“สแตติน” เห็ดนางรม ทำยักษ์ผลิตยาลดไขมันโลกสะเทือน

ดร.อานนท์ เอื้อตระกูล
คอลัมน์ : สัมภาษณ์

“นำเห็ดนางรม เห็ดนางฟ้า สด ๆ ไปลวกกิน เพียง 1 ดอก เท่ากับกินยาลดไขมัน กลุ่มสแตติน (statins) พวกโรซูวาสแตติน (rosuvastatin) 1 เม็ด ช่วยลดปริมาณไขมันคอเลสเตอรอลในเลือดได้เช่นเดียวกัน”

นั่นเป็นสิ่งที่ “ดร.อานนท์ เอื้อตระกูล” อดีตผู้เชี่ยวชาญอาวุโสด้านเห็ดองค์การสหประชาชาติ (ระหว่างปี 2524-2548) และผู้ก่อตั้ง สถาบันอานนท์ไบโอเทค อ.โคกสำโรง จ.ลพบุรี ซึ่งคร่ำหวอดในวงการเห็ดโลก ให้สัมภาษณ์พิเศษกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงสารสำคัญในเห็ดชนิดต่าง ๆ ที่สามารถช่วยรักษาโรค และสร้างมูลค่ามหาศาลให้กับคนไทยได้ รวมถึงฉายทิศทางความต้องการเห็ดทั้งตลาดในประเทศไทย และตลาดโลก

ไทยผลิตเห็ดไม่พอกิน

ดร.อานนท์บอกว่า พืช ผัก ผลไม้ “ทุกอย่างเป็นยา” เพียงแต่หยิบมาใช้ให้เหมาะสม และเก็บให้ถูกเวลา เช่น ประเทศอินเดีย ปลูกมะม่วง 10 ล้านตัน แต่ไม่ประสบปัญหาล้นตลาดเหมือนกับประเทศไทย เพราะอินเดียกินมะม่วงตั้งแต่อ่อน ๆ ถึงห่าม

โดยมะม่วงห่าม มีน้ำตาลน้อย มีกรดสูง คนอินเดียใช้มะม่วงรักษาโรคเบาหวาน ขณะที่คนไทยเป็นเบาหวานห้ามกินมะม่วงสุก หรืออินเดีย อุณหภูมิสูงถึง 47 องศา แต่มีคนเป็นฮีตสโตรก (โรคลมแดด) น้อยกว่าคนไทย เพราะกินมะม่วงดิบ

เห็ดเช่นเดียวกัน “เห็ดทุกชนิดเป็นยาหมด” แต่ไม่มีการเปิดเผยให้ความรู้กับประชาชน เพราะมีเรื่องผลประโยชน์ของคนนำเข้า และคนผลิตยา

เห็ด

ปัจจุบันคนไทยกินเห็ด 12,000 กรัมต่อคนต่อปี แต่คนไทยผลิตเห็ดได้ไม่เกิน 3 แสนตัน ขณะที่ความต้องการบริโภค 7-8 แสนกรัมต่อคนต่อปี ทำให้มีการนำเข้าเห็ดจากต่างประเทศจำนวนมาก อย่างที่เห็นตามโมเดิร์นเทรด เช่น เห็ดเข็มทอง เห็ดชิเมจิ เห็ดหอม เห็ดกระดุม ฯลฯ หากเปรียบเทียบราคาเห็ดของไทย กับเห็ดที่นำเข้า แต่เห็ดไทยราคาสูงกว่าเห็ดนำเข้าจากต่างประเทศเกือบเท่าตัว

เนื่องจากเห็ดนำเข้าส่วนใหญ่มาจากประเทศจีน ซึ่งมีราคาถูกมาก เพราะจีนถือว่า “เห็ดเป็นอาวุธทางการเมือง” โดยจีนบอกว่า เห็ดเป็นอาหารที่จะเลี้ยงพลเมืองจีน 1,400 ล้านคน ได้เพียงพอ ประชากรจะไม่ขาดแคลนอาหาร

