หอฯ 5 ภาคจี้รัฐลุยบิ๊กโปรเจ็กต์ ใต้ดันรถไฟทางคู่-แลนด์บริดจ์

หอการค้า

หอการค้า 5 ภาคจี้รัฐอัดงบฯลงทุน ภาคกลางดัน smart city นิคมเกษตรแห่งใหม่ ภาคเหนือชงแผนจัดการน้ำ-ล้างพิษ PM 2.5 หออีสานชงแผนยกระดับรายได้เกษตร หอตะวันออกเสนอวิจัยสมุนไพรทำเวชสำอาง ภาคใต้เร่งรถไฟทางคู่-แลนด์บริดจ์

ในงานสัมมนาหอการค้าทั่วประเทศครั้งที่ 41 ที่จะจัดขึ้นวันที่ 18-19 พฤศจิกายน 2566 ซึ่งเป็นโอกาสครบรอบ 90 ปี หอการค้าไทยทางหอการค้าแต่ละจังหวัดได้มีการจัดตั้งคณะทำงานเพื่อจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจ และสะท้อนปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในแต่ละจังหวัด เพื่อผลักดันให้รัฐบาลเข้ามาช่่วยส่งเสริมและแก้ไข

โดยยึดกรอบ 7 แนวทาง ใกล้เคียงกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจภาคเอกชนระดับภูมิภาค ซึ่งจัดทำโดยคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน(กกร.) ได้แก่

1.เกษตรกรรมและการผลิตอาหาร 2.ศูนย์กลางเศรษฐกิจ 3.พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สังคม และคุณภาพชีวิต 4.การค้าและการลงทุน 5.อุตสาหกรรม

6.โครงสร้างพื้นฐานและโลจิสติกส์ 7.การท่องเที่ยว เพื่อเชื่อมโยงถึงการเปลี่ยนแปลงของโลกในอนาคต (global trends)

ภาคกลางมุ่งสู่ Smart City

นายธวัชชัย เศรษฐจินดา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคกลาง เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หอการค้า 5 ภาคเตรียมยื่นแผนพัฒนาเศรษฐกิจบรรจุในสมุดปกขาว เสนอต่อนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ในงานสัมมนาดังกล่าว

ภาคกลางเป็นฐานการผลิตสินค้าและบริการเพื่อเศรษฐกิจยั่งยืน มีโครงการเสนอ เช่น โครงการด้านโครงสร้างพื้นฐานและโลจิสติกส์ ท่องเที่ยวคุณภาพสูงและยกระดับสนามบินนานาชาติเชื่อมขนส่งสินค้า, เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ smart city และศูนย์กลางนิคมอุตสาหกรรมเกษตรแห่งใหม่, เชื่อมงานวิจัยสู่ตลาดจริง และส่งเสริมความร่วมมือภาครัฐ-เอกชน, ด้านเกษตรกรรมและการผลิตอาหาร, การท่องเที่ยวและทุนทางวัฒนธรรม หนุนเมืองสร้างสรรค์โลกด้านอาหาร, การค้าและการลงทุน ยกระดับจุดผ่อนปรนเป็นด่านค้าชายแดนถาวร

ส่วนภาครัฐมีประเด็นการพัฒนากระบวนการผลิตภาคการเกษตร อุตสาหกรรม และพาณิชยกรรม ด้วยระบบธุรกิจเกษตรอัจฉริยะ ฯลฯ โครงการที่ กกร.รับผิดชอบ ได้แก่ การขับเคลื่อนอุตสาหกรรม (แปรรูปเกษตร) มูลค่าสูง และ 12 อุตสาหกรรมเชิงนิเวศที่แนบท้ายในผังเมือง

โครงการ RUN (reskill upskill newskill) ร่วมกันระหว่างภาคอุตสาหกรรมและภาครัฐ เพื่อยกระดับขีดความสามารถและศักยภาพบุคลากร และมีโครงการศึกษาความเป็นไปได้ในการบูรณาการเชื่อมโยงขนส่งมวลชนและรถไฟฟ้าชานเมือง บูรณาการผังเมืองของกลุ่มจังหวัดภาคกลาง ศึกษาความเป็นไปได้ในการเชื่อมโยงเครือข่ายคมนาคมเพื่อส่งเสริมให้เป็น smart mobility และจัดทำแผน smart environment เป็นต้น

