ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนุน SMART FARM

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนุน SMART FARM

ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปั้น Young Smart Farmer 1.2 พันราย ปรับโครงสร้างการผลิตสู่ Smart Farm ดันสินค้ากลุ่มอาหารฮาลาล สกินแคร์ สมุนไพร เจาะตลาดตะวันออกกลาง สิงคโปร์ และจีน เผยมูลค่าตลาดกลุ่มสินค้าเกษตร BCG ภาคเหนือตอนบน 1 พุ่งกว่า 1 หมื่นล้านบาท

วันนี้ 20 กรกฎาคม 2566 รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน ผู้อำนวยการและผู้ก่อตั้งศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ดำเนินโครงการ “การพัฒนาระบบควบคุมฟาร์มอัจฉริยะในโรงเรือน โดยใช้นวัตกรรมเทคโนโลยีสมัยใหม่แบบยั่งยืน ในภาคเหนือตอนบน 1”

โดยมีเป้าหมายสำคัญคือ การยกระดับและพัฒนาเกษตรกรในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน 1 (เชียงใหม่, ลำพูน, ลำปาง, แม่ฮ่องสอน) ด้วยการนำเทคโนโลยีนวัตกรรมมาปรับเปลี่ยนโครงสร้างการผลิตทางการเกษตร เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ BCG ภาคอุตสาหกรรมการเกษตรฮาลาลให้มีมูลค่าที่สูงขึ้น

ทั้งนี้ การพัฒนาระบบควบคุมฟาร์มอัจฉริยะในโรงเรือน โดยใช้นวัตกรรมเทคโนโลยีสมัยใหม่ ช่วยแก้ไขปัญหาและลดความเสี่ยงในการปลูกพืชหรือสมุนไพรและต่อยอดผลิตผลทางการเกษตรในฟาร์มให้เป็นพืชปลอดภัยได้ตามมาตรฐาน GAP และได้รับความรู้เกี่ยวกับมาตรฐาน Halal ด้านหลักศาสนบัญญัติอิสลาม ซึ่งเป็นโอกาสของเกษตรกรภาคเหนือตอนบน 1 ที่จะต่อยอดสินค้าเกษตรสู่ตลาดฮาลาลได้กว้างมากขึ้น

รศ.ดร.วินัยกล่าวว่า การปรับภาคการเกษตรสู่ Smart Farm เป็นสิ่งที่เกษตรกรต้องเร่งปรับตัว ซึ่งการเข้าถึงเทคโนโลยีนวัตกรรมไม่ใช่เรื่องยากนัก โดยทางศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาลจะผลักดันสู่ระดับนโยบายที่รัฐบาลต้องอุดหนุนและให้ความช่วยเหลือเกษตรกร ทั้งการเข้าถึงแหล่งเงินทุน และการอุดหนุนด้านเครื่องไม้เครื่องมือ ถือเป็นการเปลี่ยนผ่านของระบบการเกษตรของไทย

ผศ.ดร.ภราดร สุรีย์พงษ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จากการลงพื้นที่เยี่ยมชม Sun Space Farm ในจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นโรงเรือน 1 ใน 5 โรงเรือนที่ติดตั้งอุปกรณ์ SMART FARM จากโครงการ “การพัฒนาระบบควบคุมฟาร์มอัจฉริยะในโรงเรือน โดยใช้นวัตกรรมเทคโนโลยีสมัยใหม่แบบยั่งยืน ภาคเหนือตอนบน 1”

เพื่อพัฒนาระบบควบคุมฟาร์มอัจฉริยะในโรงเรือน ใช้นวัตกรรมเทคโนโลยีสมัยใหม่ภายในพื้นที่ และเพื่อแก้ไขปัญหาและลดความเสี่ยงด้านจัดการปลูกพืชสมุนไพรในโรงเรือนอัจฉริยะ

และเพื่อพัฒนาระบบการบริหารจัดการการปลูกพืชสมุนไพรในโรงเรือนอัจฉริยะด้วยนวัตกรรมเทคโนโลยีสมัยใหม่ ให้เป็นโรงเรือนต้นแบบ เพื่อใช้และพร้อมสอนต่อไปยังกลุ่มเกษตรกร รวมถึงกลุ่มผู้ที่สนใจ เพื่อนำผลิตผลทางการเกษตรในฟาร์มให้เป็นพืชปลอดภัยได้ตามมาตรฐาน GAP และได้รับความรู้เกี่ยวกับมาตรฐาน Halal ด้านหลักศาสนบัญญัติอิสลาม

การประยุกต์เทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อการปลูกพืชสมุนไพรในรูปแบบเกษตรอัจฉริยะ เป็นการนำเอาระบบเฝ้าระวัง (monitoring) และระบบควบคุม (control) ปัจจัยต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของพืช เช่น การใช้น้ำ, อุณหภูมิ และความชื้น เป็นต้น ด้วยการนำเอาเทคโนโลยีใหม่ loT (Internet of Things) โดยการติดตั้งอุปกรณ์เซ็นเซอร์ (Sensor) และอุปกรณ์ควบคุม (Controller) ภายในโรงเรือน และส่งข้อมูลไปยังเซิร์ฟเวอร์

