โครงการสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่ง ริมแม่น้ำป่าสัก คืบหน้าเร็วกว่ากำหนด

โครงการสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่ง ริมแม่น้ำป่าสัก
ภาพจาก สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

โครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่ง ริมแม่น้ำป่าสัก งบประมาณ 22 ล้านบาท บริเวณหมู่ที่ 2 ตำบลบางพระครู อำเภอนครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา คืบหน้ากว่า 82.35% เร็วกว่าแผนที่กำหนดไว้ในระยะเวลาดำเนินการ 300 วัน

วันที่ 22 มิถุนายน 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสุวิทย์ วิจิตรโสภา ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี พร้อมคณะหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เดินทางไปยังพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อติดตามและสอดส่องโครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำป่าสัก บริเวณหมู่ที่ 2 ตำบลบางพระครู อำเภอนครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งได้รับจัดสรรงบประมาณ 22 ล้านบาท

นายสุวิทย์ กล่าวว่า การลงพื้นที่ในครั้งนี้ก็เพื่อติดตามโครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำป่าสัก บริเวณหมู่ที่ 2 ตำบลบางพระครู อำเภอนครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ความยาว 200 เมตร ซึ่งเป็นโครงการที่สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดพระนครศรีอยุธยาเป็นผู้รับผิดชอบ ด้วยงบประมาณ 22 ล้านบาท

เริ่มสัญญาเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2565 ซึ่งจะสิ้นสุดสัญญาในวันที่ 22 กันยายน 2566 รวมระยะเวลาดำเนินการ 300 วัน สำหรับการก่อสร้างเขื่อนดังกล่าว ปัจจุบัน มีความคืบหน้ากว่า 82.35% ซึ่งถือว่าเร็วกว่าแผนที่กำหนดไว้ 22.83%

โดยพบว่าโครงสร้างการก่อสร้างได้มาตรฐาน มั่นคง ซึ่งจะทำให้เกิดประโยชน์ในการป้องกันการกัดเซาะริมตลิ่ง ขณะเดียวกันจะป้องกันการทรุดตัวของดินในหน้าแล้งด้วย ภาพรวมโครงการนี้ถือว่าเป็นไปตามแผนและเป็นประโยชน์ชัดเจน จากนี้จะไปดูในรายละเอียดอีกทีว่าประเด็นไหนที่ส่งผลกระทบต่อประชาชน ทางกรรมการ ก.ธ.จ. จะให้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ ที่เป็นประโยชน์ตามแนวทางที่ควรต่อไป

โครงการสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่ง ริมแม่น้ำป่าสัก
ภาพจาก สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

นอกจากนี้ โครงการดังกล่าวยังบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน วัด และโรงเรียน ที่อยู่ตามแนวเขื่อนได้ อีกทั้งตอบสนองความต้องการของชุมชน เมื่อฤดูน้ำหลากตลิ่งก็จะถูกน้ำกัดเซาะจากกระแสน้ำที่ไหลแรง และเมื่อถึงฤดูแล้งปริมาณน้ำลดก็จะเกิดปัญหาตลิ่งทรุดตัว

ซึ่งปัจจุบันสถานการณ์การทรุดตัวตามแนวตลิ่งริมแม่น้ำป่าสัก มีการขยายตัวเป็นวงกว้างขึ้นในแต่ละปี หากปล่อยไว้อาจทำให้สิ่งก่อสร้างของทางประชาชนเกิดความเสียหายและพังทลายได้

ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งเพื่อป้องกันความเสียหายที่เกิดขึ้น เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงและปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน

อย่างไรก็ตาม โครงการยังไม่เสร็จสมบูรณ์ และได้เน้นย้ำให้สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดพระนครศรีอยุธยา คำนึงถึงรายละเอียดของมาตรฐานที่ควรจะเป็น เพื่อให้การใช้งบประมาณเกิดความคุ้มค่า และช่วยเหลือพี่น้องประชาชนในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดต่อไป