ปัดฝุ่นท่าเรือ “คลองใหญ่” หอตราดชงเปิดเฉพาะ “ท่องเที่ยว”

ท่าเรือ ‘คลองใหญ่’

“ท่าเรืออเนกประสงค์คลองใหญ่” มูลค่า 1,295,100,000 ล้านบาท ซึ่งสร้างบนที่ราชพัสดุ หมู่ที่ 7 ต.คลองใหญ่ อ.คลองใหญ่ จ.ตราด ถือเป็นหนึ่งในท่าเรือที่ถูกทิ้งร้างนานกว่า 8 ปี หลังจากใช้งบประมาณของกรมเจ้าท่าในการก่อสร้าง

และมอบหมายให้การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) บริหาร โดยไม่มีรายได้สักบาทเดียว แถมติดลบเพราะต้องจ่ายค่าไฟ ค่าน้ำ วันนี้หอการค้าไทย และหอการค้าจังหวัดตราดพยายามผลักดันปัดฝุ่นขึ้นมาอีกครั้ง

ค่าเช่าแพงเอกชนเมิน

ปี 2548 กรมเจ้าท่าได้ว่าจ้างที่ปรึกษา บริษัท เอทีที คอนซัลแตนท์ จำกัด ศึกษาและสำรวจออกแบบ เพื่อรองรับการพัฒนาชายฝั่งตะวันออกเชื่อมต่อกัมพูชาและท่าเรือชายฝั่งตอนใต้เวียดนาม ด้วยความต้องการท่าเรือมาตรฐานและคาดการณ์การใช้ประโยชน์จากกลุ่มเป้าหมายหลัก เรือประมง เรือท่องเที่ยว การขนส่งสินค้าทางน้ำไปกัมพูชา และเรือโดยสารที่จะเดินทางไปเกาะหมาก เกาะกูด

รวมถึงการโดยสารท่องเที่ยวทางน้ำเชื่อมโยงกับประเทศกัมพูชาและเวียดนามตอนใต้ และปี 2552 มีการศึกษาอีกฉบับ โดย บริษัท ทีมคอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด ออกแบบก่อสร้าง อาคารต่าง ๆ สิ่งอำนวยความสะดวกบริเวณพื้นที่ท่าเทียบเรือและแผนป้องกันผลกระทบสิ่งแวดล้อม ระยะเวลาก่อสร้าง ตั้งแต่ปี 2548-2558 และกรมเจ้าท่าตรวจรับ 6 มิถุนายน 2559

สรุปผลการศึกษาระบุให้ท่าเทียบเรือแห่งนี้เป็นท่าเรืออเนกประสงค์ สะพานกว้าง 15.60 เมตร ยาว 2,058 เมตร สูง 6 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง ความลึกหน้าท่าประมาณ 5.5 เมตร ณ ระดับน้ำทะเลปานกลาง ประกอบด้วย 1) ท่าเรืออเนกประสงค์

2) ท่าเทียบเรือท่องเที่ยว กว้าง 60 เมตร ยาว 120 เมตร ท่าเทียบเรือทหารเรือ กว้าง 15.80 เมตร ยาว 50 เมตร ท่าเทียบเรือประมง กว้าง 25 เมตร ยาว 50 เมตร อาคารบนบก 28 หลัง (คลังสินค้า อาคารตรวจสินค้า โรงอาหาร ที่พักเจ้าหน้าที่) ติดตั้งระบบไฟฟ้า น้ำประปา กลุ่มเรือเป้าหมาย เรือสินค้าขนาดไม่เกิน 500 ตันกรอส เรือประมง เรือท่องเที่ยวและเรือตรวจการณ์ของทางราชการ

ปี 2560 กรมเจ้าท่าจัดให้เช่าตามหลักเกณฑ์กรมธนารักษ์ โดย 1) อบต.คลองใหญ่ เช่า คิดค่าเช่า 3.947 ล้านบาท/ปี โดยยกเว้นค่าธรรมเนียมการจัดให้เช่า และ 2) เอกชนเช่า ต้องมีการประมูล ค่าเช่าปีแรก 6.579 ล้านบาท ปรับค่าเช่า 9% ทุก 3 ปี

แต่ไม่มีผู้เช่าด้วยอัตราค่าเช่าสูงมาก อบต.คลองใหญ่แบกรับภาระไม่ไหว ส่วนภาคเอกชนเห็นว่าท่าเรือมีข้อจำกัดหลายอย่างไม่เหมาะกับท่าเรือขนถ่ายสินค้า ที่สำคัญรับเรือสินค้าไม่เกิน 500 ตันกรอส

ต่อมาได้มีมติ ครม.เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2561 มอบให้การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เป็นผู้บริหารท่าเรืออเนกประสงค์คลองใหญ่ จ.ตราด แต่ระยะเวลาผ่านมา 4 ปี กทท.ยังไม่มีความชัดเจนแนวทางบริหารท่าเรือคลองใหญ่

