“ยูนี่” ชูแพลตฟอร์มรีไซเคิล ผุดศูนย์รับซื้อให้ราคาสูงทั่วไทย

ศิวัช ภูธนแสงทอง-ธเนศ หาญถนอม
คอลัมน์ : สัมภาษณ์

ปัจจุบันมีแอปพลิเคชั่นมากมายที่เปิดให้บริการผ่านโลกออนไลน์ เชื่อมโยงผู้คนเข้าด้วยกันทั้งในประเทศและต่างประเทศ หลายแอปพลิเคชั่นประสบความสำเร็จและยังพัฒนาต่อไปได้ แต่มีไม่น้อยที่ต้องล้มหายไป

ขณะเดียวกันมีแอปพลิเคชั่น ที่เรียกว่า “UNII” ของบริษัท ยูนี่ ออนไลน์ จำกัด ที่รวบรวมนำธุรกิจทั้งระบบออฟไลน์และออนไลน์มาทำงานร่วมกัน ภายใต้แพลตฟอร์มเดียวกัน และตั้งเป้าเป็นแพลตฟอร์มอันดับ 1 ของไทยและอาเซียน ที่มียอดการซื้อ-ขายสูงสุด

นำร่องแพลตฟอร์มรีไซเคิล

“ศิวัช ภูธนแสงทอง” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ยูนี่ ออนไลน์ จำกัด ให้สัมภาษณ์ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า บริษัท ยูนี่ ออนไลน์ ประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล เป็นบริษัทของคนไทย 100% เป็นแอปพลิเคชั่นที่รวมการทำงานระหว่างออฟไลน์กับออนไลน์มาอยู่ด้วยกัน ซึ่งจะมีทั้งหมด 32 แพลตฟอร์มในอนาคต เริ่มที่ธุรกิจรีไซเคิลภายใต้ชื่อแพลตฟอร์ม “ยูนี่รีไซเคิล”

“เรามองว่าทุกธุรกิจหากไม่มีแพลตฟอร์มยากจะประสบความสำเร็จ แต่ปัญหาคือมีคนทำแพลตฟอร์มจำนวนมาก และไม่ค่อยประสบความสำเร็จเพราะมีจุดอ่อนเรื่องออฟไลน์และมักจะถูกดิสรัปต์อยู่ตลอดเวลา ยูนี่จึงเลือกธุรกิจเริ่มต้นที่สามารถเชื่อมออนไลน์และออฟไลน์เข้าด้วยกันได้อย่างธุรกิจขยะรีไซเคิล

เนื่องจากเป็นธุรกิจดั้งเดิม และสินค้ารีไซเคิลซื้อขายต่อกันหลายทอด เช่น พ่อค้าวิ่งรับซื้อตามหมู่บ้าน นำไปขายให้พ่อค้าคนกลาง พ่อค้าคนกลางส่งไปให้โรงงานที่รับซื้อของเก่าในจังหวัด แล้วส่งต่อไปโรงงานใหญ่อีกที ไอเดียการใช้แพลตฟอร์มจึงทำมาเพื่อลดจำนวนคนกลางให้เหลือน้อยที่สุด และสนับสนุนให้คนกลางหันมาใช้แพลตฟอร์มเราเพิ่มขึ้น”

ปัจจุบันยูนี่รีไซเคิลมีศูนย์รับซื้อสินค้าทั้งหมดกว่า 439 อำเภอทั่วประเทศ ผู้ใช้ทำตลาดรีไซเคิลทั้งโลกออนไลน์และออฟไลฟ์ได้ หลังจากพ่อค้าซื้อของจากชาวบ้านแล้ว สามารถนำสินค้ามาส่งที่ “ศูนย์รับซื้อสินค้ารีไซเคิล” ซึ่งเป็นตัวแทนของแพลตฟอร์มยูนี่รีไซเคิลได้เลย การรับซื้อจะให้ราคาสูงขึ้น หรือชาวบ้านจะนำของรีไซเคิลมาขายโดยตรงที่ “ศูนย์รับซื้อสินค้ารีไซเคิล” ก็ได้ราคาสูงขึ้นเช่นเดียวกัน