เพราะสรรพคุณทางยา และคุณค่าทางอาหารสูง นอกจากนี้ เห็ดเป็นพืชที่อาศัยวัสดุเหลือใช้จากการเกษตร ทั้งเศษฟาง เศษข้าวโพด เศษหญ้า เศษขี้เลื่อย ฯลฯ รัฐบาลจีนจึงมีนโยบายส่งเสริมการเพาะเห็ดอย่างเป็นระบบ

ปี 2000 จีนผลิตเห็ดได้ ไม่ถึง 2 ล้านตัน แต่ปี 2020 จีนผลิตเห็ดได้ 35 ล้านตัน แต่คนจีนกินเห็ด 27-28 ล้านตัน ที่เหลืออีก 7 ล้านตัน รัฐบาลจีนสนับสนุนให้ส่งออก สมมุติต้นทุนคนเพาะเห็ด 100 บาท แต่ส่งขายให้ไทยได้ราคา 20 บาทต่อ กก. รัฐบาลจีนจะจ่ายโบนัสให้ 80 บาท และมีสิทธิกู้เงินขยายกิจการ

ผลิตภัณฑ์เห็ด

เห็ดสร้างมูลค่ามหาศาล

ดร.อานนท์บอกว่า ต่างประเทศใช้เห็ดเป็นยากันมานานแล้ว แต่คนไทยเพิ่งมาฮือฮา คำว่า “เห็ดเป็นยา” นักวิชาการบางคนคิดว่า เห็ดเป็นยาต้อง เห็ดหลินจือ เห็ดถั่งเช่า ต้องของแพง ๆ มันไม่ใช่ เห็ดทุกอย่างเป็นยาหมด โดยเฉพาะเห็ดที่ปลูกง่าย โตเร็ว ยกตัวอย่าง เช่น

เห็ดนางรม เห็ดนางฟ้า มีสารโรซูวาสแตติน (rosuvastatin) ธรรมชาติ คนที่เป็นโรคหัวใจ หรือความดันโลหิตสูง หรือ LDL ในเลือดสูง ต้องกิน “สารสแตติน” (statins) เพื่อละลายไขมันในเส้นเลือด

จะทำให้เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้น และทำให้เส้นเลือดขยายตัวได้ การกินเห็ดนางรม เห็ดนางฟ้าสด 1 ดอก ได้ผลดีกว่า สามารถทดแทนยาละลายไขมันได้ 1 เม็ด และยังได้โปรตีน วิตามิน เกลือแร่ แต่ข้อมูลเหล่านี้ไม่มีการเปิดเผยให้ประชาชนรู้

เวลาไปบรรยายทั่วโลก ไม่ให้พูดเรื่องกลุ่มเห็ดตระกูล (Pleurotus species) ซึ่งมีเห็ดนางรม เห็ดนางฟ้า เห็ดนางนวล เห็ดนางรมสีทอง ซึ่งมีกลุ่มสารสแตติน เพราะไปกระทบกับบริษัทที่ทำสารสแตตินขาย

เห็ด

ที่น่าสนใจอีกตัวคือ เห็ดทุกชนิดมีสารเออร์โกสเตอรอล (ergosterol) สามารถสร้างวิตามินดี 2 ได้อย่างง่าย ๆ ซึ่งปกติร่างกายมนุษย์จะผลิตวิตามินดีได้ โดยใช้แสงอัลตราไวโอเลต ดังนั้นเมื่อนำเห็ด

ซึ่งมีสารเออร์โกสเตอรอลไปตากแดด หรือถูกแสงอัลตราไวโอเลต ช่วงระหว่างเวลา 10.00-14.00 น. เพียง 10 นาที จะกลายเป็นวิตามินดี 2 สูงขึ้น 4,000% หากนำเห็ดไปปรุงอาหารความร้อนไม่ถึง 150 องศา วิตามินดี 2 ยังอยู่ “เออร์โกสเตอรอล” คือ แหล่งสารตั้งต้นของวิตามินดี 2

