เปิดศึกชิงกากอ้อย 3 หมื่นล้าน ชาวไร่-โรงงานขัดแย้งแบ่งประโยชน์ไม่ลงตัว

อ้อย

อุตสาหกรรมอ้อยน้ำตาลขัดแย้งหนัก ปมผลประโยชน์จาก “กากอ้อย” 30,000 ล้านบาท หลังชาวไร่อ้อยดันเข้านิยามผลพลอยได้ ประกาศบังคับเป็นกฎหมายต้องนำ กากอ้อย มาแบ่งปันผลประโยชน์ 70/30 ทันที ด้านโรงงานน้ำตาลแก้เกม ยกขบวนลาออกจากกรรมการอ้อยและน้ำตาล แต่ไม่เป็นผล เตรียมยื่นฟ้องศาลปกครอง เหตุ รมต.ใช้อำนาจตั้งกรรมการชั่วคราว หวังผ่านการพิจารณาราคาอ้อยขั้นต้น ชี้มีสิทธิเป็นโมฆะ

แหล่งข่าวจากวงการอ้อยและน้ำตาลกล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงความขัดแย้งในเรื่องการแบ่งปันผลประโยชน์ล่าสุดในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลระหว่าง ชาวไร่อ้อย กับโรงงานน้ำตาล กรณี “กากอ้อย” หรือ “ชานอ้อย” โดยฝ่ายแรกต้องการให้ “กากอ้อย” เข้าไปอยู่ในนิยามของ “ผลพลอยได้” เพื่อนำมาแบ่งปันผลประโยชน์ภายใต้ พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาล พ.ศ. 2527

ในขณะที่ฝ่ายโรงงานน้ำตาลเห็นว่า กากอ้อย ไม่ได้อยู่ในนิยามของผลพลอยได้มาตั้งแต่ต้น และการเพิ่ม กากอ้อย เข้าไปในนิยาม ยังเป็นการขัดกับหลักของการแบ่งปันรายได้ถือเป็นการ “เอาประโยชน์จากฝ่ายหนึ่งไปให้อีกฝ่ายหนึ่ง โดยที่ฝ่ายเสียผลประโยชน์ (คือโรงงานน้ำตาล) ไม่มีสิทธิที่จะปกป้องประโยชน์ที่ตนเคยได้รับมาก่อน”

ทั้งนี้ ความขัดแย้งดังกล่าวเกิดขึ้นมาตั้งแต่ปลายปี 2565 เมื่อฝ่ายชาวไร่อ้อยใน คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ได้เสนอแก้ไข พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2565 โดยเพิ่มคำว่า “กากอ้อย” ในคำนิยามผลพลอยได้ เพื่อฝ่ายชาวไร่จะได้รับการแบ่งปันผลประโยชน์เพิ่ม โดยมีการพูดกันว่า ผลประโยชน์กากอ้อย จะมีมูลค่าสูงถึง 30,000 ล้านบาท แต่ 57 โรงงานน้ำตาลไม่เห็นด้วย

เพราะได้นำกากอ้อยมาทำเชื้อเพลิงในการผลิตน้ำตาล ซึ่งชาวไร่มีส่วนได้รับผลประโยชน์อยู่แล้ว พร้อมกับคัดค้านและขอให้มีการทบทวนเรื่องกากอ้อยมาโดยตลอด โดย 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลได้ทำหนังสือถึง นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง “คัดค้านร่างแก้ไขกรณีกากอ้อย” แต่ก็ไม่เป็นผลและนำมาซึ่ง “มติของ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาล” ให้ตัวแทน “ลาออก” จากกรรมการในคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลในที่สุด

“การลาออกของตัวแทนฝ่ายโรงงานน้ำตาลไม่มีผลในการพิจารณาเพิ่มกากอ้อยเข้าไปในนิยามของผลพลอยได้ คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ยังคงผลักดันจนร่างแก้ไขผ่านขั้นตอนออกประกาศในราชกิจจานุเบกษามีผลใช้บังคับไปตั้งแต่วันที่ 24 ธันวาคม 2565” แหล่งข่าวกล่าว

อย่างไรก็ตาม ผลของความขัดแย้งในเรื่องของการแบ่งปันผลประโยชน์ “กากอ้อย” ได้นำไปสู่ความชะงักงันในการพิจารณาราคาอ้อยของปี 2566 อันเนื่องมาจากผู้แทนโรงงานน้ำตาลจำนวน 7 คน “ลาออก” ทำให้องค์ประชุม 3 ฝ่าย ในคณะกรรมการไม่ครบ

จนรัฐมนตรีผู้รักษาการตาม พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 อาศัยอำนาจใน มาตรา 14 วรรค แต่งตั้งคณะกรรมการแทนกรรมการผู้แทนโรงงานน้ำตาลที่ว่างลงโดยไม่จำเป็นต้องได้รับการเสนอชื่อจากสมาคมโรงงานน้ำตาลตามมาตรา 11 วรรคสาม เนื่องจากเป็นการแต่งตั้งกรรมการแทนเพียงชั่วคราวเท่านั้น