เหนือแก้น้ำท่วม-หมอกควัน

นายสมบัติ ชินสุขเสริม ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคเหนือ หอการค้าไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จะเสนอ 4 เรื่องคือ 1.แผนแม่บทบริหารจัดการน้ำ แก้ปัญหาน้ำท่วมหนักและแล้งจัดทุกปี ขอให้สร้างอ่างเก็บน้ำแต่ละพื้นที่ เพื่อกักเก็บน้ำไม่ให้ไหลลงสู่จังหวัดด้านล่าง

2.แก้ปัญหาหมอกควันในภาคเหนือ และผลักดัน พ.ร.บ.อากาศสะอาด ให้กระทรวงมหาดไทยเร่งแก้ปัญหาอย่างจริงจังและเป็นรูปธรรม ยกตัวอย่างเชียงใหม่โมเดลที่จัดตั้งคณะทำงาน 7 ป่าสำคัญ (ป่าอมก๋อย-ดอยหลวงเชียงดาว) โดยภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม มีส่วนร่วมแก้ไขปัญหาและสร้างแรงจูงใจลดการเผาทั้ง 7 ป่า และสนับสนุนภารกิจป้องกัน ควบคุมไฟป่าขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภายใต้งบประมาณรายจ่ายปี 2567

3.ส่งเสริมเศรษฐกิจมูลค่าสูง จะผลักดันจังหวัดตาก-ลำปาง-แพร่-น่าน ให้เป็นเส้นทางการปลูกกาแฟของภาคเหนือ พร้อมส่งเสริมการตลาด 4.เร่งรัดพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานโลจิสติกส์ เชื่อมโยงทั้งในและต่างประเทศ อาทิ สนามบินแห่งที่ 2 เชียงใหม่, มอเตอร์เวย์เชียงราย-เชียงใหม่, รถไฟทางคู่ภาคเหนือ ปากน้ำโพ (นครสวรรค์)-เด่นชัย และรถไฟทางคู่สายนครสวรรค์-แม่สอด

อีสานสร้างอาชีพดึงแรงงานกลับ

นายสวาท ธีระรัตนนุกูลชัย รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภาคอีสานมักถูกมองว่าขับเคลื่อนด้วยภาคเกษตรเป็นหลัก แต่ความเป็นจริงภาคธุรกิจที่สร้างรายได้มากสุดคือการค้าชายแดน มีสัดส่วน 35% ภาคบริการและท่องเที่ยว 27% ภาคเกษตรมีเพียง 9-10%

โดยมีแรงงานไปทำงานในต่างประเทศมากที่สุด รัฐควรสร้างงานสร้างอาชีพ เพื่อดึงแรงงานให้กลับมาพัฒนาบ้านเกิด

นอกจากนี้ ได้เสนอให้ยกระดับรายได้ของภาคเกษตรและประมง เช่น สนับสนุนเลี้ยงโคพรีเมี่ยม สร้างโรงเชือดมาตรฐาน, เลี้ยงกุ้งก้ามกามในจังหวัดกาฬสินธุ์, เลี้ยงปูเนื้อเพื่อส่งออก, ทดลองสร้างธนาคารน้ำในทุ่งกุลาร้องไห้ให้ปลูกข้าวหอมมะลิได้ 2 รอบต่อปี, ขับเคลื่อนอุดรธานีให้เป็นจังหวัดชายแดน สนับสนุนเศรษฐกิจชายแดนจังหวัดหนองคาย

หาก 2 จังหวัดนี้ผนึกกำลังกันจะทำให้เศรษฐกิจมีความเข้มแข็งขึ้น เป็นประตูการค้าสำคัญเชื่อม one belt one road สู่ประเทศจีน และยุโรปในอนาคต

“ผมคิดว่าปี 2567 จะเป็นปีทองของภาคอีสาน หากอุดรธานีกับหนองคายผนึกกำลัง ต่อไปขอนแก่นกับนครราชสีมาจะเชื่อมถึงกัน กลายเป็นแกนหลักในการพัฒนาและขยายพื้นที่ให้กับจังหวัดข้างเคียง เป็นจังหวัดพี่จังหวัดน้องที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ยั่งยืน”

