อนุชาพลิกโฉมภาคเกษตรไทย ปั๊ม GDP ภาคเกษตร เพิ่มรายได้ แก้หนี้เกษตรกร

อนุชา นาคาศัย
อนุชา นาคาศัย

“อนุชา” เดินหน้าพลิกโฉมภาคเกษตรไทย ผลักดัน GDP ภาคเกษตรให้สูงขึ้น เพิ่มรายได้ หวังแก้ปัญหาหนี้ เร่งเสริมศักยภาพเกษตรกรรายย่อยให้เข้าถึงเทคโนโลยีมากขึ้น

วันที่ 27 กันยายน 2566 นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานเปิดงานสัมมนาและกล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “พลิกโฉมภาคเกษตรไทย ด้วยนโยบายการวิจัย นวัตกรรม และการรวมกลุ่ม” จัดโดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) แผนงานคนไทย 4.0 สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อนำเสนอผลการวิจัย เรื่อง “แพลตฟอร์มนโยบายข้าว ผัก และผลไม้” ตลอดจนแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน เข้าร่วม

นายอนุชากล่าวว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้ความสำคัญกับการพัฒนาภาคเกษตร ซึ่งมีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะ “เศรษฐกิจฐานราก” ซึ่งหากสามารถพัฒนาภาคเกษตรให้เข้มแข็ง จะส่งผลให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ GDP ภาคเกษตรขยายตัวสูงขึ้น และสร้างรายได้ที่มั่นคงให้กับเกษตรกร อย่างไรก็ตาม แม้ตัวเลข GDP ภาคเกษตร มีสัดส่วนเพียง 8.9% ของ GDP รวม ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมมีสัดส่วน 60.2% และภาคบริการมีสัดส่วน 30.9% ตามลำดับ

“ภาคเกษตรถือเป็นหัวใจสำคัญของประเทศ เปรียบเหมือนรากฐานสำคัญของเศรษฐกิจไทย ที่สร้างรายได้ให้กับประชากรไทยจำนวนไม่น้อยในแต่ละปี นอกจากนี้ ภาคเกษตรกรยังพบปัญหาต่าง ๆ หลายด้าน เช่น การขาดแคลนเงินทุนและการขาดโอกาสในการเข้าถึงแหล่งทุน ปัญหาต้นทุนการผลิตมีราคาสูงการขาดองค์ความรู้ทางเทคโนโลยีและนวัตกรรม การขาดแคลนแรงงานภาคเกษตร การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นจึงได้มุ่งเน้นผลักดันนโยบายรัฐบาลและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตภาคเกษตรให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ทั้งในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว”

สำหรับระยะสั้น ผลักดันการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนเงินทุนและการขาดโอกาสในการเข้าถึงแหล่งทุน โดยส่งเสริมให้ภาคเกษตรสามารถมีแหล่งทุนในการสร้างรายได้โดยเร็วที่สุด เช่น ผลงานสำคัญที่ผ่านมาซึ่งเป็นนโยบายของสำนักนายกรัฐมนตรี คือ “โครงการโคล้านครอบครัว” ผ่านกองทุนหมู่บ้าน โดยเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2566 คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติให้ดำเนินโครงการในวงเงินงบประมาณ 5,000 ล้านบาท

โดยให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สนับสนุนสินเชื่อให้กับกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง จำนวน 79,610 กองทุน มีกำหนดระยะเวลา 4 ปี เพื่อเปิดโอกาสให้สมาชิกกองทุนที่เข้าร่วมโครงการสามารถกู้ยืมเงินทุนสำหรับเลี้ยงโค ครอบครัวไม่เกิน 50,000 บาท จำนวน 100,000 ครัวเรือน โดยเลี้ยงโค ครัวเรือนละ 2 ตัว รวม 200,000 ตัว เป็นการส่งเสริมให้เกษตรกรหันมาทำปศุสัตว์เพื่อสร้างรายได้ด้วยวิธีการที่ง่ายและเกิดความยั่งยืน เป็นต้น

ทั้งนี้ แนวคิดจากโครงการดังกล่าวได้มีการทดลองนำร่องทำสำเร็จมาแล้วในหลายพื้นที่ เช่น จังหวัดสุโขทัย เป็นต้น

ระยะกลาง เมื่อภาคเกษตรสามารถเข้าถึงแหล่งทุนและมีเงินทุนในการสร้างรายได้ที่มั่นคงแล้ว ผลักดันให้เกิดการพัฒนากลุ่มเกษตรกรและสถาบันเกษตรกรให้เข้มแข็ง โดยส่งเสริมให้เกษตรกรมีความรู้ความสามารถ ทั้งในการผลิต การค้า การตลาด การบริหารจัดการ การเงินและบัญชี มีรายได้สูง พร้อมทั้งรวมกลุ่มทำการผลิตและการตลาดเองในรูปแบบแปลงใหญ่ วิสาหกิจ ชุมชน หรือสหกรณ์ เป็นต้น

ระยะยาว ผลักดันนวัตกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูงในภาคเกษตร ส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม การเกษตร มุ่งเน้นความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชนในการลงทุน เพื่อการวิจัยและพัฒนา กำหนดกรอบงานวิจัยและสร้างนวัตกรรมให้สอดคล้องกับความต้องการของพื้นที่ พัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศการเกษตร และสร้างการเชื่อมโยงของข้อมูลอย่างเป็นระบบ

รวมถึงส่งเสริมการนำงานวิจัย เทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ประโยชน์อย่างแท้จริง เน้นการเข้าถึงเทคโนโลยีการเกษตรของเกษตรกรรายย่อยและกลุ่มเกษตรกร เพื่อช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาภาคการเกษตรให้มีศักยภาพในการแข่งขันมากขึ้น

นายอนุชาเน้นย้ำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความสำคัญกับเมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพ สามารถเพิ่มผลผลิตต่อไร่ได้เพิ่มขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรโดยตรง รวมทั้งเพิ่มความมั่นคงด้านอาหารของประเทศอีกด้วย อย่างไรก็ตาม จากปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตร ทำให้เกษตรกรได้รับผลกระทบและความเสียหาย จึงได้ส่งเสริมให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนพื้นที่เพาะปลูก หันมาทำปศุสัตว์ เช่น โครงการโคล้านครอบครัว ที่ผมได้ขับเคลื่อนมาอย่างต่อเนื่อง เพราะความมุ่งหวังของผมคืออยากเห็นรายได้ภาคเกษตรเพิ่มขึ้น