สนามบินเชียงใหม่ผู้โดยสารพุ่ง 200%

สนามบินเชียงใหม่

สนามบินเชียงใหม่ผู้โดยสารพุ่ง 200% หลังโควิด เร่งแผนลงทุน 1 หมื่นล้าน รองรับผู้โดยสารเพิ่มได้ 20 ล้านคน

วันที่ 1 มีนาคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายวิจิตต์ แก้วไทรเทียม ผู้อำนวยการท่าอากาศยานเชียงใหม่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) เป็นประธานพิธีทำบุญเนื่องในโอกาสวันครบรอบ 35 ปี การดำเนินงานท่าอากาศยานเชียงใหม่ โดยมีนายวีรพงศ์ ฤทธิ์รอด รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ หัวหน้าส่วนราชการ ผู้ประกอบการ บริษัทสายการบิน ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมถึงสื่อมวลชน ให้เกียรติร่วมพิธีและร่วมแสดงความยินดีในโอกาสดังกล่าว

นายวิจิตต์ แก้วไทรเทียม ผู้อำนวยการท่าอากาศยานเชียงใหม่ เปิดเผยว่าตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา ท่าอากาศยานเชียงใหม่ มีอัตราการเจริญเติบโตในทิศทางขาขึ้นมาโดยตลอด โดยมีจำนวนผู้โดยสารสูงสุดเมื่อปี 2562 ถึงกว่า 11.3 ล้านคน และมีอัตราเที่ยวบินและผู้โดยสารลดลงเป็นครั้งแรกในปี 2563 ต่อเนื่องจนถึงปี 2564 ซึ่งเป็นช่วงที่มีการระบาดของโรคโควิด-19

แต่หลังจากรัฐบาลไทยและทั่วโลกผ่อนคลายมาตรการการเดินทาง ทำให้ในปี 2565 ที่ผ่านมา ท่าอากาศยานเชียงใหม่ มีอัตราการเพิ่มขึ้นของจำนวนเที่ยวบินและผู้โดยสารอีกครั้ง

โดยมีอากาศยานพาณิชย์ ขึ้น-ลง 39,027 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ร้อยละ 90.88 มีจำนวนผู้โดยสาร 5.46 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ร้อยละ 209.72 และมีปริมาณการขนถ่ายสินค้า 5,588 ตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ร้อยละ 68.42

ด้านนายณัฐวุฒิ ทาอินต๊ะ รองผู้อำนวยการท่าอากาศยานเชียงใหม่ (สายปฏิบัติการ) กล่าวว่า ปัจจุบันท่าอากาศยานเชียงใหม่ มีสายการบินที่ให้บริการทั้งหมด 24 สายการบิน ใน 30 เส้นทาง เป็นสายการบินภายในประเทศ 12 เส้นทาง ครอบคลุมทั่วทุกภูมิภาค และมีเส้นทางบินตรงระหว่างประเทศ 18 เส้นทาง

ซึ่งเมื่อเทียบกับปี 2562 ก่อนเกิดสถานการณ์โควิดถือว่าการให้บริการในภาพรวมกลับคืนมาแล้วกว่าร้อยละ 63 โดยเส้นทางล่าสุดที่คาดว่าจะเปิดให้บริการในตารางฤดูร้อนคือช่วงปลายเดือนมีนาคมที่จะถึงนี้ ได้แก่ เส้นทาง คุนหมิง-เชียงใหม่

ขณะที่นายสรายุทธ จำปา รองผู้อำนวยการท่าอากาศยานเชียงใหม่ (สายสนับสนุนธุรกิจ) เปิดเผยถึงผลประกอบการด้านการเงินว่า เป็นไปในทิศทางเดียวกับจำนวนผู้โดยสารและผู้ใช้บริการ โดยท่าอากาศยานเชียงใหม่เคยมีกำไรสูงสุดในปี 2562 และขาดทุนครั้งแรกในปี 2564 ต่อเนื่องจนถึงปี 2565

