7 หมื่นโรงแรมเถื่อนเคว้ง ติดกฎหมายผังเมือง-สิ่งแวดล้อม

โรงแรม

ขณะที่การท่องเที่ยวกำลังกลับมาคึกคัก ถือเป็นเวลาที่ผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรม ที่พักจะเริ่มกลับมากอบโกยรายได้ โดยก่อนเกิดโควิด-19 มีการประเมินกันว่า โรงแรมในประเทศไทยมีประมาณ 84,000 แห่ง แต่มีใบอนุญาตประกอบกิจการโรงแรมได้ตามพระราชบัญญัติโรงแรม พ.ศ. 2551 เพียง 14,000 แห่ง ที่เหลือประมาณ 70,000 แห่ง “ไม่มีใบอนุญาต”

ทำให้ที่ผ่านมาผู้ประกอบการโรงแรมขนาดกลาง ขนาดเล็ก และที่พักต่าง ๆ พยายามดิ้นรนต่อสู้ เพื่อให้ภาครัฐแก้ไขกฎหมายเฉพาะขึ้นมา

ล่าสุดมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2566 และมติ ครม.วันที่ 14 มีนาคม 2566 อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวง 2 ฉบับใหม่ โดยฉบับแรกเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงกำหนดประเภทและหลักเกณฑ์การประกอบธุรกิจโรงแรม พ.ศ. 2551

โดยแก้ไขให้ “แพ เต็นท์ กระโจม” ซึ่งเป็นสถานที่พักที่มีจำนวนไม่เกิน 8 ห้อง และมีจำนวนผู้พักรวมกันทั้งหมดไม่เกิน 30 คนให้บริการได้ โดยกำหนดเงื่อนไขต่าง ๆ เพื่อความปลอดภัยสำหรับผู้พัก เช่น ต้องจัดให้มีเสื้อชูชีพ แสงสว่างอย่างเพียงพอในห้องพัก และบริเวณทางเดิน

ส่วนอีกฉบับทางกระทรวงมหาดไทย (มท.) เสนอร่างกฎกระทรวงฉบับใหม่ กำหนดให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารประเภทอื่นที่จะขอใบรับรองการดัดแปลงอาคารหรือใบอนุญาตเปลี่ยนการใช้อาคารมาประกอบธุรกิจโรงแรมได้ โดยยกเว้นข้อกำหนดที่ผู้ครอบครองอาคารไม่ต้องปฏิบัติ

ได้แก่ ที่ว่างของอาคาร ช่องทางเดินในอาคาร ความกว้างของบันได แนวอาคาร ระยะดิ่งของอาคาร ระยะหรือระดับระหว่างอาคารกับอาคารหรือเขตที่ดินของผู้อื่น หรือระหว่างอาคารกับถนน ตรอก ซอยทางเท้า ทางหรือที่สาธารณะ และที่จอดรถยนต์

ทั้งนี้ ต้องมีวิศวกรประเมินความมั่นคงแข็งแรงของโครงสร้างอาคารว่าสามารถใช้เพื่อประกอบธุรกิจโรงแรมได้ โดยต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จ ก่อนที่จะยื่นขออนุญาตเปลี่ยนการใช้อาคาร และได้ขยายระยะเวลาการใช้บังคับกฎกระทรวง และกำหนดเวลาต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จในวันที่ 18 สิงหาคม 2568 นั้น

เชียงใหม่ติดกฎหมายผังเมือง

นายวีระวิทย์ แสงจักร ผู้ประกอบการชุมชนล่ามช้าง อ.เมือง จ.เชียงใหม่ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า แม้มติ ครม.จะปลดล็อกให้แล้ว แต่โรงแรมส่วนใหญ่ในเชียงใหม่ที่ไม่มีใบอนุญาตยังติดปัญหากฎหมายผังเมือง พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 โดยเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2566 ได้ทำการสำรวจผู้ประกอบการท่องเที่ยวผ่านช่องทางออนไลน์ (OTA) ในจังหวัดเชียงใหม่

พบว่า มีจำนวน 6,300 แห่ง แบ่งผู้ประกอบการที่มีใบอนุญาตประกอบธุรกิจโรงแรม ประมาณ 800 กว่าแห่ง ที่เหลือ 5,000 กว่าแห่งไม่มีใบอนุญาต ทั้งนี้ ในจำนวน 5,000 กว่าแห่ง แบ่งเป็นโรงแรมที่ติดปัญหากฎหมายผังเมือง และ พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ประมาณ 3,000 แห่ง ที่พักที่ไม่ใช่โรงแรม ประมาณ 500-600 แห่ง