จากการดำเนินงานที่ผ่านมามีอัตราการเติบโตแบบก้าวกระโดดจากยอดขายปี 2563 มูลค่ารวม 80 ล้านบาท ปี 2564 มูลค่า 300 ล้านบาท ปี 2565 มูลค่า 600 ล้านบาท และปี 2566 คาดว่าจะมียอดขายทั้งหมด 3,000 ล้านบาท ตั้งเป้าหมายในปลายปี 2566 จะขยายศูนย์รับซื้อสินค้ารีไซเคิลไปทุกอำเภอทั่วประเทศรวม 878 แห่ง และภายในปี 2569 ทุกหมู่บ้านทั่วประเทศไทยจะต้องมีตัวแทนแพลตฟอร์มยูนี่รีไซเคิลหมู่บ้านละ 1 คน

“ศิวัช” บอกว่า ถัดมาคือแพลตฟอร์ม “ยูนี่ทักซ์” เป็นธุรกิจขนส่ง เปิดตัวไปเมื่อเดือนมิถุนายน 2566 เป็นแพลตฟอร์มที่เชื่อมโยงระหว่างเจ้าของรถและคนเรียกใช้บริการ โดยยูนี่ทักซ์จะเปิดรับสมัครตัวแทน โดยคนที่เข้ามาเป็นสมาชิกต้องมีรถบรรทุกเป็นของตัวเอง และต้องผ่านการตรวจสอบกับทางบริษัทก่อน

โดยก่อนการอนุมัติสมาชิกจะพิจารณาว่าโซนพื้นที่ดังกล่าวมีงานให้วิ่งหรือไม่ ถ้ายังไม่มีจะยังไม่อนุมัติ สำหรับยูนี่ทักซ์จะให้บริการกับกลุ่มคนที่ไม่มีรถในการบรรทุกสิ่งของต่าง ๆ รวมไปถึงบรรทุกสินค้ารีไซเคิล

ขณะที่ปลายปี 2566 บริษัทจะเปิดให้บริการเพิ่มอีก 1 แพลตฟอร์ม คือ “ยูนี่ฟู๊ด&ดริ้ง” เป็นแพลตฟอร์มดูแลระบบหลังบ้านของร้านค้าให้บริการรับส่งวัตถุดิบให้กับร้านอาหาร

โดยทางร้านไม่ต้องออกไปซื้อวัตถุดิบเอง อีกทั้งยังรับซื้อสินค้ารีไซเคิลของร้านกลับเข้ามาในระบบ โดยให้ตัวแทนที่อยู่ในยูนี่รีไซเคิลเข้ามารับซื้อ ภายในปี 2566 บริษัทยูนี่จะเปิดให้บริการทั้งหมด 3 แพลตฟอร์ม

“ตั้งแต่ทำธุรกิจมา ยูนี่ยังไม่เคยเรียกเก็บค่าแพลตฟอร์ม ส่งผลให้แพลตฟอร์มเติบโตได้เร็ว ผู้ใช้บริการได้รับเงินจริง ๆ ในอนาคตอาจจะมีการเรียกเก็บค่า GP เพียงแต่เราไม่จำเป็นต้องเก็บเท่าคนอื่น เพราะว่าเรามีรายได้มากพอจากแพลตฟอร์มที่ทำ และเชื่อว่าต่อไปในอนาคต ยูนี่ทักซ์ ยูนี่ฟู๊ด&ดริ้ง และแพลตฟอร์มยูนี่ตัวอื่น ๆ จะผงาดขึ้นเป็นอันดับหนึ่งในประเทศไทยได้เช่นเดียวกัน”

ทั้งนี้ ยูนี่ได้เข้าไปซื้อสินค้ารีไซเคิลใน สปป.ลาว และนำเข้ามาในประเทศไทย ในอนาคตจะเปิดให้บริการทั่วอาเซียนทั้งหมด 10 ประเทศ ตอนนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการทดสอบระบบ และคาดการณ์ว่า ปี 2573 บริษัทยูนี่ จะเปิดให้บริการแพลตฟอร์มทั่วโลกต่อไป

ผุด 200 ตัวแทนรับซื้อสินค้าขยะ

ด้าน “ธเนศ หาญถนอม” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ฝ่ายพัฒนาธุรกิจ บริษัทยูนี่ออนไลน์ เผยว่า บริษัทยูนี่ออนไลน์เติบโตมาจากบริษัทพัฒนาเมือง เกิดจากการทดลองของบอร์ดบริหารในหลายจังหวัด เช่น กลุ่มพัฒนาเมืองจังหวัดอุบลราชธานี หอการค้าจังหวัดต่าง ๆ เป็นต้น

