ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี อนุมัติ โครงการพัฒนาระบบเคเบิ้ลใต้ทะเลไปเกาะสมุย 11,230 ล้านบาท เสริมความมั่นคงระบบไฟฟ้า
วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุมเห็นชอบให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ดำเนินการก่อสร้างโครงการพัฒนาระบบเคเบิ้ลใต้ทะเลไปยังบริเวณ
อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี วงเงินรวมทั้งสิ้น 11,230 ล้านบาท
เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการส่งพลังงานไฟฟ้าไป อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี และพื้นที่เกาะข้างเคียง (เกาะเต่า และเกาะพะงัน) สนองตอบต่อความต้องการไฟฟ้าที่เพิ่มมากขึ้น และเสริมความมั่นคงระบบไฟฟ้าในระยะยาว ซึ่งสอดคล้องกับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561-2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1
ทั้งนี้ กฟผ.จะใช้เงินรายได้ (Internal Cash Flow) เป็นลำดับแรกไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 และแหล่งเงินทุนอื่น ๆ ร้อยละ 75 ซึ่งหากมีความต้องการใช้เงินกู้จะพิจารณากู้เงินในประเทศเป็นลำดับแรก
โครงการมีสาระสำคัญดังนี้ ขอบเขตงานก่อสร้าง เช่น ก่อสร้างสายเคเบิ้ลใต้ทะเล 230 เควี (kV) ขนอม-เกาะสมุย จำนวน 2 วงจร รวมระยะทางประมาณ 52.5 กม. และติดตั้ง Fiber Optic-ขยายสถานีไฟฟ้าแรงสูง 230 เควี (kV) ขนอม พร้อมปรับปรุงอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง-ก่อสร้างสถานีไฟฟ้าแรงสูง 230/115 เควี (kV) เกาะสมุย (สถานีไฟฟ้าแรงสูงแห่งใหม่) พร้อมติดตั้งหม้อแปลงไฟฟ้าขนาด 230/115 เควี (kV) ขนาด 300 MVA จำนวน 2 ชุด จัดซื้อที่ดินเพื่อก่อสร้างสถานีไฟฟ้าแรงสูง 230/115 เควี (kV) เกาะสมุย (สถานีไฟฟ้าแรงสูงแห่งใหม่)
โดยมีระยะเวลาดำเนินโครงการ : 7-8 ปี โดยมีกำหนดแล้วเสร็จประมาณ มิถุนายน 2572 สำหรับวงเงินลงทุน : รวมทั้งสิ้น 11,230 ล้านบาท ประกอบด้วย 1.ค่าใช้จ่ายเพื่อซื้ออุปกรณ์จากต่างประเทศ 4,969.5 ล้านบาท 2.ค่าใช้จ่ายเพื่อซื้ออุปกรณ์ในประเทศและการก่อสร้างอีก 6,260.5 ล้านบาท
ส่วนแหล่งเงินทุน มาจากเงินรายได้ของ กฟผ. ร้อยละ 25 และแหล่งเงินทุนอื่น ๆ ร้อยละ 75 โดยประโยชน์ที่จะได้รับ โครงการ จะเพิ่มขีดความสามารถของระบบไฟฟ้าในการรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าของ อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี และพื้นที่เกาะข้างเคียง (เกาะเต่าและเกาะพะงัน) ซึ่งระบบเดิมรองรับได้ถึงปี 2574 เท่านั้น ทั้งยังช่วยเพิ่มความมั่นคงให้กับระบบไฟฟ้า ลดการเกิดไฟฟ้าดับในพื้นที่ดังกล่าว
ทั้งนี้ เนื่องจากความต้องการไฟฟ้าบนเกาะสมุยและเกาะข้างเคียง (เกาะพะงัน และเกาะเต่า) มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเป็นผลจากการขยายตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจและธุรกิจท่องเที่ยวของเกาะต่าง ๆ ในอนาคต
ซึ่งการดำเนินโครงการต้องจัดทำรายงานศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (Initial Environmental Examination : IEE) โดยมีการประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ โดยมีมูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) (ณ อัตราคิดลดเท่ากับร้อยละ 5.51) อยู่ที่ 10,130.7 ล้านบาท จะทำให้อัตราค่าไฟฟ้าขายส่งเพิ่มขึ้น 0.0025 บาทต่อหน่วย ตลอดอายุโครงการ
โดยกระทรวงการคลัง ไม่มีความจำเป็นต้องค้ำประกันเงินกู้ เนื่องจาก กฟผ. เป็นรัฐวิสาหกิจ ที่มีศักยภาพและมีฐานะทางการเงินที่มั่นคง มีสัดส่วนความสามารถในการทำรายได้เทียบกับภาระหนี้ของกิจการ (Debt Service Coverage Ratio: DSCR) อยู่ในเกณฑ์ที่ดี