บี้ปลดล็อกกฎข้ามแดน กระตุ้นเศรษฐกิจ 5 จังหวัด ติดกัมพูชา

ชายแดนไทย-กัมพูชา

ปัจจุบันกระทรวงพาณิชย์รายงาน 5 จังหวัดการค้าชายแดนไทย-กัมพูชา สระแก้ว ตราด จันทบุรี สุรินทร์ และศรีสะเกษ ปี 2564 (ม.ค.- ส.ค.) มีมูลค่าการค้ารวม 109,698.94 ล้านบาท แบ่งเป็นส่งออก 91,859,.96 ล้านบาท นำเข้า 17,838.98 ล้านบาท ไทยได้ดุลการค้า 74,020.98 ล้านบาท

เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2565 มูลค่า 134,822.31 ล้านบาท โตขึ้น 30% มูลค่าส่งออก 110,400.36 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 20.18% นำเข้า 24,421.95 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 36.90% ได้ดุลการค้า 85,978.42 ล้านบาท และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้น หลายภาคส่วนจึงพยายามผลักดันให้ด่านการค้าทั่วประเทศกลับมาเปิดหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย

ดันใช้หนังสือผ่านแดนชั่วคราว

นายพิพัฒน์ ฤกษ์สหกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมกลุ่มจังหวัด ภาคตะวันออก 2 กล่าวว่า การส่งเสริมการค้า 5 จังหวัดชายแดนไทย-กัมพูชา ได้แก่ สระแก้ว ตราด จันทบุรี และสุรินทร์ ศรีสะเกษให้เติบโตมากขึ้น ภาครัฐต้องเร่งแก้ไข 2 เรื่อง คือ 1) การยกระดับจุดผ่อนปรนทางการค้า คือ บ้านมะม่วง อ.บ่อไร่ จ.ตราด ให้เป็นจุดผ่านแดนถาวร และช่องทางธรรมชาติบ้านท่าเส้น อ.เมืองตราด จ.ตราด

ซึ่งที่ผ่านมาผลักดันมาโดยตลอด แต่ยังไม่มีความชัดเจน และยังปิดด่านทั้ง 2 จุดอยู่ ดังนั้น ทางสภาอุตสาหกรรมภาคตะวันออกจึงเสนอขอให้ภาครัฐเปิดด่านทั้ง 2 แห่งเช่นเดียวกับช่วงก่อนเกิดสถานการณ์โควิด-19

ซึ่งได้เสนอผ่านสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ให้รัฐบาลพิจารณาแล้ว และ 2) การอนุญาตให้ใช้หนังสือผ่านแดนชั่วคราวแทนหนังสือเดินทาง (passport) ระหว่างไทย-กัมพูชาได้ในทุกจังหวัดที่เปิดจุดผ่านแดนถาวร เพื่อให้รัฐบาลไทย-กัมพูชาเร่งเจรจาข้อตกลงและแนวทางปฏิบัติกับกัมพูชา

“การอนุมัติใช้หนังสือผ่านแดนชั่วคราวจะทำให้เกิดความสะดวกในการเดินทางของทั้งสองประเทศ เช่น พระตะบอง บันเตียเมียนเจย โพธิสัตว์ เกาะกง ที่จะเชื่อมโยงไปเมืองใหญ่ ๆ เช่น พนมเปญ สีหนุวิลล์ เสียมเรียบ ช่วยย่นระยะเวลาเดินทางน้อยลง ทำให้มูลค่าการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น ภาคการลงทุน การค้าขายจะเติบโตตามมา โดยเฉพาะธุรกิจขนาดเล็กในท้องถิ่น”

นางสาววิยะดา ซวง รองสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว จ.ตราด กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การใช้หนังสือผ่านแดนชั่วคราวที่จุดผ่านแดนถาวร โดยไม่ต้องใช้พาสปอร์ต จะช่วยอำนวยความสะดวกการเดินทางไทย-กัมพูชา

