรรมการผู้จัดการบริษัท เจ.ไอ.บี. คอมพิวเตอร์ กรุ๊ป จำกัด ผู้ดำเนินธุรกิจจัดจำหน่ายสินค้าไอทีครบวงจร กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า บริษัทมีการบริหารจัดการสต๊อกสินค้าอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับปัญหาซัพพลายขาดเริ่มคลี่คลาย ซึ่งถ้าจะยังมีปัญหาบ้างจะเป็นบางตัว เช่น การ์ดจอแต่ถือว่าอยู่ในระดับที่จัดการได้ ประกอบกับปีนี้ บริษัทมีแผนจัดแคมเปญ “ดับเบิลเดย์” ต่อเนื่องทุกเดือนในช่องทางขายออนไลน์ตั้งแต่เดือน 2.2 ไปจนถึง 12.12 หลังจากในปีที่ผ่านมาแคมเปญดังกล่าวสามารถกระตุ้นยอดขายให้โตขึ้นได้เป็นเท่าตัว

นอกจากนี้ ยังเตรียมจัดโปรโมชั่น “คอมโบเซ็ท คอมพิวเตอร์ประกอบเอง” หรือ DIY ที่มีราคาเริ่มต้นตั้งแต่ 15,000 บาทไปจนถึงหลักแสน เตรียมเปิดตัวปลายเดือนกุมภาพันธ์นี้ เพื่อกระตุ้นการตัดสินใจซื้อ

“ภาพรวมในแง่กำลังซื้อกลุ่มล่างอาจได้ผลรับผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจ แต่กลุ่มระดับกลางบน ซึ่งเป็นลูกค้าของเรายังคงมีการจับจ่าย เพราะสินค้าไอทีเป็นสินค้าจำเป็นทั้งในการเรียนและทำงานที่บ้าน จึงคาดว่ายอดขายของบริษัทจะยังคงเติบโตได้ ซึ่งเทียบต้นปีดีกว่าช่วงเดียวกันปีที่ผ่านมา”

กำลังซื้อกลุ่มกลาง-บนยังไหว

นายปรเมศร์ เหรียญเจริญสุข ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท คอปเปอร์ ไวร์ด จำกัด (มหาชน) ผู้ดำเนินธุรกิจค้าปลีกสินค้าไอที ภายใต้แบรนด์ดอทไลฟ์ (.life ), Ai และ iStudio by Copperwired กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การขายสินค้าไอทีและสมาร์ทโฟนที่เจาะตลาดกลุ่มกลางถึงบนยังคงมีการเติบโตที่ดี ทำให้คาดการณ์ว่ายอดขายในไตรมาสแรกจะเติบโตกว่าช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา

เนื่องจากแม้การระบาดของโควิด-19 จะยังคงอยู่แต่ผู้บริโภคปรับตัวได้มากขึ้น ทำให้บรรยากาศเริ่มผ่อนคลายกลับมาท่องเที่ยว และใช้ชีวิตนอกบ้านมากขึ้นส่งผลให้สินค้ากลุ่มดิจิทัลไลฟ์สไตล์ ทั้งสมาร์ทวอตช์, กล้องถ่ายภาพ เติบโตขึ้นกว่าในช่วง 2 ปีก่อนหน้านี้

“ภาพโดยรวมถือว่าดีกว่าช่วงเดียวกันปีก่อน ส่วนหนึ่งมาจากแคมเปญ ช้อปดีมีคืน ของภาครัฐทำให้ยอดขายเดือน ม.ค.ดี แต่ต้องจับตามองต่อว่าหลังหมดแคมเปญแล้วกำลังซื้อกลุ่มกลางบนและกลางจะเป็นอย่างไร ส่วนกลุ่มกลางลงล่างคาดว่ากำลังซื้อลดลงจากปัญหาเศรษฐกิจ แต่สินค้าไอทียังเป็นสินค้าจำเป็น ทำให้ดีมานด์ยังมี คิดว่าหลายแบรนด์ ๆ คงพยายามพัฒนาดีไวซ์ที่มีฟังก์ชั่นครบ แต่ราคาคุ้มค่าออกมาจับตลาดนี้”

ซัพพลายขาดกระทบการขาย

นางสาวสุธิดา มงคลสุธี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซินเน็ค (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ตั้งแต่ต้นปีภาพรวมสินค้าไอทีกลับมาเติบโตขึ้น เนื่องจากมีหลายเทศกาลทั้งมีแคมเปญช้อปดีมีคืนช่วยกระตุ้นกำลังซื้อกลุ่มกลาง บนมากขึ้น

ขณะที่กำลังซื้อกลุ่มกลาง ล่างยังไม่สามารถประเมินได้ชัดเจนว่า กำลังซื้อมีปัญหาหรือไม่ เนื่องจากซัพพลายสินค้าขาด โดยเฉพาะกลุ่มดีไวซ์ที่เจาะตลาดล่าง แต่คาดว่าปัญหาน่าจะคลี่คลายในช่วงกลางปีจึงจะเห็นภาพชัดเจน