จับตางานหิน อิลอน มัสต์ หลังเทกโอเวอร์ ทวิตเตอร์

Photo by Amy Osborne / AFP
คอลัมน์ : Tech Times
มัชฌิมา จันทร์สว่างภูวนะ

ทำไมการเข้าซื้อทวิตเตอร์ของอิลอน มัสต์ ถึงกลายเป็นเรื่องใหญ่ ทั้ง ๆ ที่ทวิตเตอร์ไม่ได้เป็นบริษัทที่มีผลประกอบการโดดเด่น หรือมีฐานผู้ใช้งานมากมายอะไรนักเมื่อเทียบกับโซเชียลมีเดียรายอื่น อย่างเฟซบุ๊ก หรือ TikTok

ทวิตเตอร์ดู “ธรรมดา” มากในแง่ของตัวเลข บริษัทมีผู้ใช้งานราว 217 ล้านคน หรือ 1 ใน 10 ของเฟซบุ๊ก

แม้จะขายโฆษณาเป็นรายได้หลักเหมือนโซเชียลมีเดียรายอื่น แต่มีรายได้เพียงแค่ 5 พันล้านเหรียญต่อปีเทียบกับ 2.57 แสนล้านเหรียญของกูเกิล และ 1.17 แสนล้านเหรียญของเฟซบุ๊ก บริษัทมี market cap ที่ 3.6 หมื่นล้านเหรียญ ขณะที่กูเกิลมีมูลค่าสูงถึง 1.7 ล้านล้านเหรียญ เฟซบุ๊กมีมูลค่าอยู่ที่ 5.38 แสนล้านเหรียญ

เมื่อมองจากมุมของนักลงทุนที่หวังผลกำไรแล้ว หลายคนยังสงสัยว่า อิลอน มัสต์ ต้องการอะไรจากการทุ่มเงินกว่า 4.4 หมื่นล้านเหรียญเพื่อซื้อทวิตเตอร์ ซึ่งเป็นราคาที่สูงกว่าราคาตลาดถึง 38%

แถมเงินที่เอามาเทกโอเวอร์ยังเป็นเงินกู้ ที่มีภาระดอกเบี้ยผูกพันมหาศาล แม้จะมีเงินทองมากมายเพราะเป็นถึงบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในโลก แต่ก็ยังเป็นนักธุรกิจที่ต้องทำ “ธุรกิจ” หา “กำไร”

โจทย์ที่หินมาก ๆ สำหรับอิลอน มัสต์ ในตอนนี้ คือ เขาจะทำให้ทวิตเตอร์เป็นแพลตฟอร์มที่มีกำไร หรืออย่างน้อยก็คุ้มค่าเงินลงทุนที่จ่ายไปได้อย่างไร

มองในแง่ดี การได้ครอบครองโซเชียลมีเดียอย่างทวิตเตอร์อาจส่งผลดีต่อธุรกิจอื่น ๆ ในอาณาจักรของเขาก็เป็นได้

แม้ทวิตเตอร์จะมีฐานลูกค้าและรายได้น้อยนิดเมื่อเทียบกับคู่แข่ง แต่ทวิตเตอร์เป็นแพลตฟอร์มที่ทรงอิทธิพลอย่างมากในการกำหนดเทรนด์ วาทกรรม และประเด็นทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองทั้งในระดับประเทศและระดับสากล จนมีคนบอกว่า “Influencers are on TikTok, world leaders are on Twitter”

นอกจากผู้นำโลกแล้ว ทวิตเตอร์ยังเป็นสังคมออนไลน์ที่คลาคล่ำไปด้วยนักคิด นักเขียน นักวิทยาศาสตร์ สื่อมวลชน ที่ล้วนเป็นผู้ทรงอิทธิพลทางความคิดต่อโลกปัจจุบัน นอกจากนี้ ยังเปรียบเสมือนแหล่งรวบรวมข่าวสารสำหรับผู้คนจำนวนมาก

Pew Research Center ระบุว่า กว่า 2 ใน 3 ของผู้ใช้ทวิตเตอร์ในอเมริกามองว่าทวิตเตอร์ คือ แหล่งข้อมูลข่าวสารที่สำคัญมาก

อิลอนบอกว่า เขาต้องการทำให้ทวิตเตอร์เป็นแพลตฟอร์มที่เปิดกว้างสำหรับทุกคน เพราะเสรีภาพในการพูดและแสดงความคิดเห็นเป็นหลักการพื้นฐานที่สำคัญยิ่งต่อสังคมประชาธิปไตย