ดำเนินการธุรกิจบริการแพลตฟอร์มมาแล้ว 4 ปี มีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 200% ต่อปี โดยคณะทำงานต่างมีความคิดอยากพัฒนาสังคม ร่วมปลูกจิตสำนึกให้กับคนในชุมชน

สำหรับยูนี่รีไซเคิลที่เป็นแพลตฟอร์มแรกของบริษัท อยากเห็นการคัดแยกขยะจากต้นทาง ซึ่งสามารถสร้างมูลค่าให้กับขยะรีไซเคิลได้มากขึ้น เพราะปัจจุบันขยะเหล่านี้มักถูกมองว่ามีมูลค่าน้อยมากจนคนไม่เห็นคุณค่า ฉะนั้นยูนี่จึงนำแพลตฟอร์มมาใช้ เพื่อยกระดับราคาสินค้าขยะรีไซเคิลให้สูงขึ้น

โดยตัดระบบคนกลางออก แล้วส่งขายตรงถึงโรงงานเลย ปัจจุบันตัวแทนที่เป็นจุดรับซื้อสินค้าขนาดใหญ่ประจำจังหวัด หรือ “ศูนย์รับซื้อสินค้ารีไซเคิล” ของยูนี่มีอยู่ 200 กว่าราย

“ผมเข้ามาทำงานร่วมกับยูนี่เพราะการชักชวนของเพื่อน ๆ ในกลุ่ม YEC ของหอการค้าจังหวัดที่ทำงานด้วยกันอยู่แล้ว และยูนี่เป็นแพลตฟอร์มธุรกิจที่เกี่ยวกับการรีไซเคิล มองว่าสามารถสร้างงานสร้างอาชีพให้ผู้คนในชุมชนและช่วยเหลือสังคมได้ ซึ่งตรงกับแนวคิดการทำงานของเรา เมื่อได้ศึกษาถึงแนวทางธุรกิจมีความยั่งยืน

โดยได้นำแพลตฟอร์มการทำธุรกิจมาลองใช้ในพื้นที่บ้านเกิดของตัวเองที่จังหวัดเลย ปรากฏว่าได้ผลตอบรับดีมาก เช่น ลังบรรจุขวดเบียร์ที่เป็นกระดาษ ผลิตภัณฑ์ขวดแก้ว กลุ่มอะลูมิเนียมล้อแม็ก เศษวัสดุที่ถูกทิ้ง เมื่อแยกเป็นระบบแล้วนำไปขายสร้างมูลค่าเพิ่มได้มากกว่าที่เคยขายปกติ”

สำหรับการก่อตั้งธุรกิจนี้โฟกัสไปที่การยกระดับกลุ่มคนฐานรากให้มีรายได้สูงขึ้น เพราะยูนี่ต้องการสร้างการรับรู้ของประชาชน ให้เข้าใจเรื่องแอปพลิเคชั่น เข้าใจการแยกขยะ พัฒนาสินค้าขยะรีไซเคิลให้ราคาสูงขึ้นตั้งแต่ระดับหมู่บ้าน ทำการอบรมสัมมนาและเปิดกว้างให้ผู้คนเข้าไปศึกษาเรียนรู้

และตั้งเป้าอยากได้นักพัฒนาเปลี่ยนแปลงจังหวัดผ่านแพลตฟอร์มเบื้องต้นจังหวัดละ 1 คน ก่อนขยายต่อไปให้ครบ 878 อำเภอภายในสิ้นปี 2566 และอยากให้ถึง 8,000 ตำบล กว่า 80,000 หมู่บ้าน ในปี 2567

อย่างไรก็ตาม “ธเนศ” บอกว่า เป้าหมายไม่ได้มองแค่ชุมชน หมู่บ้านในประเทศไทย แต่อนาคตต้องการขยายบริการไปในอาเซียนและทั่วโลกเร็ว ๆ นี้ โดยใช้โมเดลที่มีให้เติบโตมากที่สุด และปัจจุบันมีผู้โหลดแอปพลิเคชั่นยูนี่ใช้แล้วเกือบ 4 แสนราย