อหิวาต์หมู ASF โผล่จ.ยะลา ทำหมูป่าตายเกลื่อน ปศุสัตว์เร่งสกัด

อหิวาต์หมู ASF
ภาพจาก PIXABAY

โรคอหิวาต์หมู ASF โผล่จ.ยะลา ทำหมูป่าตายเกลื่อน ปศุสัตว์เขต 9 เพิ่มความเข้มข้นตรวจสกัดตะเข็บชายแดนไทย-มาเลย์ ด่านกักกันสัตว์ปิดตายพื้นที่ห้ามเคลื่อนย้าย หลังพบฟาร์มหมูปีนังเจอระบาดหนัก ด้านสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคใต้แจ้งเตือนฟาร์มในพื้นที่ป้องกัน

วันที่ 10 มกราคม 2566 แหล่งข่าวจากวงการสุกร เปิดเผย“ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สำนักงานปสุสัตว์เขต 9 สงขลา (ปศข.9) ดูแลพื้นที่ 7 จังหวัดภาคใต้ตอนล่าง ได้มีการรายงานแจ้งเตือนว่า ตามที่เจ้าหน้าที่หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติป่าบางลาง จ.ยะลา กับชาวบ้านหมู่ที่ 2 ต.แม่หวาด อ.ธารโต จ.ยะลา ตรวจสอบพบซากหมูป่านอนตายเกลื่อนจำนวน 10 ตัว จึงได้จุดไฟเผาหมูป่า เพื่อทำลายไม่ให้เชื้อโรคแพร่กระจายไปยังหมูป่าตัวอื่นๆ

เพราะก่อนหน้านี้ได้เกิดโรคระบาดในหมูป่าประเทศมาเลเซีย เป็นจำนวนมากเช่นกัน โดยที่ยังไม่ทราบสาเหตุ และสายพันธุ์เชื้อที่ระบาดในครั้งนี้ด้วยดังนั้นในการบริโภคโดยเฉพาะหมูป่า ควรระวังรอบคอบ เนื่องจากขณะนี้ยังไม่ทราบว่าการแพร่ระบาดจะลุกลามไปพื้นที่ใดบ้าง

อย่างไรก็ตาม การป่วยตายของหมูป่าจำนวนมากนั้น สันนิษฐานสาเหตุว่าน่าจะมาจาก

การแพร่ระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกันในสุกร (ASF) เพื่อป้องกันอย่างเข้มข้นเพื่อมิให้เกิดความเสียหายจึงได้แจ้งเตือนฟาร์มเลี้ยงทางภาคใต้ ให้ระมัดระวังอย่างเข้มข้นในการป้องกันให้มากสุด เนื่องจากโรคอหิวาต์ ASF ติดต่อเร็วสร้างความเสียหายสูงมากต่อสุกร

สำหรับฟาร์มหมูป่าที่ประเทศมาเลเซียแนวพรมแดนไทย มาเลเซียที่พบว่าป่วยนั้น ได้มีการทำลายไปหมดแล้ว

“ทั้งนี้ทางสำนักงานปสุสัตว์เขต 9 สงขลา ได้มีการสั่งห้ามการเคลื่อนย้ายสุกรจากจังหวัดชายแดนภาคใต้แล้ว”

อหิวาต์หมู ASF
หมูตายจากโรค ASF

ปศุสัตว์คุมเข้มตะเข็บชายแดนไทย-มาเลย์

นายบรรจง จงรักษ์วัฒนา ปศุสัตว์เขต 9 เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า มาตรการกรมปศุสัตว์ให้ภาคใต้เป็นเขตเฝ้ารักษาาโรคอหิวาต์อยู่แล้ว และสำหรับหมูป่าที่ป่วยเสียชีวิตที่ อ.ธารโต จ.นราธิวาสนั้นแม้ว่าจะเป็นหมูป่าที่ไม่ใช่เป็นเขตเลี้ยงสุกรก็ตาม แต่ได้แจ้งเตือนไปยังผู้เลี้ยงสุกรแล้ว เพื่องดการบริโภคซากสัตว์หมูป่า แม้ว่ายังไม่รู้ว่าจะเป็นโรค ASF หรือไม่

“เท่าที่รับทราบตอนนี้ทางฝั่งประเทศมาเลเซีย บางรัฐได้เกิดการระบาดของ ASD ทั้งสุกรที่เลี้ยงตามบ้าน และหมูป่า โดยข่าวจากรัฐปีนัง ประเทศมาเลเซีย เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