แต่การเข้าเทกโอเวอร์ทวิตเตอร์ของเขากลับไม่ได้รับความชื่นชมจากนักวิเคราะห์ นักกฎหมาย และผู้คุมกฎทั่วโลก ที่มองว่าการที่มหาเศรษฐีอย่างอิลอน มัสต์ซื้อแพลตฟอร์มที่ทรงอิทธิพลได้ในชั่วข้ามคืนอาจเป็นสัญญาณอันตรายต่อเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นในอนาคต

เพราะการที่อิลอนต้องการนำทวิตเตอร์ออกจากตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่มีกฎระเบียบว่าด้วยการเปิดเผยข้อมูลและความโปร่งใส หมายความว่าทวิตเตอร์จะกลายเป็นแพลตฟอร์มที่ตรวจสอบยากขึ้น

อิลอนยังแสดงทีท่าว่าอาจเข้ามาปรับเปลี่ยนมาตรการว่าด้วยการตรวจสอบคอนเทนต์บนทวิตเตอร์เพื่อไม่ให้เกิดการ “ปิดกั้น” การแสดงความคิดเห็นอย่าง “เสรี”

หากเป็นเช่นนั้นจริง หลายฝ่ายกลัวว่าจะเป็นการปลุกผีผู้ใช้งานที่เคยโดนแบนให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง รวมถึง โดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐ ผู้เป็นเจ้าของทวิตหลายข้อความที่หลายฝ่ายมองว่าสร้างความเกลียดชังและความแตกแยกอย่างหนักในสังคม

อย่างไรก็ตาม การลดความเข้มข้นในการตรวจสอบคอนเทนต์อาจส่งผลดีต่ออิลอน มัสต์ ทั้งในแง่ของการกระชับความสัมพันธ์กับกลุ่มนักการเมืองฝั่งขวา และการใช้ทวิตเตอร์เป็นกระบอกเสียงในการโปรโมตธุรกิจในเครือไปพร้อม ๆ กับใช้มันเป็นแต้มต่อในการเจรจาต่อรองทางธุรกิจในประเทศอื่น ๆ ด้วย (เช่น จีน ที่หมั่นเขี้ยวทวิตเตอร์มานาน และขณะเดียวกันก็เป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของ Tesla ด้วย)

กระนั้น ข้อดีเหล่านี้ ก็ไม่อาจบดบังความจริงที่ว่า ทวิตเตอร์เป็นแพลตฟอร์มที่มีปัญหาในการทำกำไร

ปีเตอร์ คัฟกา คอลัมนิสต์ Vox วิเคราะห์ว่า แม้จะมีผู้นำโลกมากองรวมกันอยู่บนทวิตเตอร์ แต่มันไม่ได้ช่วยให้บริษัทดึงดูดเม็ดเงินโฆษณาได้มากเท่าคู่แข่ง เพราะทวิตเตอร์มีอัตราการขยายฐานผู้ใช้งานน้อยมาก น้อยจนถึงขั้นที่บริษัทต้องหยุดรายงานตัวเลขผู้ใช้งานไปตั้งแต่ปี 2019

อิลอนจึงเหลือทางเลือกไม่มากนักในการทำเพิ่มมูลค่าให้ทวิตเตอร์ เช่น ลดต้นทุนด้วยการปลดพนักงานบางส่วน หรือเพิ่มค่าโฆษณา หรือคิดเงินค่าสมาชิก ซึ่งล้วนไม่ใช่ทางออกที่ดีนัก

แม้อิลอนจะมั่นใจว่า การปั้นให้ทวิตเตอร์เป็นบริษัทที่มั่งคั่งไม่เหนือบ่ากว่าแรง แต่นักลงทุนกังวลว่า อิลอนจะเอาเวลาไปทุ่มให้ทวิตเตอร์มากเกินไป หรือขายหุ้นในธุรกิจหลักอย่าง Tesla เพื่อเอาเงินไปโปะซื้อทวิตเตอร์ ทำให้หุ้น Tesla ร่วงไปถึง 12.2% ส่งผลให้มูลค่าบริษัทในตลาดหุ้นลดไปกว่า 1.25 แสนเหรียญในพริบตา

แม้จะขึ้นชื่อว่าเป็นนักธุรกิจอัจฉริยะ แต่การเป็นคนชอบล้วงลูกและไม่ค่อยปล่อยวางให้คนอื่นบริหารแทน ก็ทำให้นักลงทุนกังวลว่า อิลอน มัสต์ จะหาเวลาที่ไหนมาบริหารธุรกิจขนาดใหญ่ถึง 5 บริษัท ทั้ง Tesla, SpaceX, The Boring Company, Neuralink และทวิตเตอร์ ไปพร้อมกันโดยไม่เพลี่ยงพล้ำไปเสียก่อน