อะโดบี เปิดผลวิจัยปี’65 ชี้องค์กรเอเชียขาดแคลนคนดิจิทัล

อะโดบี เปิดผลศึกษาเทรนด์ดิจิทัลเอเชียปี’65 พบ คนใช้โทรศัพท์มือถือรายใหม่ทะลุ 130 ล้านคน โดย 1 ใน 3 เป็นผู้ใช้บริการดิจิทัลครั้งแรกจากวิกฤตโควิด ขณะที่ปัญหาสำคัญของเอเชีย คือ การขาดแคลนคนที่มีทักษะดิจิทัล แนะเร่งเพิ่มทักษะ เพิ่มขีดความสามารถด้านนวัตกรรม

วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2565 นายดันแคน อีแกน รองประธานฝ่ายการตลาดด้านประสบการณ์ดิจิทัลของอะโดบี ประจำภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกและญี่ปุ่น กล่าวว่า จากรายงานเทรนด์ดิจิทัลใน APAC ประจำปี 2565 ของอะโดบี (2022 Digital Trends: APAC in Focus)

ด้วยการสำรวจความคิดเห็นของผู้บริหารระดับสูง บุคลากรฝ่ายไอทีและฝ่ายการตลาด 943 คน เก็บข้อมูลช่วงเดือนพฤศจิกายน 2564-เดือนมกราคม 2565 พบว่า ธุรกิจในเอเชีย-แปซิฟิก สามารถรับมือกับการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของลูกค้ารายใหม่ผ่านช่องทางดิจิทัลในช่วง 18 เดือนที่ผ่านมาได้ดีถึง 77% และมีองค์กรธุรกิจเพียง 25% ที่เชื่อว่ามีข้อมูลเชิงลึกที่สำคัญเกี่ยวกับกลุ่มลูกค้าใหม่ที่เน้นการใช้ช่องทางดิจิทัลเป็นหลัก

คนใช้โทรศัพท์มือถือพุ่ง 130 ล้านคน

สำหรับปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อพฤติกรรมออนไลน์รูปแบบใหม่ คือ จำนวนผู้ใช้โทรศัพท์มือถือรายใหม่ที่เกิดขึ้น 130 ล้านคนในเอเชีย-แปซิฟิก โดยเริ่มใช้งานอินเทอร์เน็ตเป็นครั้งแรกในปี 2564 ซึ่งเฉพาะแค่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภูมิภาคเดียว พบว่า กว่า 1 ใน 3ของผู้ใช้บริการดิจิทัลทั้งหมดเริ่มต้นใช้บริการดิจิทัลเป็นครั้งแรก เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ส่งผลให้ผู้ใช้หน้าใหม่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด และมีการปรับใช้พฤติกรรมออนไลน์ระดับสูงอย่างรวดเร็ว เช่น การใช้บริการชำระเงินผ่านมือถือ เป็นต้น

นายสก็อต ริกบี้ ประธานที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยีของอะโดบีเอเชีย-แปซิฟิกและญี่ปุ่น กล่าวว่า จากรายงานฉบับนี้ยังพบว่า แนวโน้มการลงทุนด้านไอทีขององค์กรธุรกิจในเอเชีย-แปซิฟิกเปลี่ยนไป โดยมีแนวโน้มจะลงทุนด้านไอทีเพิ่มขึ้น10% จากปีก่อน และองค์กรที่มีการลงทุนด้านไอทีจะมีความคล่องตัวและมีผลประกอบการที่ดีขึ้น เมื่อเทียบกับองค์กรที่ไม่ลงทุนด้านไอที

นอกจากนี้จากรายงานผลการศึกษา ระบุว่า 83% ของผู้บริหารองค์กรธุรกิจในเอเชีย-แปซิฟิกรู้สึกกังวลว่าองค์กรของตนยังขาดทักษะที่จำเป็น และบุคลากรยังขาดทักษะด้านดิจิทัล ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญที่สุดในการนำเสนอประสบการณ์ดิจิทัล เช่นเดียวกับปัญหาเรื่องการบูรณาการที่ไร้ประสิทธิภาพระหว่างระบบและเทคโนโลยีต่าง ๆ เนื่องจากองค์กรในเอเชีย-แปซิฟิก ยังไม่สามารถใช้ประโยชน์จากการดึงดูดบุคลากรที่มีทักษะสูง และการรักษาพนักงานที่มีอยู่