พาหะนำโรค ASF สามารถติดมากับเสื้อผ้า การบริโภค ยานพาหนะ ดังนั้นจะต้องเพิ่มความเข้มข้นในการตั้งด่านตรวจที่มีอยู่แล้วให้เข้มข้นขึ้นอีก โดยเน้นแนวเขต 3 จังหวัดจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นพิเศษ ซึ่งภาคใต้เป็นเขตควบคุมโรคอยู่แล้ว”

สั่งห้ามเคลื่อนย้ายสัตว์พื้นที่ระบาด

นายบรรจง กล่าวต่อไปว่า กรณีหมูป่าเสียชีวิตมีแนวโน้มต้องสงสัยไว้ก่อนว่าเป็นโรค ASF ซึ่งจะเป็นทิศทางที่ดีเพื่อวางแนวป้องกันอย่างเข้มข้นไว้ก่อน พร้อมแจ้งเตือนไปยังผู้เลี้ยงสุกรในภาคใต้ จะต้องวางมาตรการป้องกันการระบาดในระลอกต่อไป จากที่ก่อนหน้านี้การระบาดของโรค ASF ในพื้นที่ภาคใต้ได้หมดไปแล้ว

ทางนายณัฐชัย วรสุทธิ์ ด่านกักกันสัตว์สงขลา กล่าวว่า หมูป่าที่ป่วยตายที่ อ.ธารโต จ.ยะลา ทางด่านกักกันสัตว์ ได้มีคำสั่งปิดห้ามเคลื่อนย้ายสัตว์ในพื้นที่เกิดเหตุหมูป่าป่วยตายแล้ว พร้อมได้ประสานงานไปเจ้าหน้าที่อุทยานฯ และเจ้าหน้าที่ ฯลฯ ทำการพ่นยาป้องกันและฆ่าเชื้อ ทำลายซากหมูป่าไปแล้ว พร้อมวางมาตรการป้องกัน

สมาคมผู้เลี้ยงใต้เตือนป้องกันASF

นายปรีชา กิจถาวร นายกสมาคมการค้าผู้เลี้ยงสุกรภาคใต้ เปิดเผยกับ “ปะชาชาติธุรกิจ” ว่า ได้รับทราบข่าวจากนักธุรกิจในปินังประเทศมาเลเซีย ว่าเกิดเหตุโรคระบาดในหมูป่าแนวชายแดนไทย-มาเลเซีย และลุกลามเข้าสู่ฟาร์มสุกร ในปินัง มาเลเซีย และในขณะ

เดียวกันได้รับแจ้งจากสำนักงานปศุสัตว์เขต 9 ซึ่งดูแลพื้นที่ภาคใต้ตอนล่างแล้วเช่นกันเพื่อวางมาตรการป้องกันที่เข้มข้น ดังนั้นทางสมาคมได้แจ้งเตือนไปยังผู้เลี้ยงสุกรในภาคใต้ให้เพิ่มมาตรการป้องกันอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะหากเกิดการระบาดของโรค ASF

นายปรีชา กล่าวอีกว่า ขณะนี้สถานการณ์เลี้ยงสุกรทางภาคใต้ได้มีมาตรการเข้มข้นในการป้องกันรักษาโรค ASF ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และรัดกุมมาตลอดจนถึงขณะนี้ การเลี้ยงสุกรอยู่ในเกณฑ์ที่ดี ซึ่งระดับการเลี้ยงอยู่ที่ 80,000-90,000 แม่พันธุ์ จากเดิมที่เลี้ยงอยู่ประมาณ 100,000 แม่พันธุ์

ส่วนราคาหน้าฟาร์มประมาณ 90 บาทกว่า / กก.ขณะที่ต้นทุนอยู่ที่ 95-96 บาท / กก. การเลี้ยงสุกรมีทั้งปัจจัยทั้งบวกและลบ โดยเฉพาะต้นทุนการผลิตที่สูงมาก ขณะที่ราคายางพารา และปาล์มน้ำมันต่ำลงมาก ส่งผลต่อผู้บริโภคต่อชะลอการบริโภคหมู และหมูกล่องเถื่อนที่นำเข้ามาจากต่างประเทศมาจำหน่ายในพื้นที่

ส่วนปัจจัยบวกเรื่องธุรกิจการท่องเที่ยวที่ดีขึ้นมาก มีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย และชาวต่างประเทศเข้ามาปริมาณมาก ส่งผลต่อการบริโภคเนื้อหมูเพิ่มขึ้น มีทั้งปัจจัยลบและบวกจึงพอไปกันได้