ตะวันออกเสนอ 5 เรื่อง

นายปรัชญา สมะลาภา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคตะวันออก เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ได้เตรียมประเด็น 5 เรื่องหลัก ได้แก่ 1.เร่งเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก โดยเฉพาะรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) และโครงการสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ซึ่งล่าช้ากว่าแผนแล้ว 2.การเกษตรและผลไม้ ตั้งทีมเปิดตลาดใหม่ลดความเสี่ยงการส่งออกไปตลาดจีนถึง 90% ปัจจุบันมีคู่แข่งเพิ่มขึ้น ซึ่งจะเสนอให้รัฐบาลแต่งตั้งคณะทำงานร่วมกัน

3.ผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่จะนำไปทำเวชสำอาง โดยเฉพาะปราจีนบุรี นครนายก สระแก้ว ส่งออกพืชสมุนไพรไปยุโรปจำนวนมาก รวมถึงส่งออกสมุนไพรไปทำอาหารสัตว์เกรดพรีเมี่ยมให้สุนัขและแมว โดยให้ YEC ของหอการค้าร่วมกับเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC ) วังจันทร์วัลเลย์ จ.ระยอง ซึ่งมีทีมวิจัยสมุนไพรทำเวชสำอางมาทำงานร่วมกัน

4.ด่านทางทะเล ทางจังหวัดตราดเสนอท่าเรือคลองใหญ่ที่สร้างบนที่ดินของกรมธนารักษ์มูลค่า 1,300 ล้านบาท ที่ผ่านมาสร้างท่าเทียบเรือ อาคาร คลังสินค้าทัณฑ์บนไว้แล้ว แต่ไม่ได้ใช้งาน เพื่อรองรับการตรวจเอกสารชาวต่างชาติที่ลงเรือมาจากเวียดนาม กัมพูชา ฟิลิปปินส์ เพื่อมาท่องเที่ยวเกาะต่าง ๆ ในจังหวัดตราด ที่่ผ่านมาต้องไปรับเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองจากด่านคลองลึก นอกจากนี้ จะทำเป็นท่าเรือท่องเที่ยวและท่าเรือกีฬาทางน้ำ เช่น กีฬาเรือใบ เป็นต้น

5.โครงการงานวิจัยจากหิ้งสู่ห้าง โดยหอการค้าจังหวัดชลบุรีจะนำงานวิจัยมาต่อยอดเชิงพาณิชย์

หอใต้ดันรถไฟ-แลนด์บริดจ์

นายวัฒนา ธนาศักดิ์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคใต้ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เตรียมเสนอเร่งรัดโครงการที่ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีแล้วแต่ยังล่าช้ากว่าแผน 3 โครงการ ได้แก่ 1.รถไฟเชื่อมอ่าวไทยและอันดามัน มี 2 เส้นทางคือ สุราษฎร์ธานี-พังงา-กระบี่-ภูเก็ต และสุราษฎร์ธานี-ท่าเรือดอนสัก งบประมาณ 50,000 ล้านบาท หากโครงการแล้วเสร็จจะรองรับนักท่องเที่ยวสู่จังหวัดฝั่งอันดามันได้มากขึ้น

2.โครงการแลนด์บริดจ์ ท่าเรือนํ้าลึกฝั่งอ่าวไทยในจังหวัดชุมพร เเละจังหวัดระนอง โดยมีเส้นทางเชื่อมท่าเรือ 2 เเห่ง ถ้าทำสำเร็จจะสร้างรายได้มหาศาล

3.รถไฟทางคู่ นครปฐม-ปาดังเบซาร์ จะช่วยให้การค้าและการลงทุนดีขึ้น ทั้งนักท่องเที่ยวและสินค้าเกษตรจะโดยสารส่งผ่านระบบรางได้เร็วขึ้น

ทั้งนี้ แต่ละโครงการบรรจุในแผนหมดแล้ว แต่ไม่ได้ใส่งบประมาณ ทำให้โครงการขยับออกไปเรื่อย ๆ