อนุชา รมช.เกษตรฯ เดินหน้า “ชัยนาทโมเดล” หนุนเกษตรกรพ้นความยากจน

อนุชา นาคาศัย

อนุชา รมช.เกษตรฯ เดินหน้า “ชัยนาทโมเดล” ตามนโยบายนายกรัฐมนตรีเศรษฐา หนุนชาวนาผู้ปลูกข้าวต้องมีอาชีพเสริม เพิ่มรายได้ ลั่น ! เกษตรกรต้องหลุดพ้นความยากจน

วันที่ 20 ตุลาคม 2566 นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มอบนโยบายในโอกาสร่วมประชุมคณะกรรมการจังหวัดและหัวหน้าส่วนราชการประจำจังหวัดชัยนาท ครั้งที่ 10/2566 โดยมีนายนที มนตริวัต ผู้ว่าราชการจังหวัดชัยนาท ผู้บริหารหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หัวหน้าส่วนราชการในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมพระครูวิมลคุณากร ชั้น 2 อาคารศูนย์การเรียนรู้และพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเขื่อนเจ้าพระยา สำนักงานชลประทานที่ 12

นายอนุชากล่าวว่า ตามนโยบายของรัฐด้านภาคการเกษตร รัฐบาลมีความมุ่งมั่นที่จะสร้างรายได้ให้พี่น้องเกษตรกร โดยใช้หลักการ “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” ด้วยการสนับสนุนการเพิ่มประสิทธิภาพและผลิตภาพของภาคการเกษตร บูรณาการองค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการน้ำให้มีประสิทธิภาพ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการน้ำในแต่ละพื้นที่ ใช้การบริหารจัดการแปลงเกษตร ด้วยนวัตกรรมเกษตรแม่นยำ การวิจัยพัฒนาพันธุ์เพื่อเพิ่มผลผลิต และเพิ่มมูลค่าผลตอบแทนต่อไร่ให้สูงขึ้น

ตลอดจนการหาตลาดให้สินค้าเกษตรได้ขายในราคาที่เหมาะสม สนับสนุนให้เปลี่ยนแปลงการปลูกพืชให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติและเศรษฐกิจ และการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรให้มีค่าสูงขึ้น

ดังนั้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงเดินหน้าขับเคลื่อน “ชัยนาทโมเดล” โดยมีแนวทางการส่งเสริม ดังนี้

  1. นวัตกรรมข้าวพันธุ์ดี เมล็ดข้าวพันธุ์ดี (ใช้น้ำน้อย ผลผลิตสูง ทนทานโรคและแมลง)
  2. ลดต้นทุน เพิ่มศักยภาพการผลิต ส่งเสริมการปลูกพืชแห่งโอกาส เช่น หญ้า การเลี้ยงวัว การบริหารจัดการน้ำ ยกระดับภาคเกษตร ธนาคารน้ำใต้ดิน (Groundwater Bank)
  3. บริหารจัดการทรัพยากรดินให้เหมาะสมกับพืช
  4. สร้างคุณค่า ความภาคภูมิอาชีพ ระบบตลาดนำการผลิต
  5. ขยายสาขาวิทยาลัยเทคนิคชัยนาท
  6. เพิ่มศักยภาพวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีชัยนาท เป็นต้น โดยมีหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ร่วมสนับสนุนในพื้นที่ที่มีความพร้อม

“กระทรวงเกษตรฯจะเดินหน้าขับเคลื่อนให้จังหวัดชัยนาทจะต้องเป็น ‘ชัยนาทโมเดล’ คือ จังหวัดต้นแบบด้านการเกษตร การพัฒนาพื้นที่ส่งเสริมให้เกษตรกรจำนวนมากกว่า 100 ครอบครัวได้มีอาชีพเลี้ยงโคพื้นเมือง ส่งเสริมโดยให้องค์ความรู้สนับสนุนแหล่งเงินทุน ใช้ ปัจจัยการผลิตท้องถิ่น ยกระดับคุณภาพและมาตรฐานสินค้าเกษตร และหาช่องทางการตลาด

เป็นการสร้างแหล่งอาหารโปรตีนที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับชุมชนที่ยั่งยืน เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น มากกว่าการผลิตพืชเพียงอย่างเดียว ลดความเสี่ยงด้านการผลิตและการตลาด อีกทั้งยังทำการผลิตในรูปแบบ BCG Model เพื่อรักษาระบบนิเวศเกษตรด้วย” นายอนุชากล่าว

นายอนุชากล่าวเพิ่มเติมว่า การทำเกษตรกรรม หรือการทำนาเพียงอย่างเดียว อาจไม่สามารถทำให้เกษตรกรหลุดพ้นจากความยากจนได้ ดังนั้น จึงต้องเป็นหน้าที่ของกระทรวงเกษตรฯ ที่จะผลักดันอาชีพเสริมให้กับพี่น้องเกษตรกร ได้ประกอบอาชีพเสริมเพิ่มรายได้ เชื่อว่าหากเกษตรกรมีอาชีพเสริม

เช่น การเลี้ยงโคตามโครงการโคเงินล้าน โคล้านครอบครัว ก็จะสามารถหลุดพ้นจากความยากจน หมดหนี้สิน สามารถพึ่งพาตนเองได้ และมีฐานะที่มั่นคงอย่างเท่าเทียม และตนมีแนวคิดที่ว่า อาชีพเกษตรนั้นถือเป็นเงินบาทแรกของแผ่นดิน ซึ่งก็คือเงินจากดิน เงินจากน้ำ เป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากให้สามารถเดินต่อได้

ทั้งนี้ จังหวัดชัยนาทมีพื้นที่ทั้งหมด 1,543,591 ไร่ เป็นพื้นที่เกษตรกรรม 1,226,964 ไร่ (79.49% ของพื้นที่ทั้งหมด) เป็นพื้นที่ในเขตชลประทานที่สามารถทําการเกษตรได้ 698,592 ไร่ (56.94% ของพื้นที่เกษตรกรรม) เป็นพื้นที่นอกเขตชลประทาน 617,030 ไร่ (39.97% ของพื้นที่ทั้งหมด) พืชเศรษฐกิจหลักที่สําคัญของจังหวัด คือ ข้าว คิดเป็นร้อยละ 65.58 ของพื้นที่เกษตรกรรม

รองลงมา ได้แก่ พืชไร่ คิดเป็นร้อยละ 21.16 และพืชอื่น ๆ คิดเป็นร้อยละ 13.26 ตามลําดับ สำหรับปริมาณน้ำภาพรวมจังหวัด 80.76 ล้านลูกบาศก์เมตร ประกอบด้วย แม่น้ำ 3 สาย ได้แก่ แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีนหรือแม่น้ำมะขามเฒ่า และแม่น้ำน้อย และมีแหล่งน้ำธรรมชาติ 615 แห่ง