ธ.ก.ส.นำเกษตรกรหัวขบวนบุกญี่ปุ่น ศึกษาการยกระดับมาตรฐานสินค้ามูลค่าสูง

ฉัตรชัย ศิริไล

ธ.ก.ส. จัดกิจกรรมสื่อมวลชนสัญจรและนำเกษตรกรหัวขบวน ศึกษาดูงานการยกระดับมาตรฐานและมูลค่าสินค้าเกษตรที่ประเทศญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ 20-24 ตุลาคม 2566 โดยเน้นขบวนการส่งเสริม Local consumption ในท้องถิ่นความรู้คู่กับการท่องเที่ยว

วันที่ 25 ตุลาคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จัดกิจกรรมสื่อมวลชนสัญจร และนำเกษตรกรหัวขบวน ศึกษาดูงานการยกระดับมาตรฐานและมูลค่าสินค้าเกษตรที่ประเทศญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ 20-24 ตุลาคม 2566

เริ่มตั้งแต่การดูงานที่ Kyoho Wine โรงกลั่นไวน์เก่าแก่ในเมืองคุรุเมะ จังหวัดฟุคุโอกะ ดูกระบวนการการพัฒนาผลผลิตจากองุ่นเคียวโฮมาทำเป็นไวน์ และเทคนิคในการสร้างแบรนด์ หลังจากนั้นไปเยี่ยมชม Michi No Eki สถานที่จัดจำหน่ายสินค้าจากเกษตรกรในท้องถิ่นของเมืองคุรุเมะ  สามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรมานากกว่า 15 ปี แล้วและทำยอดขายเป็นอันดับ 5 จาก 17 แห่งในฟุกุโอกะ ถัดมาไปเยี่ยมชม Yufuin Goemon โรงงานผลิตขนมจำหน่ายในเมืองยูฟุอินที่ผลิตสินค้าท้องถิ่นขึ้นชื่อของเมือง

ในวันต่อมาคือการไปศึกษาดูงานด้านศิลปหัตถกรรมเครื่องปั้นดินเผาที่ CHINA ON THE PARK ศูนย์หัตถกรรเครื่องปั้นดินเผา และเซรามิกที่ใหญ่และมีชื่อเสียงอีกแห่งในญี่ปุ่น ซึ่งมีรางวัลการันตีเป็นที่รู้จักในระดับโลก โดยประกวดแจกันเมื่อประมาณ 100 ปีก่อน จนได้รางวัลชนะเลิศที่ฝรั่งเศส

วันถัดมาได้ไปศึกษาดูงานนาข้าวแบบขั้นปันไดที่ Hamanoura Rice Terraces รู้จักวิธีการและขั้นตอนการทำนาแบบญี่ปุ่น รวมถึงแนวคิดในการพัฒนาสินค้าที่เป็นเอกลักษณ์ควบคู่กับการสร้างจุดท่องเที่ยวในชุมชนติดอันดับ 1 ใน 100 ของญี่ปุ่น

แหล่งศึกษาดูงานที่ ธ.ก.ส. ได้พาไปนั้นล้วนเกี่ยวข้องกับเกษตรกรไทยทั้ง 10 ราย ซึ่งจะได้แนวทางการพัฒนาต่อยอดธุรกิจของตนเอง เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มต่อไปได้ในอนาคต โดยเน้นขบวนการส่งเสริม Local consumption ในท้องถิ่น ซึ่ง ธ.ก.ส. ก็พร้อมสนับสนุนเงินทุนในอัตราดอกเบี้ยต่ำให้เกษตรกรนำไปต่อยอดการดำเนินธุรกิจและมีรายได้ สามารถแก้หนี้ให้เกษตรได้อย่างยั่งยืน

นายฉัตรชัย ศิริไล ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า ธ.ก.ส.ได้พาเกษตรกลุ่มที่เป็นลู้กค้าจากประเทศไทย หรือที่เรียกว่า เกษตรกรหัวขบวนมาดูงานที่ประเทศญี่ปุ่น โดยกลุ่มที่มาดูงานนี้ทำธุรกิจที่มีความเกี่ยวข้องกับธุรกิจที่ ธ.ก.ส.ได้พามาดูอยู่ญี่ปุ่น เช่น การแปรรูปผลผลิตเป็นไวน์ การทำเครื่องปั้นดินเผา การสร้างมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ และแนวคิดในการทำแพ็กเกจจิ้ง รวมถึงการทำนาแบบขั้นบันได

“นับเป็นครั้งแรกที่เราพาเกษตรกรมาลงพื้นที่ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งการพาเกษตรกรมาในครั้งนี้ เราต้องการให้เกษตรกรของเราได้มาเห็นของจริง ได้แลกเปลี่ยนแนวคิดกับเกษตรกรของญี่ปุ่น ว่ามีแนวคิดอย่างไร มีการบริหารจัดการอย่างไร เพราะการบอกเล่าหรือดูวีดิทัศน์ เกษตรกรของเราจะไม่เข้าใจเท่ากับการมาสัมผัสด้วยตัวเอง”

นายฉัตรชัยกล่าวว่า การลงพื้นที่ในครั้งนี้จะเน้นย้ำให้เกษตรกรเห็นการเกษตรมูลค่าสูง เพราะเกษตรกรของประเทศญี่ปุ่นมักจะผลิตผลผลิตต่าง ๆ ไม่มาก ทำพอประมาณแต่มูลค่ากลับสูงมาก ในขณะที่ทรัพยากรของประเทศญี่ปุ่นมีอยู่อย่างจำกัดและเข้าสู่ภาวะสังคมผู้สูงอายุเช่นเดียวกับประเทศไทย ยกตัวอย่างการดูงานที่โรงงานเครื่องปั้นดินเผา ที่มีอยู่ไม่กี่ 10 คน แต่สามารถผสมผสานแบ่งเวลามาทำจากการทำเกษตรปกติได้ นับเป็นการสืบทอดศิลปวัฒนธรรมที่ยังคงเอกลักษณ์ไว้ ที่สำคัญคือสินค้าพัฒนาอยู่ตลอดเวลา ตรงตามความต้องการของลูกค้า

และสิ่งหนึ่งที่เห็นอย่างชัดเจนในภาคอุตสาหกรรมที่ ธ.ก.ส.ได้พามาดูในครั้งนี้ของประเทศญี่ปุ่น คือ เกษตรกรในประเทศญี่ปุ่นไม่ได้ทำเกษตรเพียงอย่างเดียว แต่วางแผนไปด้วยว่าจะขายสินค้าให้กับใคร จะพัฒนาสินค้าไปแบบไหน ผลิตภัณฑ์ที่พัฒนาขึ้นมาจะตอบสนองต่อผู้บริโภคอย่างไร สอดคล้องกับสิ่งที่ ธ.ก.ส.กำลังส่งเสริมคือ Local consumption หรือการบริโภคในท้องถิ่นอยู่ในเมืองเมืองนั้น และเสริมเรื่องเกษตรท่องเที่ยวไปด้วย ซึ่งเป็นที่มาของคำพูดที่ว่ากันคือ เกษตรกรญี่ปุ่นรวย และได้เห็นว่ารวยอย่างไร