ลุ้นคืนชีพ 3 ท่าเรือร้าง คลองวาฬ-เชียงของ-ศาลาลอย

ท่าเรือร้าง

เม็ดเงินเฉียดหมื่นล้านบาทที่จมอยู่ใน “ท่าเรือ” หลายแห่งทั่วประเทศที่ถูกปล่อย “ทิ้งร้าง” “ประชาชาติธุรกิจ” ได้สำรวจติดตามความเคลื่อนไหว ล่าสุดมีความเคลื่อนไหวจากท่าเรือ 3 แห่ง ได้แก่ สถานีขนส่งสินค้าทางลำน้ำเพื่อการประหยัดพลังงาน ริมแม่น้ำป่าสัก ต.ศาลาลอย อ.ท่าเรือ จ.นครพระนครศรีอยุธยา หรือ “ท่าเรือศาลาลอย”

ท่าเรืออเนกประสงค์คลองวาฬ ต.คลองวาฬ อ.เมือง จ.ประจวบคีรีขันธ์ และท่าเรือเชียงของ จ.เชียงราย จากการสอบถามนักธุรกิจในพื้นที่ ได้มีความพยายามคืนฟื้นชีพท่าเรือเหล่านี้ขึ้นมา

อบต.ลุ้นทำท่าเรือ “คลองวาฬ”

นางบุญเยี่ยม วินิจ นายกเทศมนตรีตำบลคลองวาฬ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัจจุบันทางเทศบาลได้มีการยื่นเอกสารขอเข้าไปปรับปรุง ซ่อมแซมท่าเรืออเนกประสงค์คลองวาฬ จ.ประจวบคีรีขันธ์ และจะเปิดเป็นสถานที่ท่องเที่ยว และให้ชาวบ้านและชาวประมงใช้ประโยชน์ ซึ่งได้ทำการศึกษาและออกแบบเสร็จแล้วเมื่อปี 2565 โดยใช้งบประมาณของเทศบาล มูลค่า 3 ล้านบาท

แต่พื้นที่ดังกล่าวมีกรมธนารักษ์และองค์การสะพานปลาเป็นเจ้าของพื้นที่ โดยทางกรมธนารักษ์ได้มีการอนุมัติให้เข้าไปใช้พื้นที่ได้แล้ว แต่ยังติดปัญหากับองค์การสะพานปลาอยู่ ซึ่งไม่ได้แจ้งชัดเจนว่าติดเรื่องอะไร

นายนิพนธ์ สุวรรณนาวา ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ท่าเรืออเนกประสงค์คลองวาฬ วัตถุประสงค์แรกเริ่มจะใช้เป็นท่าเรือพาณิชย์ขนาดใหญ่ เพื่อรองรับการขนส่งสินค้าจากด่านสิงขร

ปัจจุบันไม่มีผู้ประกอบการหรือนักลงทุนสนใจเข้าไปบริหาร เพราะไม่คุ้มค่าในการลงทุน ตอนนี้มีเพียงเรือประมงขนาดเล็กเข้าไปใช้ประโยชน์ แต่ไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้เต็มที่ทางกรมเจ้าท่าต้องขุดลอกทุกปี เพื่อให้มีร่องน้ำเรือสามารถเข้ามาใช้งานได้

ขณะนี้ทราบว่าทางเทศมนตรีตำบลคลองวาฬ ได้ยื่นเอกสารขอเข้าไปบริหารจัดการท่าเทียบเรือคลองวาฬ เพราะอยากเข้าไปปรับปรุงซ่อมแซมและทำเป็นสถานที่ท่องเที่ยว ตอนนี้อยู่ในขั้นตอนการขอใช้พื้นที่

โครงการท่าเรือร่องน้ำคลองวาฬ ใช้งบประมาณ 429 ล้านบาท ของกรมเจ้าท่า หลังจากเริ่มก่อสร้างได้มีการแบ่งงบประมาณไปทำเขื่อนกันคลื่น และตัดความยาวขนาดของท่าเทียบเรือให้สั้นลง และไม่ได้ของบประมาณมาทดแทน ซึ่งปกติท่าเทียบเรือแห่งนี้ควรยื่นออกไปในทะเลอีกราว 100 เมตร ทำให้เรือขนาดกลางหรือขนาดใหญ่ไม่สามารถเข้าไปใช้งานได้

