“ลองลำพูน” เคลื่อนเศรษฐกิจ อัดอีเวนต์ ปลุกเมืองเก่า

ไชยยง รัตนอังกูร
คอลัมน์ : สัมภาษณ์

สภาพกลางใจเมืองลำพูนในเขตเมืองเก่า ปัจจุบันถูกประเมินว่าอยู่ในภาวะ dead space มีอาคารเก่ากระจายอยู่ทั่วกว่า 128 อาคาร และถูกปล่อยทิ้งร้างมากกว่า 40% หากปล่อยไว้จะถูกความเงียบเหงากลืนกินและกลายเป็นเมืองที่ไร้ชีวิตในไม่ช้า

ถึงแม้ว่าจะถูกจัดให้เป็นกลุ่มเมืองสำคัญกลุ่ม 1 ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี ศูนย์กลางของอาณาจักรหริภุญชัย แต่ยังไม่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวได้มากนัก

“ไชยยง รัตนอังกูร” Executive Director เกี่ยวกับโปรเจ็กต์ลองลำพูน (Long Lamphun) ภายใต้โครงการ Lamphun City Lab ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA) และเทศบาลลำพูน ให้สัมภาษณ์ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตนเป็นคนจังหวัดลำพูนที่ต้องการพัฒนาบ้านเกิด มีแนวคิดอยากเปลี่ยนแปลงและทำให้นักท่องเที่ยวเดินทางมาและเที่ยวอยู่ในลำพูนให้นานขึ้น โดยผ่านการเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับเมืองลำพูนที่มีความเก่าแก่กว่า 1,400 ปี

ล่าสุดได้ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA) และเทศบาลลำพูน รีโนเวตโกดังร้างเก่าซึ่งเดิมทีเป็นร้านขายวัสดุก่อสร้างตั้งอยู่บนถนนมุกดา ใช้เป็นสถานที่จัดกิจกรรม “ลองลำพูน” (Long Lamphun) ระหว่างวันที่ 15 สิงหาคม-17 กันยายน 2566 ซึ่งเป็นกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์และถ่ายทอดความลึกซึ้งของเมืองลำพูน

ภายในโกดังมีบ้านไม้ขนาดเล็กที่จะสามารถพัฒนาเป็นห้องพักต้นแบบบ้านสไตล์ลำพูน โดยนำรูปแบบอัตลักษณ์ของพื้นถิ่นมาตกแต่งสร้างความมีชีวิต สร้าง creative space ให้เกิดขึ้นในใจกลางเมืองและจะขยายไปในพื้นที่เมืองที่มีอาคารเก่าหลายแห่งได้

ด้านการออกแบบมี 6 โปรแกรม ได้แก่ 1.การแสดงนิทรรศการภาพถ่าย “บ้านเกิดเมืองนอน” ที่แบ่งเป็นการนำเสนอธุรกิจการค้าที่เกิดจากลำพูนและยังคงอยู่ ร้านอาหาร และเสน่ห์ของเมืองผ่านผู้คน 2.โซนการออกแบบบริการต้นแบบห้องพัก “ลองลำพูน” 3.โซนอาร์ตแกลเลอรี่ งานศิลปะร่วมสมัยโดยศิลปินที่พำนักในลำพูน

ได้แก่ ศิลปินแห่งชาติ อินสนธ์ วงศ์สาม, จรูญ บุญสวน, ประสงค์ ลือเมือง, ภัทรกร สิงห์ทอง, พลับ บุญสวน, ทัศศินา บุญสวน, ครอบครัวเตาชวนหลง ที่สามารถยกระดับสู่ Lamphun Art Biennale

4.โซน Landscape of Home ภูมิทัศน์แห่งบ้านเกิดเมืองนอน 5.โซนเฟสติวัล โซน พื้นที่สำหรับเทศกาลที่มีเนื้อหาสาระ และ 6.โซน Creative Community Space : Coworking Space, Community Meeting Room เป็นต้น

ลองลำพูน

นอกจากนี้ ยังได้ค้นพบว่าในเมืองลำพูนยังมีของเก่าสะสมทั้งของโบราณ และโมเดล อาทิ หุ่นกันดั้ม มิกกี้เมาส์ จักรยานโบราณ เวสป้า รถโบราณ แผ่นเสียง สามารถสร้างเป็นเมืองศูนย์กลางพิพิธภัณฑ์ได้ไม่ยาก เพราะในคูเมืองมีพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติหริภุญไชย พิพิธภัณฑ์ชุมชนเมืองลำพูน และพิพิธภัณฑ์ปั๊มน้ำมันสามทหาร ที่น่าสนใจภายในงานยังมีพื้นที่เปิดให้คนลำพูน

