พัทยารื้อแผนวางท่อแก้น้ำท่วม เลี่ยงไฮสปีดซ้ำรอยอุโมงค์ กทม.

ขุดท่อระบายน้ำ

“นายกเมืองพัทยา” สั่งรื้อแผนแก้น้ำท่วม เร่งปรับเส้นทาง-วางท่อใหม่อ้อมแนวรถไฟฯ เลี่ยงปัญหาทับซ้อนไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบิน หลังผู้รับสัมปทานปักหมุดเลือกจุดที่ตั้งสถานีรถไฟฟ้าพัทยาชัดเจนแล้ว เผยโครงการต้องล่าช้า งบประมาณบานปลาย ซ้ำรอยอุโมงค์เจ็ดชั่วโคตรสี่แยกไฟฉาย

นายปรเมศวร์ งามพิเชษฐ์ นายกเมืองพัทยา เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ได้มีการปรับแผนแก้ปัญหาน้ำท่วมเมืองพัทยา โดยปรับแนวเส้นทางใหม่ในการวางท่อระบายน้ำเลียบทางรถไฟ เพื่อให้น้ำระบายลงสู่คลองนาเกลือและทะเล

เจอตอม่อไฮสปีดเทรน

เนื่องจากติดปัญหาทับซ้อนแนวเส้นทางรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ซึ่งเป็นโครงการใหม่ที่มีแผนจะก่อสร้างเป็นสถานีพัทยาในอนาคต เพราะไม่สามารถกำหนดจุดที่ตั้งของสถานีได้ชัดเจน หลังเมืองพัทยาได้กำหนดวางท่อระบายน้ำตามแผนงานแล้วเสร็จ

ปรากฏว่าแนวเกิดซ้อนกัน จึงตัดปัญหาด้วยการปรับแนวใหม่ โดยวางท่อระบายน้ำอ้อมตอม่อสถานีไฮสปีดเทรน ส่งผลให้โครงการแก้น้ำท่วมเมืองพัทยาล่าช้า และต้องจัดสรรงบประมาณเพิ่มอีก 50 กว่าล้านบาท

“ช่วงที่กำลังทำโครงการวางท่อฯ โปรเจ็กต์รถไฟความเร็วสูง สถานีพัทยายังไม่ได้มีการปักหมุดสถานที่แน่ชัด หลังวางท่อระบายน้ำลงเส้นทางสู่คลองนาเกลือและทะเลแล้ว ล่าสุดได้รับการยืนยันมาว่า จะมีการสร้างสถานีรถไฟความเร็วสูงบนเส้นทางดังกล่าว” นายปรเมศวร์กล่าวและว่า

แผนแก้ไขปัญหาน้ำท่วมเมืองพัทยาดำเนินงานมาตั้งแต่ปี 2561 ใช้งบประมาณปี 2562 ปัจจุบันใช้งบฯไปแล้ว 2,000 ล้านบาท ด้วยการตั้งงบประมาณแต่ละปีประมาณ 2,500 ล้านบาท

งานหลักคือการจัดทำโครงการวางท่อระบายน้ำเลียบทางรถไฟ ระยะทาง 5 กิโลเมตร ใช้งบประมาณ 600 กว่าล้านบาท

ปัจจุบันดำเนินการไปแล้ว 3.8 กิโลเมตร เหลือระยะทางอีก 1.2 กิโลเมตร หลังโครงการแล้วเสร็จจะรับน้ำได้ 50-60 มิลลิเมตร พร้อมระบายน้ำลงสู่คลองนาเกลือและทะเล

ครม.ไฟเขียวงบ 2.6 หมื่นล้าน

ก่อนหน้านี้กรมโยธาธิการและผังเมืองและคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำ ได้เสนอการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมของเมืองพัทยาและคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ ซึ่งการสำรวจพบว่า การแก้ปัญหาน้ำท่วมทั้งระบบต้องใช้งบประมาณถึง 26,000 ล้านบาท ด้วยการขุดอุโมงค์น้ำ เพื่อให้น้ำไหลลงทะเล

แต่ปัญหาคือ ครม.อนุมัติโครงการแล้ว แต่ไม่มีงบประมาณให้ โดยให้ทางเมืองพัทยากู้เงินทำโครงการเองทั้งหมด เมืองพัทยาจึงเลือกแก้ไขปัญหาด้วยการเพิ่มเส้นทางการระบายน้ำตามแนวที่เหมาะสม

ติดเงื่อนไขต้องกู้จ่าย ดบ.10%

“การกู้เงินมีเงื่อนไขต้องจ่ายดอกเบี้ย 10% ของงบประมาณรายได้ทั้งหมดในแต่ละปี ซึ่งงบประมาณของเมืองพัทยาอยู่ที่ประมาณ 1,700 ล้านบาท ฉะนั้นต้องใช้เงิน 170 ล้านบาทในการจ่ายดอกเบี้ยแต่ละปี ผมมองว่าไม่คุ้มค่า”

จากรายงานข่าวพบว่า โครงการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมทั้งระบบเมืองพัทยา ครม.มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 23 ก.พ. 2564 กรอบวงเงิน 26,000 ล้านบาท ประกอบด้วยระยะเร่งด่วน วงเงิน 9,500 ล้านบาท ระยะกลาง 7,500 ล้านบาท และแผนระยะยาว 9,000 ล้านบาท

