RTC รุกเดิน “รถบัสไฮโดรเจน” นำร่องเชียงใหม่-ขอนแก่น-สงขลา-ภูเก็ต

รถบัสไฮโดรเจน

RTC เชียงใหม่ผนึก กฟผ.-ขอนแก่นซิตี้บัส-โพธิทองขนส่งสงขลา-ภูเก็ตสมาร์ทบัส นำร่องศึกษาทดลองเดินรถ “รถบัสโดยสารสาธารณะ” ใช้พลังงาน “ไฮโดรเจน” วางกรอบ 3 ปีข้างหน้า ก่อนขยายผลไปยัง “รถบรรทุกขนส่งสินค้า” หวังสนองนโยบายรัฐลดปล่อยคาร์บอน พร้อมชงรัฐบาลทำรถไฟฟ้ารางเบา ระบบพลังงานไฮโดรเจน เชื่อมต่อสนามบินเชียงใหม่เก่าและแห่งใหม่

นายฐาปนา บุณยประวิตร นายกสมาคมการผังเมืองไทย กรรมการและเลขานุการกฎบัตรไทยและกรรมการผู้จัดการ บริษัท รีเจียนนอล ทรานซิท โคเปอร์เรชั่น จำกัด (RTC) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้บริษัท RTC ซึ่งเป็นผู้ให้บริการเดินรถโดยสารประจำทางในเขตตัวเมืองเชียงใหม่และเครือข่ายพันธมิตรได้ร่วมกันพัฒนาพลังงานไฮโดรเจนในภาคการขนส่งและระบบขนส่งมวลชน

โดยวางแผนภายใน 3 ปี หรือภายในปี 2569 จะนำร่องศึกษาเปลี่ยนรถบัสโดยสารที่ใช้ก๊าซธรรมชาติ (NGV) และรถโดยสารไฟฟ้า (EV Bus) ไปใช้ไฮโดรเจน พร้อมทั้งการเตรียมหาที่ดิน เพื่อจัดสร้างสถานีบริการไฮโดรเจน

โดยจะนำร่องใน 4 จังหวัด ได้แก่ จ.เชียงใหม่ จ.ขอนแก่น อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา และ จ.ภูเก็ต ก่อนจะขยายไปยังจังหวัดเครือข่ายอื่น รวมถึงขยายไปยังรถบรรทุกขนส่งสินค้าในอนาคต ซึ่งเชื่อว่าในอีก 3 ปีข้างหน้า ต้นทุนในการผลิตไฮโดรเจนจะลดลง ทำให้ลดต้นทุนการขนส่งและโลจิสติกส์

รวมถึงลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ตอบสนองเป้าหมาย Carbon Neutrality ในปี 2030 นอกจากนี้ RTC และเครือข่ายเตรียมเสนอรัฐบาลพัฒนาระบบไฟฟ้ารางเบา (LRT) ระบบพลังงานไฮโดรเจน เชื่อมต่อท่าอากาศยานเชียงใหม่เก่าและแห่งใหม่ โดยให้เปิดบริการพร้อมกับท่าอากาศยานแห่งใหม่

“ทุกวันนี้หากใช้รถบัส หรือรถบรรทุกขนส่ง EV วิ่งจาก กทม.ไปเชียงใหม่ ระยะทางเกือบ 700 กม. รถบัส EV วิ่งได้สูงสุดไม่เกิน 200 กม. ต้องหาสถานีชาร์จไฟฟ้าแล้ว กว่าจะถึง จ.เชียงใหม่ ต้องชาร์จถึง 3 ครั้ง แต่หากใช้ไฮโดรเจนเติมครั้งเดียววิ่งได้ 600-700 กม.ถึงเชียงใหม่เลย ภายใน 3 ปีรถบัสของ RTC และเครือข่ายของ RTC จะเปลี่ยนไปใช้พลังงานไฮโดรเจนทั้งหมด” นายฐาปนากล่าวและว่า

สำหรับเครือข่ายที่เข้าร่วมในครั้งนี้ ประกอบการ 1.RTC 2.การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในนาม บริษัท อินโนพาวเวอร์ จำกัด จะเข้าร่วมขับเคลื่อนพลังงานสะอาดในภาคการขนส่ง 3.บริษัท โรนิตรอน จำกัด ซึ่งเป็นตัวแทนของ BLOOM Energy International สหรัฐอเมริกา ซึ่งพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตพลังงานไฮโดรเจน

4.บริษัท พนัสแอสเซมบลีย์ จำกัด 5.บริษัท ทวี จำกัด (มหาชน) ซึ่งทั้ง 2 รายนี้เป็นผู้ผลิตตัวถังรถบัสที่ใช้พลังงานไฮโดรเจน 6.บริษัท ขอนแก่นซิตี้บัส จำกัด ผู้ประกอบการขนส่งมวลชนจังหวัดขอนแก่น 7.บริษัท โพธิทองขนส่ง (2505) จำกัด ผู้ประกอบการขนส่งมวลชนจังหวัดสงขลา และ 8.บริษัท ภูเก็ต สมาร์ท บัส จำกัด ผู้ประกอบการขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ต

รถบัสไฮโดรเจน

“อย่างไรก็ตาม ทางเครือข่ายอยากจะผลักดันให้รัฐบาลเห็นความสำคัญของโครงการดังกล่าว เพื่อให้สามารถสำเร็จได้ตามแผนภายในระยะเวลา 3 ปี โดยต้องการให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เข้ามาสนับสนุนเรื่องสิทธิประโยชน์ให้กับบริษัทผู้ผลิตตัวถังรถบัสที่ใช้พลังงานไฮโดรเจนด้วย”

นายฐาปนากล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมาการเดินรถของ RTC ในเมืองเชียงใหม่ได้หยุดให้บริการไปตั้งแต่ช่วงโควิด-19 ประมาณ 3 ปี จะกลับมาเปิดให้บริการอีกครั้งกลางเดือนธันวาคม 2566 จำนวน 5 คัน ประกอบด้วย 3 เส้นทาง

โดยมีการเปิดเส้นทางเดินรถใหม่ 1 เส้นทาง เริ่มจากท่าอากาศยานเชียงใหม่-เมืองเก่า-ขนส่งอาเขต-ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเฟสติวัล ส่วนเส้นทางเดิม คือ R1 เริ่มจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่-ขนส่งช้างเผือก-ขนส่งอาเขต-ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเฟสติวัล, R3 ท่าอากาศยานเชียงใหม่-เมืองเก่า-ตลาดวโรรส-ท่าอากาศยานเชียงใหม่

ที่ผ่านมาได้หารือกับเทศบาลนครเชียงใหม่ให้ RTC ร่วมพัฒนาสถานีขนส่งจังหวัดเชียงใหม่ 2 (อาเขต) เป็นสถานีหลัก (main station) หรือศูนย์กลางหลักการขนส่งจังหวัดเชียงใหม่ ที่รถ RTC สามารถจอดรอผู้โดยสารได้ ทั้งนี้ ตามแผนการปรับปรุงกายภาพพื้นที่รอบสถานีหลัก (main station) และสถานีรอง (substation) ของเมืองเชียงใหม่ มีเป้าหมายในการสร้างพื้นที่การเดินรถที่ได้มาตรฐาน ตามเกณฑ์การพัฒนาพื้นที่รอบสถานี (TOD) จะเริ่มออกแบบก่อนในไตรมาสแรก ปี 2567

โดยการพัฒนาในครั้งนี้จะเพิ่มความสะดวกในการเชื่อมต่อการเดินทางให้กับประชาชนและนักท่องเที่ยวที่เดินทางระหว่างภาค ระหว่างจังหวัด และระหว่างอำเภอ ในการเชื่อมต่อกับท่าอากาศยานนานาชาติเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลทั้งสองแห่ง ศูนย์การค้าเมญ่า ประตูช้างเผือก ประตูท่าแพ และตลาดวโรรส รวมทั้งหน่วยบริการสำคัญ ๆ ในเขตเมืองของจังหวัดเชียงใหม่

นายสุรเดช ทวีแสงสกุลไทย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ช ทวี จำกัด (มหาชน) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ได้ร่วมกับกลุ่มกฎบัตรไทย และบริษัท รีเจียนนอล ทรานซิท โคเปอร์เรชั่น จำกัด (RTC) ทำโครงการศึกษาทดลองเดินรถบัสขนส่งมวลชนใช้พลังงานไฮโดรเจนสีเขียว (green hydrogen) ซึ่งเป็นการผลิตไฮโดรเจนจากพลังงานสะอาด

โดยในส่วนของเครือข่ายพันธมิตรของจังหวัดขอนแก่น ทาง บมจ. ช ทวี จะร่วมกับบริษัท ขอนแก่นพัฒนาเมือง (เคเคทีที) จำกัด และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตขอนแก่น (มทร. อีสาน) ดำเนินการศึกษาทดลองกับรถบัสขนาดเล็ก 30 ที่นั่ง ความยาว 8.50 เมตร ตามแผนจะเริ่มต้นทำการทดลองและวิจัยต้นปี 2567 วางกรอบการศึกษาวิจัยไว้ประมาณ 1 ปีครึ่ง

ทั้งนี้ ปัจจุบันอุปกรณ์ที่ใช้ผลิตตัวถังรถบัสไฮโดรเจนค่อนข้างแพง คล้ายแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า แต่คาดว่าในอนาคตราคาจะลดลง