หรือนักท่องเที่ยวมาร่วมเสนอแนวคิดผ่านนิทรรศการอนาคตลำพูน Lamphun Future Exhibition ด้วยความร่วมมือโครงการออกแบบโครงข่ายพื้นที่และศิลปะเพื่อการเรียนรู้เมืองลำพูน จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และโครงการการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์เมืองลำพูนอย่างยั่งยืน โดยสถาบันวิจัยพหุศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

“ไชยยง” เล่าว่า ลำพูนมีขุมทรัพย์ที่รอการขุดค้นขึ้นมานำเสนอมากมาย ทั้งเรื่องเศรษฐกิจสร้างสรรค์ การเป็นเมืองเทศกาลเป็นแก่นขับเคลื่อน ผ่านการ branding การเชื่อมโยงผู้คนในพื้นที่ ดึงคุณค่าของท้องถิ่นให้เกิดขึ้นและฟื้นเมือง

โดยพัฒนาพื้นที่เครือข่ายย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ย่านเมืองเก่าในคูเมือง ซึ่งที่ผ่านมาก็ได้มีส่วนร่วมจัดกิจกรรม “อินทยงยศ ถนนสายวัฒนธรรม : เล่าขานตำนานร่วมสมัยร้อยปีลำพูน” ที่สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของจังหวัดคือลำพูนเมืองสร้างสรรค์ สู่เศรษฐกิจสรรสร้าง สู่ความมั่นคงและยั่งยืน

รวมถึงการส่งเสริมให้เป็น “เมืองเดินได้-เมืองเดินดี” งาน River Festival Lamphun นิทรรศการ Possible Lamphun การขับเคลื่อนโครงการต้นแบบ ลำพูน สุขก๋าย สบายใจ๋ (Lamphun Healing Town) พัฒนาพื้นที่แห่งความสุขกายสบายใจ ถนนรถแก้ว ย่านเมืองเก่าลำพูน รวมถึงได้ร่วมกับทางจังหวัดคือ โครงการพัฒนาศาลากลางจังหวัดลำพูนหลังเก่า เพื่อให้ชาวลำพูนใช้ประโยชน์จากพื้นที่แห่งนี้ได้มากที่สุด เป็นต้น

สำหรับกิจกรรมลองลำพูนในครั้งนี้ ถือว่าเป็นจุดเริ่มของการเกิดใหม่ของ Lamphun Reborn เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และพัฒนา know-how ให้แก่ชุมชน ยกศักยภาพของลำพูนในฐานะเมืองสร้างสรรค์เกิดใหม่ Livable City เป้าหมายด้านเศรษฐกิจ

ได้แก่ นักท่องเที่ยวต่างชาติ เพื่อให้เกิดการลงทุน, ด้านชุมชน คนภายในจังหวัด ได้แก่ คนท้องถิ่น ช่างฝีมือ คนรุ่นใหม่ คนภายนอก ได้แก่ นักพัฒนา นักวิจัยเมือง และดีไซเนอร์ เป็นการพัฒนาตามประเด็นยุทธศาสตร์จังหวัดลำพูนเมืองแห่งวัฒนธรรมอัตลักษณ์วิถีและท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์

“หากเราค้นหา DNA ของเมืองแล้วจะเห็นว่า ลำพูนเป็นเมืองศิลปิน สามารถเปลี่ยนลำพูนเป็นเมืองแห่งแกลเลอรี่ระดับอินเตอร์ได้ ด้านการเกษตรก็มีไร่กาแฟและโกโก้ ที่มีคุณลักษณ์พิเศษ มีสวนผักออร์แกนิกที่ส่งทั่วโลก และมีผักหลังบ้านส่วนตัว สามารถยกระดับเป็น farmer market ทั้งเมือง

โดยผู้คนนำสูตรอาหารอร่อยที่ทำกันหลังบ้านมานำเสนอ ดังนั้น ลำพูนกำลังจำลองสถานการณ์เปลี่ยนเมือง จากสิ่งที่เรามีอยู่ สร้างสรรค์จากสินทรัพย์ที่มีด้วยกำลังของคนที่เรามี”

“ไชยยง” บอกว่า หาก “ลองลำพูน” สามารถอยู่ได้นาน จะเป็นกลยุทธ์การกระตุ้นเศรษฐกิจของเมืองสร้างสรรค์ ผ่านเทศกาลที่สร้างสรรค์ จากเดิมมีประเพณีระดับโลก สลากย้อม หรือเทศกาลโคมแสนดวง งานหัตถศิลป์ผ้าไหมยกดอกลำพูน หากเติมเทศกาลที่ปลุกชีวิตของเมือง การขุดค้นหาเปลี่ยนสินทรัพย์ที่มีอยู่ ฟื้นมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องได้ให้ตื่น เป็นแนวคิดท้าทาย จะสามารถต่อยอดให้เป็นเมืองอยู่-เมืองนอน เมืองทำงานของทุก ๆ คนได้