อีกส่วนติดปัญหาที่ดินทับซ้อนบนดอยบนเขา เช่น ที่ม่อนแจ่ม ซึ่งที่ผ่านมากลุ่มนี้มีการยื่นเรื่องต่อสู้กับทางภาครัฐอยู่ ดังนั้นการให้เวลาดำเนินการตามขั้นตอนต่าง ๆ ภายใน 2 ปี คือ ปี 2568 อาจจะไม่ทัน เมื่อใกล้ถึงกำหนดเวลาต้องทำเรื่องขอผ่อนผันออกไป

ภูเก็ตติดเงื่อน IEE และ EIA

นายชินวัฒน์ อุดมนิยม นายกสมาคมที่พักบูติคภูเก็ต กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า มติ ครม.ที่ออกมาเมื่อวันที่ 7 มี.ค. 66 และ 14 มี.ค. 66 นั้นถือว่ากฎหมายยืดหยุ่นให้กับที่พักบูติคในภูเก็ตที่อยู่นอกระบบ ไม่มีใบอนุญาตถูกต้องตามกฎหมาย ทำให้มีเวลาปรับตัวได้ภายใน 2 ปี แต่ยังกังวลในเรื่องจังหวัดภูเก็ตเป็นเกาะติดชายฝั่งทะเล

การทำธุรกิจโรงแรมต้องปฏิบัติตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่องกำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมในบริเวณพื้นที่จังหวัดภูเก็ต พ.ศ. 2560 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 ซึ่งมี 11 จังหวัดที่อยู่ริมทะเลต้องปฏิบัติกฎหมายสิ่งแวดล้อมนี้เหมือนกันหมด

โดยเงื่อนไขกำหนดว่าถ้าที่พักใดมีห้องพักเกิน 29 ห้องขึ้นไป ต้องทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (IEE) แต่ถ้าเกิน 79 ห้องขึ้นไป ต้องทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ซึ่งสมาชิกของสมาคมมีบูติคขนาดกลางเกินกว่า 30 ห้อง อยู่หลายแห่ง ต้องทำ IEE ค่อนข้างหนัก

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการบางรายอาจจะติดปัญหาสภาพคล่อง เนื่องจากประสบปัญหาโควิดมาต่อเนื่อง 3 ปี แม้ปัจจุบันนักท่องเที่ยวจะเข้ามายังจังหวัดภูเก็ตจำนวนมาก แต่มีการแข่งขันด้านราคา ทำให้มีรายได้เข้ามาไม่มากนัก

“ก่อนโควิดปี 2562 โรงแรมที่ไม่มีใบอนุญาตในภูเก็ตแจ้งไว้ประมาณ 2,000 กว่าราย ตอนนี้สามารถกลับมาเปิดกิจการได้ประมาณ 30% ส่วนที่เหลือยังไม่ทราบชัดเจน เพราะช่วงที่ผ่านมามีข่าวบางรายถูกแบงก์ยึด บางรายประกาศขายไปบ้าง เฉพาะในป่าตองสมาชิกของสมาคมที่พักบูติคเดิมมีประมาณ 500-600 ราย ตอนนี้กลับมาเปิดกิจการได้ประมาณ 50% สถานะก็แค่ประคองตัวกันไป เพราะมีการแข่งขันด้านราคากันพอสมควร โดยเฉพาะคนไทยเลือกพักโรงแรม บูติคส่วนใหญ่จะได้เป็นลูกค้าชาวต่างชาติที่ต้องการสัมผัสกับวัฒนธรรมของคนไทย”

นายมโนสิทธิ์ แจ้งจบ ประธานอนุกรรมการขับเคลื่อนโรงแรมขนาดเล็ก สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ในฐานะผู้ประกอบการโรงแรมขนาดเล็กในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เบื้องต้นพอใจกับกฎหมายที่ออกมา แต่ยังมีกฎหมายบางฉบับที่ต้องการให้ยืดหยุ่น เช่น กฎกระทรวงต่าง ๆ ที่ให้อำนาจท้องถิ่นเป็นฝ่ายดำเนินการ