ขณะที่ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลเห็นว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตาม พ.ร.บ.อ้อยดังกล่าวใช้อำนาจตามมาตรา 14 วรรคสอง “โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย” เนื่องจากมาตรา 11 วรรคสาม กำหนดไว้ว่า ผู้แทนโรงงานต้องเป็นกรรมการ ผู้จัดการ พนักงาน หรือลูกจ้างของโรงงาน ซึ่งได้รับการเสนอชื่อจากสมาคมโรงงานและต้องคำนึงถึงสัดส่วนตามกำลังผลิตของสมาชิกของสมาคมโรงงานน้ำตาลด้วย

ประกอบกับกรรมการผู้แทนโรงงานที่ว่างลงเป็นเหตุมาจากกรรมการผู้แทนโรงงาน “ลาออก” และ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลเองก็ได้ทำหนังสือถึง สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย แล้วว่า “ไม่ประสงค์จะเสนอชื่อผู้แทนเพื่อแต่งตั้งเป็นกรรมการด้วย”

“เมื่อรัฐมนตรีผู้รักษาการใช้อำนาจแต่งตั้งกรรมการโรงงานน้ำตาลที่ว่างลงไปแล้ว โดยอ้างเหตุผลถึงความจำเป็นเร่งด่วนต่อระบบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพิจารณาราคาอ้อยขั้นต้น ทางฝ่ายโรงงานน้ำตาลจึงตัดสินใจยื่นเรื่องดังกล่าวฟ้องต่อศาลปกครองโดยมอบอำนาจให้ บริษัท ไทยซูการ์ มิลเลอร์ เป็นผู้ฟ้อง รวมถึงตั้งข้อสังเกตว่า การพิจารณาราคาอ้อยขั้นต้นที่ 1,080 บาท/ตัน อาจจะเป็นโมฆะด้วย” แหล่งข่าวกล่าว

ด้านแหล่งข่าวจากโรงงานน้ำตาลเปิดเผยถึง สาเหตุที่โรงงานน้ำตาลไม่เห็นด้วยที่ชาวไร่อ้อยจะมาขอแบ่งปันผลประโยชน์จาก “กากอ้อย” เป็นเพราะกากอ้อยถือเป็นต้นทุนของโรงงาน ซึ่งใช้กากอ้อยเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตน้ำตาล และหากวันหนึ่งชาวไร่อ้อยหยิบยกเรื่อง “กากอ้อย” ขึ้นมาเป็นประเด็นในการกำหนดราคาอ้อยด้วยก็จะยิ่งส่งผลกระทบต่อผลประโยชน์และเสถียรภาพของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล เมื่อสูตรการคำนวณราคาอ้อยเปลี่ยนแปลงไป

ส่วนการนำกากอ้อยไปผลิตไฟฟ้านั้น แหล่งข่าวจากฝ่ายชาวไร่อ้อยมองว่า มีผลประโยชน์มหาศาล โดยคำนวณจากสมมุติฐานผลผลิตอ้อยเข้าหีบรวมทั้งประเทศประมาณ 100 ล้านตัน จะเป็นกากอ้อย 30% หรือเท่ากับ 30 ล้านตัน สมมุติราคากากอ้อยตันละ 1,000 บาท คิดเป็นมูลค่ากากอ้อย 30,000 ล้านบาท

ทุกวันนี้โรงงานน้ำตาลขนาดใหญ่ที่มีกำลังการผลิตอ้อย 30,000 ตันขึ้นไป ถึงมีศักยภาพตั้ง “โรงไฟฟ้าชีวมวล” และมีไฟเหลือขายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) แต่โรงงานน้ำตาลขนาดเล็กที่ไม่มีกากอ้อยเพียงพอไปในการเผาทำเชื้อเพลิงในการผลิตน้ำตาล หากจะนำรายได้จากการขายไฟฟ้าส่วนนี้มาแบ่ง “จะแบ่งกันอย่างไร”

“ถ้าชาวไร่อ้อยจะตีรายได้จากกากอ้อยออกมา 30,000 ล้านบาท โรงงานบอกต้องคิดเป็นค่าใช้จ่ายอีก 30,000 ล้านบาทเช่นกัน เพราะโรงงานเอากากอ้อยมาทำเชื้อเพลิงผลิตน้ำตาล โรงงานต้องไปซื้อกากอ้อยกลับมาเป็นต้นทุนอีก ดังนั้นสัดส่วนระบบแบ่งปันรายได้ 30% ของโรงงานจะทำอย่างไร หากหักเป็นค่าใช้จ่ายราคาค่าอ้อยก็ลดลงอีก ซึ่งต่างกับ “โมลาส” โรงงานน้ำตาลไม่ได้เอามาใช้ในกระบวนการผลิต เก็บไว้ขายอย่างเดียว ได้เท่าไหร่มาแบ่งกับชาวไร่” แหล่งข่าวกล่าว