หากสังเกตช่วงโรคโควิด-19 ระบาดรุนแรง คนยุโรป และคนอยู่ใกล้ขั้วโลกที่แสงแดดน้อยติดไวรัสโควิดมีอาการรุนแรงและรวดเร็ว เพราะภูมิคุ้มกันในร่างกายต่ำ เพราะไม่ได้ถูกแสงแดด รวมถึงคนไทยที่ทำงานออฟฟิศอยู่แต่ในห้องแอร์

ด้วยเหตุนี้คนยุโรปจึงหาแหล่งที่มาของวิตามินดี และพยายามใส่วิตามินดีเข้าไปในอาหาร ดังนั้นในต่างประเทศใครปลูกเห็ด ถ้าจะนำไปวางขายในตลาดถูกบังคับต้องเอาเห็ดมาฉายแสงอัลตราไวโอเลต แต่เมืองไทยแดดเปรี้ยงอยู่แล้ว

เห็ด

“เห็ดเยื่อไผ่” เป็นยาอีกตัวที่น่าสนใจ ปัจจุบันหลายคนยังคิดว่า เยื่อมาจากต้นไผ่ แต่จริง ๆ คือ เห็ดเยื่อไผ่ คนไทยเรียกว่า “เห็ดร่างแห หรือเห็ดกระโปรง” ซึ่งเกิดขึ้นในบ้านเราได้ตลอดทั้งปี เพราะเป็นเห็ดเมืองร้อน แต่ที่ผ่านมาคนไทยกลับนำเข้าเห็ดเยื่อไผ่จากเมืองจีนจำนวนมาก แต่ปัจจุบันคนไทยเริ่มเพาะเห็ดเยื่อไผ่กันมากขึ้นแล้ว

เห็ดเยื่อไผ่ มีสาร Dictyophorine เป็นสารที่ทำให้เซลล์ประสาทที่ได้รับความกระทบกระเทือน (Brain Damage) เช่น อุบัติเหตุ สมองเสื่อม ให้ฟื้นฟูกลับมาได้

นอกจากนี้ เห็ดเยื่อไผ่มีเมือกหนาหุ้มอยู่ และเมือกตรงนี้มีสารไฮยาลูรอนิก หรือ ไฮยาลูรอน (Hyaluronic) ธรรมชาติ ซึ่งจะซึมเข้าสู่ผิวหนังทันที และกระตุ้นให้ร่างกายสร้างสารคอลลาเจนขึ้นมา ปัจจุบันเมืองไทยนำเห็ดเยื่อไผ่มาทำเป็นเครื่องสำอาง

เพียงแค่สาร 3 ตัวในเห็ดที่กล่าวมาสร้างมูลค่ามหาศาล ดังนั้น การที่หลายคนบอกมีเงินอยากลงทุนเพาะเห็ด ถ้าจะพูดเรื่องแปรรูปสร้างมูลค่า อย่างที่ทำกันในท้องตลาด คงไม่ใช่ เห็ดจะเพิ่มมูลค่าได้อย่างไร ต้องเข้าใจรากเหง้าอย่างแท้จริงก่อน

จี้ให้ความสำคัญ

ดร.อานนท์ชี้ว่า เห็ดแบ่งเป็น 2 ชนิดหยาบ ๆ 1) เป็นเห็ดที่กินเศษซากพืชที่ตายแล้ว 2) เห็ดที่ต้องอาศัยรากพืชที่มีชีวิตอยู่ เรียกว่า “ไมคอร์ไรซา” (mycorrhiza) เป็นการอยู่ร่วมกันแบบภาวะพึ่งพากัน ด้วยการอาศัยจุลินทรีย์ที่อยู่ที่รากพืช