เช่น ประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเฉพาะพื้นที่ ซึ่งมีอยู่ 9 แห่งทั่วประเทศ ในจังหวัดภูเก็ตตอนนี้มีโรงแรมที่ต้องทำ IEE มีประมาณ 50% ส่วนโรงแรมที่ต้องทำ EIA ประมาณ 20% นอกจากนี้ มีกฎหมายฉบับย่อย ซึ่งแต่ละพื้นที่ต้องแก้ไขเอง

ปัจจุบันโรงแรมในประเทศไทยมีประมาณ 84,000 แห่ง มีใบอนุญาตประมาณ 14,000 แห่ง อีก 70,000 แห่งไม่มีใบอนุญาต สำหรับจังหวัดภูเก็ตปัจจุบันโรงแรมในจังหวัดภูเก็ต 100% แบ่งออกเป็นถูกกฎหมาย 20% ไม่ถูกกฎหมาย 80%

ทั้งนี้ ช่วงก่อนโควิด-19 มีโรงแรมที่อยู่ระบบ AGODA ประมาณ 10,000 แห่ง ปัจจุบันเปิดให้บริการประมาณ 4,000 แห่ง ถึงแม้นักท่องเที่ยวจะเริ่มกลับมาแล้ว แต่ผู้ประกอบการบางแห่งก็ยังไม่มีเงินเพียงพอต่อการปรับปรุงโรงแรมให้ถูกกฎหมาย

ตอนนี้ผู้ประกอบการที่ไม่มีใบอนุุญาตเข้าไม่ถึงแหล่งเงินของภาครัฐ จากโรงแรม 4,000 แห่ง น่าจะมีใบอนุญาตประกอบธุรกิจโรงแรมเพียง 800 แห่ง อีก 3,200 แห่งไม่มีใบอนุญาต ซึ่งเฉลี่ยการซ่อมห้องพัก 1 ห้อง ใช้เงินประมาณ 1 แสนบาท

พัทยาชี้กฎหมายยังไม่ยืดหยุ่น

นายธเนศ ศุภรสหัสรังสี รักษาการประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดชลบุรี กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ที่ผ่านมาโรงแรมขนาดกลาง และขนาดเล็กที่ไม่มีใบอนุญาตไม่สามารถปรับปรุงได้ เพราะยังติด พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร ประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่กำหนดให้ต้องทำ IEE และ EIA

ถ้าอยากให้กลุ่มที่ไม่มีใบอนุญาตเข้าระบบได้ ภาครัฐต้องออกมาตรการที่ยืดหยุ่นกว่านี้ เช่น ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่มีการกำหนดพื้นที่จอดรถ พื้นที่ซึมน้ำ พื้นที่สีเขียว ถ้าจะให้ถูกต้องตามกฎหมายพื้นที่จะถูกแบ่งออกไปมาก ส่วนอาคารที่ก่อสร้างมานานแล้ว พบปัญหาความสูงอาคารเกินกำหนด ที่จอดรถไม่พอ ก็ไม่สามารถแก้ได้

แม้ร่างกฎกระทรวงฉบับใหม่จะยกเว้น พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร และให้วิศวกรที่มีใบอนุญาตมารับรองความมั่นคงและความปลอดภัยของอาคาร ส่วนเรื่องรายละเอียดการปลดล็อกยังไม่ชัดเจน ถ้ายังไม่สามารถปลดล็อกได้ทุกเรื่องก็คิดว่าโรงแรมส่วนใหญ่ก็ไม่สามารถเข้าระบบได้อยู่ดี

ย้อนกลับไปช่วง 2-3 ปีก่อนองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เคยออกสำรวจพบว่า เมืองพัทยามีโรงแรมประมาณ 100,000-200,000 ห้องพัก แบ่งออกเป็นโรงแรมที่มีใบอนุญาต ประมาณ 20,000-25,000 ห้องพัก ซึ่งการขอใบอนุญาตโรงแรมค่อนข้างยุ่งยาก เกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน

ที่ผ่านมาต้องยอมรับข้อเท็จจริงว่าไม่มีใครสามารถก่อสร้างได้ตามรูปแบบ 100% อีกทั้งเมืองพัทยาเป็นเขตพื้นที่ควบคุมมลพิษ การก่อสร้างอาคารต้องทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งการว่าจ้างที่ปรึกษาผ่านคณะกรรมการไม่ต่ำกว่า 1 ปี และบริษัทที่มีใบอนุญาตในการทำผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ทั่วประเทศประมาณ 30-40 บริษัท ค่าใช้จ่ายไม่น่าจะต่ำกว่า 2,000,000 บาท