หลังจากไทยเปิดประเทศ 1 พ.ค. 65 มีตัวเลขนักท่องเที่ยวกัมพูชาเดินทางเข้ามาไทยเดือน พ.ค.-ส.ค. 65 จำนวน 240,000 คน ที่ผ่านมาการเดินทางโดยรถยนต์ส่วนตัวมีค่าใช้จ่ายที่พัก อาหาร ประมาณ 3,000-5,000 บาท/หัว และการจับจ่ายสินค้าในวงเงินที่สูงกว่าถึง 2 เท่า บางทริปมีค่าใช้จ่ายรวม ๆ กับสินค้าที่ซื้อกลับร่วมแสนบาท และระหว่างนี้ควรเปิดจุดผ่อนปรนบ้านมะม่วง อ.บ่อไร่ จ.ตราด-จ.พระตะบอง

ให้กลับมาเหมือนก่อนโควิด-19 จะมีผลต่อมูลค่าการค้าชายแดนเพิ่มขึ้น โดยบ้านมะม่วง อ.บ่อไร่ มูลค่าเพิ่มสูงขึ้น โดยปี 2564 ช่วงโควิด-19 ระยะสั้น ๆ มีมูลค่าการค้า 2.82 ล้านบาท มาปี 2565 เดือน ต.ค.-มิ.ย. มูลค่าเพิ่มสูง 7.32 ล้านบาท

ชงเปิดด่านบ้านมะม่วง-ท่าเส้น

นายชำนาญวิทย์ เตรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตราด กล่าวว่า คนไทยใช้บัตรประจำตัวประชาชนมาทำหนังสือผ่านแดนชั่วคราวข้ามไปเที่ยวกัมพูชาได้ที่จุดผ่านแดนถาวรบ้านหาดเล็ก อ.คลองใหญ่ จ.ตราด ที่เชื่อมต่อเกาะกง ตามเงื่อนไขข้อตกลง และกัมพูชาใช้หนังสือผ่านแดนชั่วคราวข้ามมาเที่ยวไทยได้ จังหวัดได้นำมติ กรอ.ตร.เสนอกระทรวงมหาดไทย

และสภาความมั่นคงแห่งชาติแล้ว ต่อไป จ.ตราดต้องทำ MOU ระหว่าง จ.ตราด-จ.เกาะกง ให้เดินทางข้ามแดนระหว่างกัน โดยขยายเงื่อนไขเพิ่มทั้งฝั่งไทยและกัมพูชา ส่วนจุดผ่อนปรนทางการค้าบ้านมะม่วง (เนิน 400) อ.บ่อไร่ จ.ตราด กับ อ.สำรูด จ.พระตะบอง และจุดผ่อนปรนทางธรรมชาติด่านบ้านท่าเส้น อ.เมืองตราด กับบ้านทมอดา อ.เวียลเวง จ.โพธิสัตว์

อยู่ระหว่างดำเนินการยกระดับเป็นด่านถาวร ระหว่างนี้ได้ขอให้เปิดทำการค้าได้เหมือนเดิมก่อนโควิด-19 เพราะประโยชน์จะเกิดกับท้องถิ่น จ.ตราด และจังหวัดเชื่อมต่อของกัมพูชา พระตะบอง และโพธิสัตว์ ทั้งการค้า การท่องเที่ยว

นายวิมาน สิงหพันธุ์ นายกสมาคมการค้าชายแดน จ.ตราด กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การเปิดจุดผ่านแดนทางการค้าด้าน อ.บ่อไร่-อ.สำรูดจะช่วยส่งเสริมการค้า การท่องเที่ยว เพราะที่ผ่านมาก่อนสถานการณ์โควิดมีการเข้า-ออกและซื้อสินค้า

รวมมูลค่าไม่เป็นทางการ ประมาณ 700 ล้านบาท/ปี และถ้าเปิดด่านท่าเส้นในลักษณะเดียวกัน คาดว่ามูลค่าจะเพิ่มขึ้นมาก เพราะบริเวณใกล้เคียง ต.แหลมกลัด อ.เมืองตราด จ.ตราด เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางทะเล

ผศ.ดร.วิชุดา จันทร์ข้างแรม เลขาธิการหอการค้า จ.สระแก้ว และกลุ่มจังหวัดตะวันออก 2 กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เห็นด้วยกับการใช้หนังสือผ่านแดนชั่วคราวแทนพาสปอร์ต เพราะ จ.สระแก้วได้เคยทำเรื่องนี้เสนอ กรอ.จังหวัดมานานแล้ว แต่ยังไม่มีผล และถ้านำมาใช้กับจุดผ่อนปรนทางการค้าได้ จะทำให้เกิดมูลค่าการท่องเที่ยว การค้าเพิ่มขึ้นมาก ทำให้การเดินทางเข้า-ออกสะดวก

แก้กฎกระตุ้นลงทุนท่องเที่ยว

นายสุริยนต์ ตู้จินดา ประธานคณะอนุกรรมการด้านการค้าชายแดน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สัดส่วนการค้าชายแดนกัมพูชาเป็นลำดับ 3 รองจาก สปป.ลาว เมียนมา แม้ในช่วงโควิด-19 มีอัตราการขยายตัวปี 2564-2565 ใกล้เคียงกัน

โดยปี 2565 (ม.ค.-ส.ค.) มูลค่าการค้า 134,822 ล้านบาท ส่งออก 110,400.36 ล้านบาท นำเข้า 24,421.94 ล้านบาท โดย 5 จังหวัดที่มีมูลค่าการค้าชายแดนสูง ปี 2565 (ม.ค.-ส.ค.) 5 จังหวัด คือ สระแก้ว 85,309.99 ล้านบาท ตราด 22,683.93 ล้านบาท จันทบุรี 17,915.73 ล้านบาท สุรินทร์ 7,298.68 ล้านบาท ศรีสะเกษ 1,613.98 ล้านบาท

จึงควรผลักดันให้ด่านการค้าทั่วประเทศกลับมาเปิดอีกครั้งหลังโควิดคลี่คลาย และผลักดันให้มีการใช้หนังสือผ่านแดนชั่วคราวระหว่างไทย-กัมพูชาได้ในจุดผ่านแดนถาวร เช่นเดียวกับ สปป.ลาว และเมียนมา เพื่อส่งเสริมการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว และช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจท้องถิ่น เพราะช่วงโควิดการค้าชายแดนยังเติบโต 8-20% เพราะกัมพูชามีกำลังซื้อสูง

สถานะด่านชายแดนไทย-กัมพูชา 6 จังหวัด ที่อนุญาตให้นำเข้า-ส่งออกสินค้า 13 ด่าน จ.จันทบุรี จุดผ่านแดนถาวรบ้านแหลม (จันทบุรี-พระตะบอง) จุดผ่านแดนถาวรบ้านผักกาด (จันทบุรี-ไพลิน) จุดผ่อนปรนการค้าบ้านซับตารี (จันทบุรี-พระตะบอง)

จุดผ่อนปรนการค้าบ้านสวนส้ม (จันทบุรี-พระตะบอง) จ.ตราด จุดผ่านแดนถาวรบ้านหาดเล็ก (ตราด-เกาะกง) จุดผ่อนปรนการค้าบ้านมะม่วง (ตราด-พระตะบอง) จ.สระแก้ว จุดผ่านแดนถาวรบ้านคลองลึก (สระแก้ว-บันเตียเมียนเจย) จุดผ่านแดนถาวรบ้านเขาดิน (สระแก้ว-พระตะบอง)

จุดผ่อนปรนการค้าบ้านตาพระยา (สระแก้ว-บันเตียเมียนเจย) จุดผ่อนปรนการค้าบ้านหนองปรือ (สระแก้ว-บันเตียเมียนเจย) จ.ศรีสะเกษ จุดผ่านแดนถาวรบ้านสะงำ (ศรีสะเกษ-อุดรมีชัย) จ.สุรินทร์ จุดผ่านแดนถาวรช่องจอม (สุรินทร์-อุดรมีชัย) จ.อุบลราชธานี จุดผ่อนปรนการค้าช่องอานม้า (อ.น้ำยืน-อ.จอมกระสาน)