ตอนนี้ไม่สามารถแก้ไขอะไรได้นอกจากจะหางบประมาณเพิ่มเพื่อขยายท่าเทียบเรือให้ยาวขึ้น แต่คงรับได้เพียงภาคการประมง เพราะไม่มีจุดที่สินค้าพาณิชย์จะมาลง

จี้รัฐถก “ลาว” ฟื้น “เชียงของ”

ด้านท่าเรือเชียงของ อ.เชียงของ จ.เชียงราย ในสมัยเริ่มสร้างได้รับงบประมาณในการก่อสร้างพร้อมกับท่าเรือเชียงแสน มูลค่าประมาณ 1,500 ล้านบาท หลังสถานการณ์โควิดคลี่คลาย สปป.ลาวเปลี่ยนนโยบาย ส่งผลกระทบกลายเป็นท่าเรือร้างทันที

แหล่งข่าวจากวงการขนส่งสินค้าทางน้ำ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ท่าเรือเชียงของ วัตถุประสงค์วางไว้เป็นการขนส่งสินค้าทางเรือไปยัง สปป.ลาว (หลวงพระบาง) และประเทศจีน แต่ปัจจุบันการขนส่งสินค้าน้อยลงหายไปเกือบ 100% เนื่องจากผู้ประกอบการหันไปใช้บริการขนส่งทางบกเส้นทางสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 4

หลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลง ปี 2565 ทางแขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว ได้กำหนดมาตรการออกมาว่าสินค้าที่มีการนำเข้าและชำระภาษีเกิน 5,000 บาทขึ้นไปต้องขนส่งทางรถบรรทุกและไปชำระภาษีที่ด่านสะพานฯแห่งที่ 4 เท่านั้น ส่งผลให้ผู้ประกอบการที่ขนส่งสินค้าทางเรือที่ต้องชำระภาษีเกิน 5,000 บาทไม่สามารถนำเรือมารับสินค้าที่ท่าเรือเชียงของได้

ตอนนี้ทางภาครัฐ และเอกชนพยายามประสานงานต่าง ๆ ไปยังหน่วยงานราชการที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ให้สะท้อนปัญหาไปยังแขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว

จากข้อมูลเดิมปี 2562 มีเรือเข้ามาขนถ่ายสินค้า 806 เที่ยว สินค้าผ่านท่ามีปริมาณ 52,945 ตัน ปี 2563 มีเรือเข้ามาขนถ่ายสินค้า 145 เที่ยว สินค้าผ่านท่ามีปริมาณ 2,551 ตัน ปี 2564 มีเรือเข้ามาขนถ่ายสินค้า 5 เที่ยว สินค้าผ่านท่ามีปริมาณ 28 ตัน ปี 2564 มีเรือเข้ามาขนถ่ายสินค้า 7 เที่ยว สินค้าผ่านท่ามีปริมาณ 40 ตัน

“กรณีดังกล่าวเป็นเรื่องระหว่างประเทศ ภาครัฐต้องมีการเจรจากันทั้ง 2 ฝ่ายเพื่อหาทางออกร่วมกัน เมื่อต้นเดือนกรกฎาคม 2566 มีการจัดกิจกรรมเมืองคู่ขนาน ระหว่าง อ.เชียงของ กับเมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว มีการพูดคุยถึงประเด็นดังกล่าว

ซึ่งหัวหน้าภาษีด่านศุลกากรแขวงบ่อแก้ว ที่ดูแลสะพานฯแห่งที่ 4 บอกว่าการขนส่งสินค้าจะนำเข้าทางเรือหรือทางบกก็ได้ เพียงแต่ให้ผู้ประกอบการไปชำระภาษีที่ด่านสะพานฯแห่งที่ 4 ซึ่งจะสะดวกต่อการจัดเก็บภาษี คิดว่าทางผู้ประกอบการคงต้องประสานงานกับหัวหน้าภาษีด่านแขวงบ่อแก้วอีกครั้ง”

ตาราง สถิติขนส่งสินค้าทางเรือ

“ศาลาลอย” บริบทเปลี่ยน

นายอาทิตย์ พุ่มเข็ม รองประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เมื่อ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมามีโอกาสได้พูดคุยกับนายกริชเพชร ชัยช่วย รักษาราชการอธิบดีกรมเจ้าท่าถึงกรณีท่าเรือศาลาลอย ซึ่งสร้างเสร็จตั้งแต่ปี 2554 แต่ยังไม่มีการเปิดใช้งาน ซึ่งนายกริชเพชร เสนอให้คุยกับสมาคมผู้ประกอบการขนส่งสินค้าทางน้ำเข้ามาดำเนินการจัดการ

โดยจ่ายเพียงค่าใช้จ่ายบำรุงรักษา แต่จากสอบถามหารือกับกลุ่มผู้ประกอบการขนส่งสินค้าทางน้ำแจ้งว่าไม่คุ้มทุนที่จะเข้ามาใช้งาน เพราะค่าใช้จ่ายในการลากจูงเรือสินค้าค่อนข้างแพง เพราะบริเวณที่ตั้งท่าเรือศาลาลอยต้องลากจูงเรือสินค้าทวนกระแสน้ำ หรือต้องรอน้ำขึ้น ขณะที่ปกติการลากจูงเรือจะไม่ลากทวนกระแสน้ำ

ท่าเรือศาลาลอย เมื่อปี 2552 ได้ขอรับงบประมาณเกือบ 380 ล้านบาท ว่าจ้างเอกชนก่อสร้างแล้วเสร็จปี 2554 จุดประสงค์ เพื่อประหยัดพลังงานจากการขนส่งทางรถบรรทุก ลดปัญหาการจราจร แต่หลังจากสร้างเสร็จถึงวันนี้ผ่านมาเกือบ 12 ปี ยังไม่มีการเปิดใช้งาน

เนื่องจากบริบทการใช้พื้นที่เปลี่ยนไป เพราะกว่าจะสร้างเสร็จ เทรนการขนส่งเปลี่ยนไป ผู้ประกอบการที่เคยค้าขายกันคึกคักบริเวณ อ.ท่าเรือ หันไปใช้บริการ “ท่าเรือนครหลวง” อ.นครหลวง ซึ่งมีท่าเรือของเอกชนประมาณ 40 กว่าแห่ง ทำให้การค้าขายบริเวณท่าเรือศาลาลอยน้อยลง

ขณะเดียวกันท่าเรือสร้างรองรับเรือขนาดไม่เกิน 2,000 เมตริกตัน แต่การค้าปัจจุบันได้มีการเปลี่ยนขนาดไซซ์เรือที่ใหญ่ขึ้น โดยมีขนาดประมาณ 2,500 เมตริกตัน ทำให้ท่าเรือที่สร้างไว้ไม่สามารถรองรับได้

อีกทั้งบริเวณลำน้ำแม่น้ำป่าสักชลสิทธิ์ จากวัดพนัญเชิงจนถึงเขื่อนพระราม 6 มีระยะทางประมาณ 52 กิโลเมตร ซึ่งท่าเรือศาลาลอยอยู่ที่ กม.40 โดยบริเวณดังกล่าวมีโค้งน้ำมาก โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 60 เมตร ทำให้เรือขนส่งสินค้าไม่สามารถกลับลำได้

“รัฐบาลคิดตามหลักทฤษฎี แต่กว่าจะดำเนินการของบประมาณและก่อสร้างเสร็จ ความต้องการใช้งานลดน้อยลง จะสนับสนุนการใช้งานต่อ ก็คงลำบาก เพราะเทรนของผู้ประกอบการเปลี่ยน ทำให้ท่าเรือศาลาลอยเกิดขึ้นไม่ได้”