“ที่ผ่านมาภาครัฐบอกว่ามีการผ่อนปรนให้หลายรอบ สุดท้ายคนไม่เข้าระบบก็ดำเนินการขอใบอนุญาตไม่ได้อยู่ดี ไม่ใช่ผู้ประกอบการไม่อยากเข้าระบบ แต่พอยื่นเข้าไปก็มีกฎหมายบางข้อที่ยืดหยุ่นไม่ได้ ตอนที่มีกฎกระทรวงออกมาครั้งแรก ทางอำเภอแจ้งให้ผู้ประกอบการไปลงชื่อเข้าระบบ ทำให้ผู้ประกอบการที่ไปลงชื่อโดนจับ มันจึงเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้ไม่อยากเข้าไป ถ้าไม่มียืดหยุ่นต่อให้ยืดระยะเวลาไปอีก 10 ปี ก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ได้”

เกาะเสม็ดชี้กฎหมายล้าหลัง

นางสริญทิพญ ทัพมงคลทรัพย์ นายกสมาคมท่องเที่ยวเกาะเสม็ด เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า บนเกาะเสม็ดค่อนข้างติดปัญหาหลายอย่างเกี่ยวพันกับหลายหน่วยงาน โดยเฉพาะ พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร ของกรมโยธาธิการและผังเมือง และกฎหมายสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้ บนเกาะเสม็ดมีโรงแรมที่พักอยู่ 150 กว่าโรงแรม เบื้องต้นเป็นโรงแรมขนาดใหญ่ 30-40 ห้อง ประมาณ 20 กว่าโรงแรมที่มีใบอนุญาต ที่เหลือเป็นโรงแรมขนาดเล็กต้องปรับปรุงตามกฎกระทรวง ซึ่งกฎหมายที่ออกมาควรปรับปรุงไปตามลักษณะความเป็นอยู่ในปัจจุบันและอนาคต ต้องตามยุคสมัย เข้ากับสถานการณ์ และต้องแก้ไขข้อกฎหมายให้ตรงกับพื้นที่

อีกทั้ง พ.ร.บ.ควบคุมอาคารค่อนข้างล้าหลัง ดังนั้นควรจะใส่กฎหมายลูกเข้าไปก็ได้ เพื่อให้แต่ละพื้นที่สามารถปรับปรุงได้อย่างเหมาะสม ไม่ใช่ใช้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ

“เราอยากเดินเข้าสู่กระบวนการที่ถูกต้อง ไม่ใช่อยากเป็นผู้กระทำผิดกฎหมาย แต่ภาครัฐก็ต้องถอยด่วนเพื่อให้ธุรกิจเดินหน้าต่อได้”

เพชรบูรณ์ติดปมป่าสงวนฯ

นายปรีชา เดชบุญ ที่ปรึกษาเครือข่ายสภาองค์กรชุมชนจังหวัดเพชรบูรณ์และเลขาธิการสมาคมท่องเที่ยวจังหวัดเพชรบูรณ์ กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า มติ ครม.ที่ปลดล็อก พ.ร.บ.โรงแรมนั้น ยังไม่สามารถแก้ปัญหาของที่พักในจังหวัดเพชรบูรณ์ได้มากนัก เนื่องจากที่พักส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในพื้นที่ 4 ตำบลของ อ.เขาค้อ จ.เพชรบูรณ์ คือ ต.เขาค้อ ต.หนองแม่นา ต.สะเดาะพง ต.ริมสีม่วง

ที่ผ่านมาภาครัฐได้ประกาศเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติ เมื่อปี 2529 และปี 2530 เช่น บริเวณป่าเขาปางก่อ ป่าวังชมภู และเขาโปลกหล่น ซึ่งที่ผ่านมาผู้ประกอบการต่างต่อสู้เรียกร้องว่าเป็นพื้นที่ดั้งเดิม อยู่มาก่อนประกาศเป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ

แต่เมื่อวันที่ 14 มี.ค. 66 ในวันเดียวกัน ครม.มีมติเห็นชอบในหลักการให้กรมป่าไม้ดำเนินการเพิกถอนพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ท้องที่อำเภอเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ และให้กรมธนารักษ์ไปดำเนินการตามพระราชบัญญัติที่ราชพัสดุ พ.ศ. 2562 ซึ่งกรมธนารักษ์จะได้นำพื้นที่ดังกล่าวมาให้ผู้ประกอบการเช่าประกอบการที่พักได้ในราคาไร่ละ 200 บาทต่อปี