ทั้งนี้ รายได้ที่ลดลงจำนวนมากคือรายได้จากส่วนแบ่งผลประโยชน์ ซึ่งเป็นรายได้หลักจากธุรกิจที่ไม่เกี่ยวกับการบินหรือ Non Aero เนื่องจาก ทอท.ได้มีนโยบายช่วยเหลือผู้ประกอบการในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 และปัจจุบันก็ยังมีผลบังคับใช้อยู่ ซึ่งหากสถานการณ์ต่าง ๆ กลับเข้าสู่ภาวะปกติ ร้านค้าต่าง ๆ กลับมาเปิดให้บริการเต็มพื้นที่ ผลประกอบการก็คาดว่าจะกลับมาเป็นเชิงบวกได้ภายในปีนี้

ขณะเดียวกัน ได้เร่งดำเนินการโครงการพัฒนาท่าอากาศยานเชียงใหม่ ระยะที่ 1 งบประมาณการลงทุนกว่า 1 หมื่นล้านบาท ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณารายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ซึ่งดำเนินการควบคู่ไปกับการจ้างออกแบบและจัดหาผู้รับจ้าง

โครงการดังกล่าวเป็นแผนพัฒนาระยะ 5 ปี ประกอบด้วยอาคารต่างประเทศ 2 ชั้น หลุมจอด 32 หลุม เพื่อรองรับจำนวนผู้โดยสาร 16.5 ล้านคนต่อปี และจะมีขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 20 ล้านคนในอนาคต ทั้งนี้ คาดว่าจะได้ผู้รับจ้างภายในปีงบประมาณ 2566

นอกจากนี้ยังมีแผนงานเร่งด่วนบรรเทาความแออัด วงเงินงบประมาณ 700 ล้านบาท ซึ่งเป็นงานก่อสร้างกลุ่มอาคารทดแทน ได้แก่ อาคารดับเพลิง อาคารคลังสินค้า และลานจอด GSE โดยอยู่ระหว่างเตรียมเข้ากระบวนการจัดหาภายในปีงบประมาณ 2566 นี้

สำหรับท่าอากาศยานเชียงใหม่ เป็นท่าอากาศยาน 1 ใน 6 แห่ง ภายใต้การกำกับดูแลของ ทอท.ได้รับโอนกิจการจากกรมการบินพาณิชย์มาอยู่ในความดูแล ของการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2531 และแปรสภาพเป็น บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2545 โดยได้มุ่งมั่นพัฒนาคุณภาพการให้บริการในทุก ๆ ด้าน ภายใต้มาตรฐานสากลและค่านิยมหลัก 5 ประการ ได้แก่ ให้ใจ มั่นใจ ร่วมใจ เปิดใจ และภูมิใจ ถือเป็นหนึ่งในฟันเฟืองขับเคลื่อนหลักทางด้านเศรษฐกิจของจังหวัดเชียงใหม่มาโดยตลอด

ขณะเดียวกันก็ยังได้ตระหนักถึงการเป็นสนามบิน ที่เป็นพลเมืองที่ดีของสังคมและเป็นเพื่อนบ้านที่ดีของชุมชน (Corporate Citizenship Airport) ซึ่งเป็นหนึ่งในการดำเนินงานด้านความรับผิดชอบต่อสังคม (Corporate Social Responsibility) ของ ทอท.โดยได้ให้การสนับสนุนกิจกรรมต่าง ๆ ของชุมชนท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็น ด้านการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรมประเพณี

นอกจากนี้ยังได้ร่วมกับหน่วยงานราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตลอดจนผู้นำชุมชน ในการดูแลประชาชนยามที่ประสบปัญหาความเดือดร้อนจากวิกฤตการณ์ต่าง ๆ อาทิ การระบาดของโรคโควิด-19 อุทกภัย และปัญหาหมอกควันไฟป่า เป็นต้น