ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (12 มีนาคม 2561) ที่ชุมนุมสหกรณ์จังหวัดตรัง ต.บ้านโพธิ์ อ.เมือง จ.ตรัง ตัวแทนเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางภาคใต้ รวมประมาณ 10 คน นำโดยนายประทบ สุขสนาน รองประธานเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย นายถนอมเกียรติ ยิ่งฉ้วน ที่ปรึกษาประธานเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย นายไพรัช เจ้มชุม ประธานเครือข่ายฯ จ.พัทลุง นายสมปอง นวลสมศรี ประธานชุมนุมสหกรณ์การยาง กระบี่ และแกนนำเครือข่ายฯ จากจังหวัดสุราษฎร์ธานี สงขลา และนครศรีธรรมราช ประมาณ 15 คน ร่วมแถลงข่าวเคลื่อนไหวคัดค้านมติบอร์ด กยท. และผู้ว่าการการยางแหงประเทศไทย ที่จะให้เอกชนเข้ามาจัดเก็บเงินค่าธรรมเนียมการส่งออกยางพารานอกราชอาณาจักร (Cess) ในวันที่ 14 มีนาคมนี้ ที่การยางแห่งประเทศไทยจังหวัดตรัง
โดยมีสมาชิกเครือข่ายสถาบันเกษตรกรขาวสวนยางจังหวัดตราด นำโดยนายสงวน สัพโส ประธานเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางพาราภาคกลางและตะวันออก ที่เดินทางมาศึกษาดูงานพื้นที่ จ.ตรัง ประมาณ 90 คน ร่วมรับฟังการแถลงข่าวด้วย
นายสงวน สัพโส ประธานเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางพาราภาคกลางและภาคตะวันออก กล่าวว่า วันนี้สมาชิกเครือข่ายสถาบันเกษตรขาวสาวยางพาราภาคกลางและตะวันออก เดินทางมาศึกษาดูงานการแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางพารา โดยเฉพาะการทำรองเท้าบูธ เพื่อจะได้นำไปพัฒนาเรื่องยางในภาคกลางและตะวันออก เนื่องจากเน้นเรื่องขายอย่างเดียว ทำให้มีปัญหาเนื่องด้วยปัจจัยราคายางที่ตกต่ำ จึงต้องมุ่งสู่ผลิตภัณฑ์ของการแปรรูป ที่ผ่านมาทางภาคกลางได้ทำผลิตหมอนยางพารา ถุงมือผ้าเคลือบยางพารา ต่อไปจะทำยางรัดของ และหัวจุกนมสำหรับเด็กแรกเกิด
“วันนี้เป็นโอกาสที่ทางเกษตรกรชาวสวนยางพาราภาคใต้ออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านเงินเซส ตนเองในฐานประธานเครือข่ายฯ ซึ่งมีมติในระดับประเทศว่าไม่เห็นด้วยกับการที่ให้เอกชนมาเก็บเงินเซส มีการทำหนังสือไปแล้ว แต่ทางภาคตะวันออกจะเน้นไปในเรื่องของการแปรรูป เครือข่ายฯภาคตะวันออกพร้อมที่จะสนับสนุน เรื่องอะไรที่เป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรชาวสวนยางสนับสนุนเต็มที่ เราค้านแล้ว หนังสือที่ยื่นไปไม่เคยได้รับการตอบรับมา”
นายประทบ สุขสนาน รองประธานเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย และนายถนอมเกียรติ ยิ่งฉ้วน ที่ปรึกษาประธานเครือข่ายสถาบันฯ แถลงข่าวยืนยันว่า ในวันที่ 14 มีนาคมนี้ จะเดินหน้าเปิดเวทีการประชุมร่วมกันของเครือข่ายสถาบันเกษตรกรในภาคใต้อย่างแน่นอน เพื่อกดดันให้ กยท.ยกเลิกประกาศประกวดราคาจัดหาเอกชนรับจ้างบริหารการจัดเก็บเงินเซส ที่กำหนดจะให้มีเอกชนยื่นซองเอกสารข้อเสนอ ในระหว่างวันที่ 2-4 เมษายน 2561 นี้ และให้ยกเลิก TOR (ขอบเขตของงาน โครงการบริหารการจัดเก็บค่าธรรมเนียมการส่งออกยางพารานอกราชอาณาจักร (CESS)
“พร้อมยืนยัน ขณะนี้ทางเครือข่ายสถาบันฯไม่เคยมีแนวคิดที่จะขับไล่ พล.อ.ฉัตรเฉลิม เฉลิมสุข ประธานคณะกรรมการ กยท. (ประธานบอร์ด) และนายธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย ตามที่เป็นข่าวแต่อย่างใด แม้ทางเครือข่ายจะดำเนินการทุกวิถีทางในการแก้ปัญหาราคายางพาราตกต่ำ แต่ราคายางพารายังถูกเหมือนเดิมก็ตาม แต่อย่างไรก็ตามจะต้องรอมติในที่ประชุมอย่างเป็นทางการในวันที่ 14 มีนาคมนี้ และทางเครือข่ายจะรอผลสรุปการประชุมระหว่างนายธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการ กยท.ที่เรียกผู้อำนวยการเขตการยางแห่งประเทศไทย และผู้อำนวยการการยางแห่งประเทศไทยจากทุกจังหวัดประชุมร่วมกันในวันนี้ด้วย” นายประทบกล่าว
ด้าน นายถนอมเกียรติ ยิ่งฉ้วน ที่ปรึกษาประธานเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การคัดค้านเรื่องดังกล่าว เหตุผลเพราะเกษตรกรสูญเสียเงินที่จะนํากลับมาใช้ตามพระราชบัญญัติการยาง ด้วยการนำเงินที่จัดเก็บได้มาจัดสรรตาม พ.ร.บ.การยาง 2558 ที่จ่ายเงินจัดเก็บได้ตาม พ.ร.บ. ไม่เกินร้อยละ 10 ใช้ในด้านบริหาร ไม่เกินร้อยละ 40 ใช้ในการปลูกแทน ไม่เกินร้อยละ 35 ใช้เป็นเงินและอุดหนุนให้กับเกษตรกร สถาบันเกษตรกรและผู้ประกอบกิจการยาง ไม่เกินร้อยละ 5 ใช้ด้านวิจัย ไม่เกินร้อยละ 7 ใช้ด้านสวัสดิการแก่เกษตรกร ไม่เกินร้อยละ 3 ใช้พัฒนาสถาบัน เครือข่าย
แต่เมื่อคณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทยมีเสียงส่วนใหญ่ ทําให้เกษตรกรชาวสวนยางเสียผลประโยชน์ปีละหนึ่งล้าน เกษตรกรชาวสวนยางเสียผลประโยชน์มหาศาล และผลประโยชน์จะได้รับผู้รับจ้างมากเกินไปกลัวจะเป็นทุจริต เชิงนโยบายเลยมีหนังสือคัดค้านไปแล้วสองครั้ง และทางกระทรวงก็มีหนังสือให้ทบทวนด้วยแล้ว แต่คณะกรรมการบริหารการยางแห่งประเทศไทยยังดึงดันที่จะดำเนินการต่อทั้งที่มีกระแสคัดค้าน มติก็ไม่เป็นเอกฉันฑ์ ทางเกษตรกรและตัวแทนชาวสวนยางประชุมรวมกัน ในวันที่ 14 มีนาคม 2561 ณ ห้องใต้ร่มยางการยางแห่งประเทศไทยจังหวัดตรัง