ล่าสุดองค์กรภาคเอกชน นำโดยหอการค้าไทย หอการค้าจังหวัดตราด และผู้ประกอบการในท้องถิ่น เห็นว่าท่าเทียบเรือดังกล่าวมีมูลค่าการลงทุนเกือบ 1,300 ล้านบาท ควรนำมาใช้ประโยชน์ทางด้านการท่องเที่ยวเพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ

ท่าเรือ ‘คลองใหญ่

ท่าเรือมิกซ์ยูสไม่ตอบโจทย์

เมื่อเร็ว ๆ นี้ กทท.จัด Market Sounding ครั้งที่ 1 รับฟังความเห็นการทดสอบความสนใจ จากหน่วยงานหลักจากภาครัฐ เอกชน มีข้อสรุป 5 ประเด็น คือ 1) ท่าเรือ mixed-used การนำท่าเรือแต่ละประเภทมาไว้ในพื้นที่เดียวกันเพื่อเพิ่มมูลค่า ไม่เหมาะสมในการใช้งาน และพื้นที่การใช้งานขนส่งสินค้า ติดตั้งอุปกรณ์ต่าง ๆ ไม่เพียงพอ

2) ท่าเรือจำกัดขนาดเรือสินค้าต่ำกว่า 500 ตันกรอส ไม่สามารถรับเรือสินค้าและเรือท่องเที่ยว (cruise) ขนาดใหญ่ และต้องแข่งขันกับท่าเรือขนส่งสินค้าเอกชนที่อยู่ใกล้เคียงกัน และข้อตกลงการเดินเรือ 3 ประเทศ (ไทย กัมพูชา เวียดนาม) ยังไม่แล้วเสร็จไม่มีการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ

3) มูลค่าทางเศรษฐกิจ สภาพการค้าชายแดนเปลี่ยนเป็นการขนส่งทางบก ที่สะดวก รวดเร็วมากกว่าและส่งออกทาง จ.สระแก้วถึง 65% และการขนส่งขนาดใหญ่นิยมไปใช้ท่าเรือที่ จ.ระยอง และชลบุรีที่ใกล้แหล่งผลิต

4) ภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จ.ตราด กทท.ขาดความพร้อมและไม่มีมาตรการส่งเสริมสิทธิประโยชน์จูงใจให้เข้ามาบริหารและใช้ท่าเรือ โดยเฉพาะอัตราค่าเช่าของกรมธนารักษ์สูงมาก และ 5) การบูตท่าเรือคลองใหญ่ ให้ได้ใช้ประโยชน์เพื่อการท่องเที่ยวเหมาะสมมากกว่า

แหล่งข่าวจากหอการค้าไทย ให้ความเห็นว่า กรมเจ้าท่าไม่ได้อัพเกรดท่าเรือให้รองรับเรือขนาดเกินกว่า 500 ตันกรอสที่เป็นข้อจำกัดสำคัญ ทำให้ economy of scale ไม่ได้ เรือสินค้าขนาดเล็กไปแค่กัมพูชาแทบไม่คุ้มทุน และการทำท่าเรือ mixed-used ไม่เหมาะสมตั้งแต่การศึกษาสำรวจออกแบบและวัตถุประสงค์

โดยเฉพาะท่าเทียบเรือประมงกับท่องเที่ยวอยู่ด้วยกัน และท่าเรือประมงไม่มีพื้นที่สำหรับการประมูล การขนส่งรถที่มารับสัตว์น้ำเพียงพอ

ที่สำคัญผลการศึกษาคาดว่าปี 2560-2570 มูลค่าการค้าชายแดน ข้ามแดน ปี 2560 จะมีปริมาณสินค้าส่งออก 698,481 ตัน ปี 2566 เพิ่มขึ้น 880,826 ตัน และปี 2570 เพิ่มขึ้น 1 ล้านตัน และจะมีเรือประมงเข้า 21,000 เที่ยว/ปี

แต่ตอนนี้ท่าเรือ ปริมาณสินค้าเป็น 0 ตัน ไม่มีเรือประมงเข้ามาใช้ ท่าเรือจึงไม่เหมาะกับการขนส่งสินค้าและการประมง ควรพัฒนาเพื่อการท่องเที่ยวมากกว่าเพราะองค์ประกอบ capacity พร้อม สนง.ศุลกากร กรมเจ้าท่า ท่องเที่ยว และลานจอดเฮลิคอปเตอร์

ท่าเรือ ‘คลองใหญ่’

ท้องถิ่นตอบรับท่าเรือท่องเที่ยว

ทพญ.วิภา สุเนตร ประธานหอการค้า จ.ตราด เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หอการค้า จ.ตราดได้เสนอการใช้ท่าเรือคลองใหญ่ จ.ตราด เพื่อการท่องเที่ยวผ่านหอการค้าไทย ภายหลังการก่อสร้างเสร็จและยังไม่มีการใช้ประโยชน์ ด้วย