โดยเกษตรกรหรือผู้ใช้งานสามารถสั่งการ และเรียกดูการรายงานผลในรูปแบบข้อมูลและกราฟผ่านทางหน้าเว็บไซต์ (Website) ทําให้สามารถลดต้นทุนการผลิตในกระบวนการเพาะปลูก และเพิ่มผลผลิตให้สามารถส่งออกตลาดได้อย่างเพียงพอ ด้วยในปัจจุบันชุมชนมีตลาดรองรับเป็นจํานวนมาก นอกจากนี้ยังลดการใช้เวลาและการพึ่งพาแรงงานอีกด้วย

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนุน SMART FARM

ผศ.ดร.ภราดรกล่าวต่อว่า ในปีนี้ (2566) ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำนักงานเชียงใหม่ ได้จัดให้มีการอบรมเชิงปฏิบัติการ Smart Farm ในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน 1 ทั้ง 4 จังหวัดคือ เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง และแม่ฮ่องสอน โดยมีเป้าหมายจำนวนเกษตรกรที่เข้าร่วมรับการอบรมจำนวน 1,200 ราย ซึ่งขณะนี้มีเกษตรกรที่ผ่านการอบรมแล้วจำนวน 800 ราย ส่วนที่เหลืออีก 400 รายจะดำเนินการอบรมเสร็จสิ้นภายในปีนี้

ขณะเดียวกัน ทางโครงการยังได้ทำสินค้าต้นแบบ (Prototype) จากพืชเกษตรและสมุนไพรจากโครงการ Smart Farm เพื่อนำสู่ตลาดทั้งในและต่างประเทศ โดยในปีแรก (2566) มียอดขายรวมกว่า 2 ล้านบาท และคาดว่าในปี 2567 ยอดขายจะเพิ่มขึ้นเป็น 10 ล้านบาท โดยมีตลาดต่างประเทศ 3 กลุ่มหลักที่มีความต้องการสินค้าเกษตรฮาลาลของภาคเหนือตอนบน 1 ได้แก่

1.ตะวันออกกลาง (บาห์เรน ดูไบ และซาอุดีอาระเบีย) 2.สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และมาเลเซีย 3.จีน โดยสินค้าที่ตลาดตะวันออกกลางมีความต้องการมากคือ สินค้ากลุ่มสกินแคร์ที่ผลิตจากสมุนไพรไทย รวมถึงสินค้ากลุ่มสปา โปรดักต์ เป็นต้น ซึ่งเป็นการเจาะฐานการตลาดให้เกษตรกรสามารถต่อยอดขายสินค้าได้โดยตรง ทั้งนี้ มูลค่าตลาดสินค้าเกษตรกลุ่ม BCG ของทั้งประเทศมีมูลค่ากว่า 40,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ คาดว่ามีสัดส่วนสินค้ากลุ่มนี้ของภาคเหนือตอนบน 1 มากกว่า 10,000 ล้านบาท จึงมีโอกาสสูงมากที่เกษตรกรที่เข้าสู่ระบบ Smart Farm จะสามารถเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรฮาลาลกลุ่ม BCG ได้เพิ่มมากขึ้นในอนาคต

สำหรับผลผลิตทางการเกษตรของฟาร์มที่เข้าร่วมโครงการ ที่น่าสนใจและตลาดมีความต้องการสูง อาทิ 1.Flower snack (ผลิตภัณฑ์ดอกไม้อบกรอบปรุงรส) 2.Hydrosol Drinking Water (น้ำกลั่นจากพืชใช้สำหรับบริโภค) 3.Plant Cosmetics Color (การสกัดสีจากพืชเพื่อการทำสกินแคร์และเครื่องสำอาง) 4.Plant Probiotic (การทำโปรไบโอติกส์จากพืช) 5.Plant encapsulation (การเอ็นแคปซูเลชั่นสารสกัดจากพืช)

6.Nail Serum ผลิตภัณฑ์บำรุงเล็บ โดยมีข้าวหอมมะลิ น้ำมันงาขี้ม้อน น้ำมันเมล็ดชา เป็นส่วนประกอบ 7.Quranic Energy Bar (ขนมอบกรอบให้พลังงาน ผลไม้ผสมธัญพืช (มีการกล่าวถึงในอัลกุรอาน) 8.BUTTERNUT SQUASH FLOUR (เส้นพาสต้าจากแป้งบัตเตอร์นัทสควอช) 9.Seven Day tea (ชา 7 สี) 10.Plant food color (การสกัดสีจากพืชเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมอาหารและยา)