ทอท. คิกออฟขยายสนามบินเชียงใหม่ หมื่นล้าน รับผู้โดยสารพุ่ง 16.5 ล้านคน

สนามบินเชียงใหม่

ทอท. คิกออฟขยายสนามบินเชียงใหม่หมื่นล้าน รับผู้โดยสารพุ่ง 16.5 ล้านคน คาดใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 3 ปี เปิดใช้งานได้ปี 2572

วันที่ 24 สิงหาคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานจากจังหวัดเชียงใหม่ว่า ท่าอากาศยานเชียงใหม่ จัดสัมมนาประชาสัมพันธ์ Kick off โครงการพัฒนาท่าอากาศยานเชียงใหม่ ระยะที่ 1 ณ โรงแรมวินทรี ซิตี้ รีสอร์ท เชียงใหม่ โดยการพัฒนาโครงการดังกล่าว เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสาร 16.5 ล้านคนต่อปี จะเริ่มดำเนินการปี 2566-2569 งบฯลงทุนราว 10,000 ล้านบาท

นายสรายุทธ จำปา รองผู้อำนวยการท่าอากาศยานเชียงใหม่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทชม.ทอท.) เปิดเผยว่า วันนี้ถือเป็นวันเริ่มต้น Kick off โครงการพัฒนาท่าอากาศยานเชียงใหม่ ระยะที่ 1 เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสาร

โดยจะดำเนินการออกแบบควบคู่ไปกับการศึกษาและจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ซึ่งตามแผนได้กำหนดระยะดำเนินการก่อสร้างโครงการตั้งแต่ ปี 2566-2569 หากเป็นไปตามแผนคาดว่าจะแล้วเสร็จและเปิดใช้โครงการได้ภายในปี 2569-2572

ทั้งนี้ ตามแผนแม่บทเดิมจะเริ่มจัดทำโครงการมาตั้งแต่ปี 2561 แต่เนื่องจากเกิดสถานการณ์โควิด ทำให้แผนการพัฒนาโครงการต้องล่าช้าออกไป อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา ทอท.ได้ดำเนินการจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และจัดหาผู้รับจ้างสำรวจและออกแบบโครงการ

ล่าสุด ได้ว่าจ้างกลุ่มบริษัท ที.ซี.เอ็ม.เอ.(TCMA) ดำเนินการเป็นที่ปรึกษาสำรวจและออกแบบโครงการพัฒนาท่าอากาศยานเชียงใหม่ ระยะที่ 1 ซึ่งหลังจากนี้กลุ่มบริษัทที่ปรึกษา จะสำรวจข้อมูลความต้องการของผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย รับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม ทั้งภายในและภายนอกท่าอากาศยาน เพื่อนำไปสู่การออกแบบโครงการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้โดยสารผู้ใช้บริการ ตลอดจนขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของจังหวัดเชียงใหม่ต่อไป

สำหรับการพัฒนาท่าอากาศยานเชียงใหม่ แบ่งออกเป็น 2 ระยะ เมื่อโครงการระยะที่ 1 ดำเนินการแล้วเสร็จ ก็จะก่อสร้างโครงการระยะที่ 2 ต่อเนื่อง โดยจะเริ่มดำเนินการปี 2573-2575

ทั้งนี้ การขยายขีดความสามารถตามแผนพัฒนาท่าอากาศยานเชียงใหม่ทั้ง 2 ระยะ จะดำเนินการภายในพื้นที่ของท่าอากาศยานเดิมทั้งหมดราว1,600 ไร่ ไม่มีการก่อสร้าง Runway หรือทางวิ่งเพิ่มเติม หรือขยายพื้นที่เพิ่มเติม

นายสรายุทธกล่าวต่อว่า ปัจจุบัน ท่าอากาศยานเชียงใหม่ มีขีดความสามารถในการรองรับปริมาณผู้โดยสาร 8 ล้านคนต่อปี และมีอัตราการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้โดยสารก่อนที่จะเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ประมาณร้อยละ 10 ต่อปี

ซึ่งการเติบโตของปริมาณการจราจรทางอากาศที่เพิ่มขึ้น ทอท. จึงได้พิจารณาดำเนินการจัดทำแผนแม่บทพัฒนาท่าอากาศยานเชียงใหม่เป็น 2 ระยะ เพื่อให้ท่าอากาศยานเชียงใหม่ สามารถรองรับปริมาณจราจรทางอากาศได้อีก 20 ปีอย่างยั่งยืน โดยโครงการพัฒนาท่าอากาศยานเชียงใหม่ ระยะที่ 1 เพื่อให้สามารถรองรับผู้โดยสารเพิ่มขึ้นเป็น 16.5 ล้านคนต่อปี

สำหรับงบการลงทุนโครงการพัฒนาท่าอากาศยานเชียงใหม่ ระยะที่ 1 อยู่ที่ราว 10,000 ล้านบาท เป็นงบออกแบบจำนวน 300 ล้านบาท คาดว่าจะใช้เวลาในการออกแบบราว 1 ปี

จากนั้นจะเสนอเข้าบอร์ด เพื่อเสนอผ่านไปยังกระทรวงคมนาคม สภาพัฒน์ และเข้าสู่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณา ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ได้มีการอนุมัติหลักการมาแล้วครั้งหนึ่ง ซึ่งคาดว่าไม่เกิน 2 ปี จะสามารถดำเนินการและแล้วเสร็จตามแผนที่วางไว้

นายสรายุทธกล่าวว่า ปัจจุบันท่าอากาศยานเชียงใหม่มีจำนวนผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นหลังโควิดคลี่คลาย ตัวเลขผู้โดยสารจนถึงขณะนี้อยู่ที่ราว 7 ล้านคน ขณะที่สายการบิน (Airline Business) เฉลี่ยประมาณ 60% และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผู้โดยสารในประเทศเฉลี่ย 15,000-16,000 คนต่อวัน และผู้โดยสารต่างประเทศอยู่ที่ 5,000-5,500 คนต่อวัน ซึ่งในภาพรวมมีผู้โดยสารกว่า 20,000 คนต่อวัน

นายอานนท์ กุลฤดีฤทธา ผู้จัดการโครงการ กลุ่มบริษัท ที.ซี.เอ็ม.เอ.(TCMA) จำกัด ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า โครงการแผนพัฒนาท่าอากาศยานเชียงใหม่ ระยะที่ 1 จะแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มงาน

ได้แก่ กลุ่มที่ 1 การพัฒนาเขตการบิน ประกอบด้วย ทางขับขนานเส้นใหม่พร้อมทางขับออกด่วน, ปรับปรุงลานจอดอากาศยานพร้อมระบบเติมน้ำมันอากาศยานทางท่อ ให้มีหลุมจอดอากาศยานรวม 31 หลุมจอด จากเดิมปัจจุบันที่มีเพียง 19 หลุมจอด

กลุ่มที่ 2 การพัฒนาอาคารผู้โดยสารและอาคารสนับสนุน ประกอบด้วย อาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ โดยจะก่อสร้างอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศหลังใหม่ บริเวณด้านทิศใต้ของอาคารผู้โดยสารเดิม ขนาด 70,100 ตารางเมตร

ซึ่งจะมีขีดความสามารถในการรองรับปริมาณผู้โดยสารระหว่างประเทศไม่น้อยกว่า 5.3 ล้านคนต่อปี, อาคารผู้โดยสารภายในประเทศ โดยปรับปรุงอาคารผู้โดยสารเดิมเป็นอาคารผู้โดยสารภายในประเทศทั้งหมด ขนาดพื้นที่ไม่น้อยกว่า 48,300 ตารางเมตร, อาคารสำนักงาน ทชม.และสายการบินพร้อมที่จอดรถยนต์

กลุ่มที่ 3 การพัฒนางานสนับสนุนท่าอากาศยาน ประกอบด้วย การปรับปรุงระบบถนนภายในท่าอากาศยาน โดยออกแบบถนนเป็น 6 ช่องทางจราจร (เข้า 3 ช่องทาง ออก 3 ช่องทาง) พร้อมทางยกระดับแยกผู้โดยสารระหว่างขาเข้าและขาออก, สถานีไฟฟ้าย่อยโรงผลิตน้ำประปา และการ ปรับปรุงขยายขีดความสามารถของระบบบำบัดน้ำเสีย

ทั้งนี้ การสำรวจและออกแบบ จะดำเนินการควบคู่ไปกับการศึกษาและจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ซึ่งหากได้รับการอนุมัติตามแผน คาดว่าจะใช้เวลาดำเนินการก่อสร้างประมาณ 3 ปี และเปิดใช้งานได้ภายในปี 2572