นั่นหมายความว่า ในโลกนี้ 95% ของต้นไม้ พืชจะไม่สามารถดูดอาหารจากดินได้ เพราะอาหารในดินมีขนาดโมเลกุลใหญ่ หรืออยู่ในรูปเกลือที่รากพืชเอาไปใช้ไม่ได้ ยกเว้นพืช 5% ที่เป็นไม้น้ำ เช่น ผักตบชวา ต้นบัว

เห็ด

ฉะนั้น ต้นไม้ที่เราเห็นทั้งหมดที่ไม่ใช่พืชน้ำ ต้องอาศัยจุลินทรีย์ เช่น เชื้อเห็ดอยู่ตรงปมรากของมัน และตรงปมราก จุลินทรีย์ในเชื้อเห็ดจะคายเอนไซม์ออกมาย่อยแร่ธาตุจากดินให้มีโมเลกุลเล็ก แล้วรากพืชจึงนำอาหารนั้นไปใช้ได้

ขณะเดียวกันจุลินทรีย์พวกนี้จะกินพลังงานได้ จากการที่พืชสังเคราะห์แสง นั่นหมายถึงพืชสังเคราะห์แสงได้คาร์โบไฮเดรต ได้น้ำตาลไปส่งให้เชื้อรา เชื้อเห็ด เป็นการอยู่ร่วมกันแบบพึ่งพาอาศัยกัน เรียกว่าขบวนการ symbiosis พอต้นไม้โต รากขึ้นจำนวนมาก

ถ้าหากสภาพแวดล้อมเหมาะสม ต้นไม้ก็โตไว เพราะเห็ดย่อยอาหารให้ การใช้ปุ๋ยก็น้อยลง พืชพวกนี้ถ้าไม่มีเห็ดก็ไม่โต ถ้าหากต้นไม้โต จุลินทรีย์ก็โตไปด้วย เมื่อโตขึ้นไปถึงจุดจุดหนึ่ง อากาศเหมาะสม

ผลิตภัณฑ์เห็ด

เช่น การปลูกเห็ดเผาะ เห็ดระโงก เรียกว่า “ไมคอร์ไรซา” เป็นเห็ดที่ต้องอาศัยรากพืชที่มีชีวิตอยู่ เราสามารถปลูกไม้ยางนา เอาเชื้อเห็ดใส่เข้าไปเพียงครั้งเดียว พอเห็ดออกดอกปีต่อ ๆ ไปจะเกิดมากขึ้นโดยไม่ต้องใส่เชื้อเห็ดเพิ่ม ยางนามีอายุ 700 ปี เก็บผลผลิตไปได้ตลอดชีวิต เห็ดพวกนี้ เพาะในถุงไม่ได้ ต้องอาศัยต้นไม้มีชีวิต

การเผาป่าเพื่อหาเห็ดเผาะที่ภาคเหนือทำกันมันผิด ทฤษฎีต้นไม้ต้องมีชีวิต เห็ดถึงจะเกิด ต้นไม้ตาย เห็ดก็ไม่เกิด ถ้าเกษตรกรมีที่ดิน 2-3 ไร่ ปลูกไม้ยางนา ได้ป่าด้วย แล้วเมืองไทยจะหายจน ยกตัวอย่าง ประเทศนิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย ฝรั่งเศส ฟินแลนด์ ถึงปลูกป่า เพื่อเอาเห็ด “ไมคอร์ไรซา” เช่น เห็ดทรัฟเฟิล, เห็ดมัตสึทาเกะ, เห็ดพอร์ชินี

เพราะฉะนั้น ถ้าคนไทยเข้าใจ เมืองไทยจะมีป่าสมบูรณ์มาก อันนี้เป็นเรื่องใหญ่ของประเทศ ที่ทุกฝ่ายต้องให้ความสำคัญ แต่ที่ผ่านมาประเทศไทยยังไม่มีหน่วยงานใดให้ความสำคัญ ทั้งที่มีงานวิจัยเรื่องเห็ดมากมายในประเทศไทย