เชียงใหม่เร่ง “แม่แจ่มโมเดล” จัดที่ดินทำกิน พื้นที่ป่าสงวน 4 แสนไร่

พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ
แฟ้มภาพประกอบข่าว

ปลัดกระทรวงทรัพย์ฯ เร่งติดตามผลการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ในพื้นที่อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเหลือพื้นที่อีกกว่า 4 แสนไร่ ที่ต้องกำหนดแนวเขตให้ชัดเจน

วันที่ 1 พฤศจิกายน 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่าวานนี้ นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานการประชุมแนวทางการดำเนินงานตามกรอบมาตรการแก้ไขปัญหาการอยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติและพื้นที่ป่าอนุรักษ์ อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ณ สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 1 (เชียงใหม่)

นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า ได้เร่งติดตามผลการดำเนินงานการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ในพื้นที่อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2561

เพื่อแก้ไขปัญหาการอยู่อาศัยทำกินของราษฎรในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ซี่งพื้นที่เป้าหมายในอำเภอแม่แจ่มมีจำนวนราว 500,000 ไร่ ขณะนี้ได้ออกใบอนุญาตไปแล้วราว 20,000 ไร่ ทั้งนี้ เหลือพื้นที่อีกกว่า 400,000 ไร่ ที่ต้องเร่งรัดกำหนดแนวเขตพื้นที่ให้ชัดเจน

โดยวางกรอบระยะเวลาภายใน 1 เดือน ให้หน่วยงานท้องถิ่นของอำเภอแม่แจ่มและป่าไม้ สำรวจพื้นที่และกำหนดแนวเขตร่วมกัน เพื่อนำมาประชุมติดตามความคืบหน้าอีกครั้งวันที่ 1 ธันวาคม 2565 ซึ่งการกำหนดแนวเขตถือเป็นความสำคัญอันดับแรกที่ต้องทำให้ชัดเจน โดยอำเภอแม่แจ่มจะเป็นพื้นที่นำร่อง “แม่แจ่มโมเดล” ในการดำเนินการพื้นที่อื่นๆต่อไป

สำหรับพื้นที่จัดสิทธิทำกินให้ชุมชนตามกรอบมาตรการ มติ ครม. พ.ย. 2561 (ลุ่มน้ำ 1 2 3 4 5)  ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ อำเภอแม่แจ่ม มีจำนวนทั้งสิ้น 477,995 ไร่ แบ่งเป็น กลุ่มที่ 1 ลุ่มน้ำ 3 4 5 ที่ปรากฏร่องรอยทำกินในภาพถ่ายปี 45 เนื้อที่ 43,424 ไร่

กลุ่มที่ 2 ลุ่มน้ำ 3 4 5 ที่ปรากฏร่องรอยทำกินในภาพถ่ายปี 45-57 เนื้อที่ 19,078 ไร่ กลุ่มที่ 3 ลุ่มน้ำ 1 2 ที่ปรากฏร่องรอยทำกินในภาพถ่ายปี 45 เนื้อที่ 133,063 ไร่ กลุ่มที่ 4 ลุ่มน้ำ 1 2 ที่ปรากฏร่องรอยทำกินในภาพถ่ายปี 45-57 เนื้อที่ 162,948 ไร่ รวมพื้นที่ทั้งหมด เนื้อที่ 358,513 ไร่ กลุ่มที่ 5 ปรากฏร่องรอยทำกินในภาพถ่ายหลัง ปี 57 เนื้อที่ 119,482 ไร่

นางสาวพัทธนันท์ พิทาคำ นายอำเภอแม่แจ่ม กล่าวว่า การให้เอกสารสิทธิทำกินแก่ชาวบ้านถือเป็นแนวทางสำคัญที่จะหยุดปัญหาการบุกรุกทำลายป่า และหยุดปัญหาการเผาป่าที่เป็นสาเหตุของหมอกควันไฟป่า โดยท้องถิ่นอำเภอแม่แจ่มเรียกร้องให้มีการเร่งรัดขับเคลื่อนการอนุญาตจัดสิทธิทำกินในพื้นที่ที่เหลืออีกกว่า 400,000 ไร่ให้กับชาวบ้าน

โดยกำหนดแนวทางการอยู่กับป่าอย่างยั่งยืน ด้วยการเพิ่มพื้นที่สีเขียวอย่างเร่งด่วน ซึ่งชาวบ้านที่ได้รับใบอนุญาตสิทธิทำกินไปแล้วราว 20,000 ไร่ เป็นโมเดลของการเพิ่มพื้นที่สีเขียวที่ชัดเจน โดยการปลูกพืชเศรษฐกิจมูลค่าสูง อาทิ ไผ่ ทุเรียน และกาแฟ เป็นต้น

ดำเนินการในรูปแบบเศรษฐกิจสีเขียวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นการสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจให้กับราษฎรที่จะสามารถทำกินและอยู่อาศัยภายใต้สิ่งแวดล้อมที่ดีและทรัพยากรธรรมชาติที่สมบูรณ์ได้ เพื่อพัฒนาพื้นที่ให้มีรูปแบบทางเลือกที่หลากหลาย

นายเดโช ไชยทัพ ผู้อำนวยการ มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ภาคเหนือ กล่าวว่า การใช้ประโยชน์ที่ดิน และการวางแนวเขตพื้นที่ต้องกำหนดให้ชัดเจนว่าพื้นที่ไหนทำอะไรได้หรือไม่ได้ โดยการจัดโซนนิ่งพื้นที่อยู่อาศัยและพื้นที่ทำกิน ด้วยการขับเคลื่อนการสร้างเศรษฐกิจสีเขียวร่วมกับราษฎรในพื้นที่ให้มีการทำการเกษตรที่ยั่งยืน

พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ อำเภอแม่แจ่ม