อีกทั้งรายงานของอะโดบีชี้ว่า ผู้บริหารในเอเชีย-แปซิฟิก 55% คาดว่าการทำงานแบบไฮบริดจะกลับเข้าสู่ระดับก่อนหน้าที่จะเกิดการแพร่ระบาด หรือต่ำกว่านั้น และมีเพียง 36% เท่านั้นที่มีแผนว่าจ้างพนักงานที่ทำงานจากที่บ้านมากกว่าช่วงก่อนการแพร่ระบาด ด้วยข้อจำกัดเรื่องจำนวนบุคลากรดิจิทัลทั่วโลก การที่องค์กรไม่สนับสนุนการใช้รูปแบบการทำงานจากที่บ้านย่อมจะบั่นทอนความสามารถในการดำเนินการ และทำให้เกิดความล่าช้ามากยิ่งขึ้นในการปรับเปลี่ยนธุรกิจสู่ดิจิทัล (Digital Transformation)

“84% ขององค์กรในเอเชีย-แปซิฟิกคาดการณ์ว่า อัตราความเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีและสังคมจะยังคงดำเนินต่อไปในระดับที่เท่าเดิมหรือสูงกว่า ดังนั้นการปรับปรุงทักษะ ความคล่องตัว และการสร้างสรรค์นวัตกรรมที่จำเป็นเพื่อก้าวให้ทันกับความเปลี่ยนแปลง เป็นหนึ่งในภารกิจสำคัญสูงสุดขององค์กร”

เอเชียขาดแคลนคนดิจิทัล

นายสก็อตกล่าวต่อว่า จากการตรวจสอบอย่างละเอียดเกี่ยวกับองค์กรธุรกิจในออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ เอเชีย และอินเดีย พบว่าแต่ละประเทศหรือภูมิภาคมีโอกาสและปัญหาท้าทายที่แตกต่างกัน สำหรับออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ซึ่งมีความก้าวหน้าทางด้านดิจิทัลมากกว่า พบว่าการลดความซับซ้อนของเทคโนโลยีถือเป็นภารกิจสำคัญสำหรับองค์กรธุรกิจ 1 ใน 3 แห่ง ซึ่งอยู่ในระดับที่สูงกว่ามากเมื่อเทียบกับเอเชีย13%และอินเดีย 24%

อย่างไรก็ดี องค์กรธุรกิจในอินเดียมีแนวโน้มที่จะพบเจอกับพฤติกรรมใหม่ ๆ ของลูกค้าดิจิทัล เนื่องจากมีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตรายใหม่เพิ่มมากขึ้น องค์กรเหล่านี้จึงมุ่งเน้นการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อนำเสนอประสบการณ์ให้แก่ลูกค้ามากกว่าประเทศอื่น ๆ ในเอเชีย-แปซิฟิก

นอกจากนี้จำนวนบุคลากรในอินเดียที่เชื่อว่าตนเองมีความสามารถในการสร้างสรรค์นวัตกรรมและการทำงานร่วมกับทีมเทคโนโลยีก็อยู่ในระดับที่สูงกว่าประเทศอื่น ๆ ด้วยเช่นกัน

องค์กรธุรกิจในเอเชียระบุว่า ปัญหาการขาดแคลนทักษะคืออุปสรรคสำคัญที่สุด ดังนั้นจึงให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะเป็นอย่างมาก และเมื่อเปรียบเทียบกับบุคลากรจากออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ และอินเดีย พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามในเอเชียมองเห็นช่องว่างในการปรับปรุงขีดความสามารถด้านการสร้างสรรค์นวัตกรรม และการกลั่นกรองข้อมูลเชิงลึกของลูกค้า