จ.ตราดมีศักยภาพด้านการท่องเที่ยว ปี 2564 มีนักท่องเที่ยว 2.2 ล้านคน เกาะกูด เกาะหมาก แหล่งท่องเที่ยวที่ได้ความนิยมทั้งไทยและต่างประเทศ และที่ตั้งท่าเรือคลองใหญ่ตัดตรงเดินทางได้ระยะเวลาที่สั้นลง และอยู่ในเส้นทางเชื่อมโยงทางน้ำ 3 ประเทศ ไทย กัมพูชา เวียดนาม

และในอนาคตอาจจะพัฒนาเป็นด่านสากลทางทะเล สนับสนุนการเดินเรือข้ามพรมแดน (cross-border ferry) คาดว่าจะมีการพัฒนาท่าเรือในด้านอื่น ๆ ตามมา

“ปัญหาอัตราค่าเช่ากรมธนารักษ์สูงมาก ทำให้ท้องถิ่น และภาคเอกชนไม่สามารถเข้ามาบริหารได้ หากเปิดให้ทดลองใช้ท่าเรือเพื่อการท่องเที่ยวไปก่อน โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายหรือจ่ายในอัตราที่ต่ำ เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระต้นทุนของผู้ประกอบการ เพื่อหาดีมานด์ ความเป็นไปได้ ขีดความสามารถ

และพัฒนาเป็นท่าเรือ one stop service ผลักดันเป็นด่านสากล เชื่อมต่อระหว่างประเทศตามโครงการ CVTEC (ไทย เวียดนาม กัมพูชา) ขณะที่ กทท.ยังอยู่ระหว่างพิจารณารับมอบเนื่องจากพบปัญหาหลายประการ ภาคเอกชนเห็นศักยภาพการท่องเที่ยวเชื่อมโยงกับกัมพูชา และเกาะกูด เกาะหมาก เกาะช้าง” ทพญ.วิภากล่าว

ท่าเรือ “บุญศิริ” รุกเชื่อมโยง

นางสาววิยะดา อมรเพชรกุล ผู้บริหารระดับสูง บริษัทบุญศิริเดินเรือ จำกัด กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2566 จะเปิดเส้นทางท่องเที่ยวเชื่อมโยงทางทะเลไทย-กัมพูชา จากชายแดนจุดผ่านแดนถาวรบ้านหาดเล็ก อ.คลองใหญ่ จ.ตราด-เกาะรง สีหนุวิลล์ กัมพูชา ระยะแรก

ใช้เส้นทางบกระยะทาง 100 กิโลเมตร ใช้เวลา 3 ชั่วโมง เพื่อลงเรือเฟอร์รี่ของบริษัท ศิริสาคร ที่ท่าเรือดาราซากอร์ จ.เกาะกง เดินทางไปเกาะรง จ.สีหนุวิลล์ ใช้เวลา 50 นาที เป็นการเดินทางภายใน 1 วันจากกรุงเทพมหานคร หากใช้เส้นทางรถยนต์ไปลงเรือที่ท่าเรือสีหนุวิลล์ต้องใช้เวลา 5 ชั่วโมง ตลาดคือนักท่องเที่ยวไทย และในเส้นทางกลับกัน จะนำนักท่องเที่ยวจากกัมพูชาที่มีกำลังซื้อ

รวมทั้งชาวจีนที่ทำงานอยู่ในกัมพูชาที่เป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่หรือนักท่องเที่ยวที่เข้ามาทาง จ.สระแก้ว ใช้เส้นทางนี้เข้ามาท่องเที่ยว ไปเที่ยว เกาะกูด เกาะหมาก จากท่าเรือบ้านหาดเล็กที่ตัดตรงใช้เวลาเพียง 30 นาที หรือไปเกาะช้าง และเดินทางต่อไปพัทยา กรุงเทพมหานคร

“ท่าเรือใน อ.คลองใหญ่จะเป็นจุดกระจายนักท่องเที่ยวไปเกาะกูดเกาะหมากและส่งต่อไปยังแหล่งท่องเที่ยวอื่น ๆ และอนาคตจะเปิดเส้นทางเชื่อมโยงท่าเรือ ความจำเป็นในการใช้ท่าเรือจึงต้องสร้างท่าเรือส่วนตัวเป็นท่าเรือขนาดเล็ก ใช้เรือคาตามารันที่ใช้ขนส่งกินน้ำไม่ลึก และอยู่ห่างชายแดนเพียง 2 กม. ส่วนท่าเรือคลองใหญ่มีขนาดใหญ่มีค่าใช้จ่ายสูงและยังไม่มีความชัดเจนที่จะเปิดให้เช่าหรือใช้บริการ”