ทั้งโครงการจะรองรับปริมาณน้ำฝนได้ไม่น้อยกว่า 128 มม./วัน และเมืองพัทยาต้องบริหารจัดการน้ำให้ได้ 60-80 มม. ซึ่งอยู่ในศักยภาพที่บริหารจัดการได้

แผนแก้ปัญหาน้ำท่วมและการระบายน้ำเมืองพัทยาและพื้นที่ต่อเนื่องจะเป็นการปรับปรุงระบบระบายน้ำสายหลักและสายรอง, ปรับปรุงคลอง ระบบระบายน้ำริมทางรถไฟ, ก่อสร้างอุโมงค์ ท่อรวม และขนส่งน้ำ

เปิดแผนแก้น้ำท่วมทั้งระบบ

การปรับปรุงและก่อสร้างท่อระบายน้ำสายหลักและสายรอง วงเงิน 26,000 ล้านบาท แบ่งตามพื้นที่ลุ่มน้ำ 3 กลุ่ม ได้แก่ 1.พื้นที่ลุ่มน้ำย่อยเมืองพัทยา (เมืองพัทยา เทศบาลเมืองหนองปรือ และเทศบาลตำบลนาจอมเทียน) พื้นที่ 43 ตร.กม. ค่าก่อสร้าง 17,140 ล้านบาท

2.พื้นที่ลุ่มน้ำย่อยคลองนาเกลือ-ห้วยมาบประชัน และคลองกระทิงลาย (เมืองพัทยา เทศบาลเมืองหนองปรือ และเทศบาลตำบลหนองปลาไหล) พื้นที่ 118 ตร.กม. ค่าก่อสร้าง 7,160 ล้านบาท

3.พื้นที่ลุ่มน้ำย่อยห้วยใหญ่ (เทศบาลตำบลห้วยใหญ่ และเทศบาลตำบลนาจอมเทียน) พื้นที่ 64 ตร.กม. ค่าก่อสร้าง 1,700 ล้านบาท

โรดแมประยะเร่งด่วน 1-5 ปี มีดังนี้ 1.พื้นที่ระบายน้ำกลุ่มพัทยาใต้ วงเงิน 5,300 ล้านบาท ระยะดำเนินการ 5 ปี โดยมีโครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำหลัก วงเงิน 4,233 ล้านบาท ระยะเวลาก่อสร้าง 5 ปี

และโครงการก่อสร้างระบบระบายน้ำหลักส่วนต่อเชื่อม 1,067 ล้านบาท เวลาก่อสร้าง 4 ปี 2.พื้นที่ระบายน้ำกลุ่มพัทยาเหนือ-พัทยากลาง 1,700 ล้านบาท ระยะก่อสร้าง 4 ปี แบ่งเป็นโครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำหลัก 1,400 ล้านบาท สร้าง 4 ปี และโครงการก่อสร้างระบบระบายน้ำหลักส่วนต่อเชื่อม 300 ล้านบาท ใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี

3.พื้นที่ระบายน้ำกลุ่มเทพประสิทธิ์ วงเงิน 2,000 ล้านบาท รวม 4 ปี โครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายหนัก 1,900 ล้านบาท โครงการก่อสร้างระบบระบายน้ำหลักส่วนต่อเชื่อม 100 ล้านบาท 4.พื้นที่การระบายน้ำกลุ่ม รพ.บางละมุง วงเงิน 500 ล้านบาท เป็นต้น

“จริง ๆ แล้วเรื่องปัญหาน้ำท่วมเกิดขึ้นไม่กี่ครั้งที่รุนแรง มีครั้งเดียวที่กลายเป็นภาพจำ วันนั้นฝนตกหนัก พัทยาเกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่ แล้วมีรถลอยน้ำ ทำให้คนกลัวและตื่นตัว”

ปัญหาซ้ำรอยอุโมงค์ กทม.

ทั้งนี้ สถานการณ์ที่เกิดขึ้นของสิ่งก่อสร้างในเมืองพัทยา ไม่ต่างจากโครงการของกรุงเทพมหานคร (กทม.) โดยเฉพาะโครงการทางลอดถนนจรัญสนิทวงศ์กับถนนพรานนก หรือ “อุโมงค์แยกไฟฉาย” งบฯก่อสร้าง 700 ล้านบาท ซึ่งต้องใช้เวลาก่อสร้างนานถึง 13 ปี ตั้งแต่ปี 2552 และเพิ่งเปิดให้บริการเมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2565 ที่ผ่านมา

เนื่องจาก กทม.และผู้รับเหมาต้องปรับแผนใหม่ในการก่อสร้างอุโมงค์ โดยลดความยาวให้สั้นลง และบีบความกว้างให้แคบขึ้น เพื่อรองรับโครงการใหม่ “รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน” เตาปูน-ท่าพระ โดยการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้ทำหนังสือขอเปิดไซต์ก่อสร้างรถไฟฟ้า ขอใช้พื้นที่ 100% และออกแบบลงรายละเอียดด้านวิศวกรรม

เช่น ขอตอกเสาเข็มกลางอุโมงค์เป็นการนำฐานรากรถไฟฟ้ามาฝากไว้ในฐานรากผนังของอุโมงค์ ทำให้งานอุโมงค์ของ กทม.ต้องหยุดก่อสร้างนาน 4-5 ปี และได้เริ่มกลับมาก่อสร้างอุโมงค์ใหม่อีกครั้งเมื่อเดือนมกราคม 2563 และได้มีการเปิดใช้งานเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2565 ที่ผ่านมา