“ขอนแก่น” จ้าง มทร.วางรูปแบบลงทุน

ขอนแก่น

“ทรงศักดิ์ ทองไทย” ประธานสภาอุตสาหกรรมกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลาง และประธานกิตติมศักดิ์สภาอุตสาหกรรมจังหวัดขอนแก่น ให้สัมภาษณ์ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สำหรับจังหวัดขอนแก่นโครงการท่าเรือบกเริ่มขับเคลื่อนมาตั้งแต่ปี 2558 หลายหน่วยงานร่วมกันสำรวจพื้นที่แล้ว ได้พิกัดบ้านโนนพยอม ตำบลม่วงหวาน อำเภอน้ำพอง

ซึ่งเป็น 1 ใน 3 เขตพื้นที่ต่อกันกับตำบลกุดน้ำใส อำเภอน้ำพอง ไปจนถึงอำเภออุบลรัตน์ ที่ผังเมืองรวมของจังหวัดขอนแก่นประกาศให้เป็นเขตสีม่วง สามารถส่งเสริมการลงทุนด้านอุตสาหกรรมได้ ฉะนั้นจึงเหมาะสมกับการสร้างศูนย์โลจิสติกส์และสร้างคลังสินค้าเพื่อรองรับสินค้าในระดับภูมิภาค

จุดดังกล่าวได้ศึกษาความเหมาะสมเป็นครั้งที่ 1 โดยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในครั้งที่ 2 โดยสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ล่าสุดครั้งที่ 3 โดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน กำลังศึกษารูปแบบการดำเนินการและการลงทุน ภายในสัญญา 210 วัน

เพื่อนำข้อมูลทั้งหมดมาอัพเดตรวมกับข้อมูลปัจจุบัน ทั้งเรื่องตู้คอนเทนเนอร์ สภาพแวดล้อม สภาพเศรษฐกิจ สภาพสังคม และเรื่องการเชื่อมโยงระบบรางไปยัง สปป.ลาว เข้าไปสู่ประเทศจีน ซึ่งการศึกษาวิจัยครั้งที่ 3 ถือเป็นครั้งสุดท้าย ก่อนนำผลสรุปทั้งหมดไปตัดสินใจดำเนินการต่อ

คาดว่าจะศึกษาแล้วเสร็จช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2567 หลังจากนั้นจะเริ่มพูดคุยกับผู้ประกอบการธุรกิจต่าง ๆ ต่อไป ทั้งนี้ ยังต้องจัดหาที่ดินและเวนคืนที่ดินประมาณ 1,600 ไร่ สำหรับโครงการ คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 2 ปี หรือแล้วเสร็จประมาณปี 2570

“โครงการนี้เป็นยุทธศาสตร์ใหญ่ของภูมิภาค มูลค่าการลงทุนค่อนข้างสูงประมาณ 7,000 ล้านบาท ต้องใช้เวลาดำเนินการก่อสร้าง 3-5 ปีถึงจะแล้วเสร็จ โดยแบ่งออกเป็น 3 เฟส เบื้องต้นในเฟส 1 ประมาณ 4,000 ล้านบาท เพื่อจัดหาที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

หลังจากนั้นจึงดำเนินการเฟสที่ 2 และเฟสที่ 3 ตามลำดับ เป็นโครงการที่จะทำให้เกิดซัพพลายเชนในภาคอีสานรวมมูลค่านับแสนล้านบาทอย่างแน่นอน ผมในฐานะที่ปรึกษาโครงการจะเร่งรัดให้เสร็จเร็วขึ้น เพื่อนำผลการศึกษาไปเสนอกระทรวงคมนาคม และนำเสนอ ครม.เห็นชอบอนุมัติสร้างต่อไป”

“ทรงศักดิ์” บอกว่า ปัจจุบันท่าเรือกรุงเทพและท่าเรือแหลมฉบังมีความแออัดมาก จุดคุ้มทุนที่สุดคือระยะไกลออกไป 500 กิโลเมตรที่จังหวัดขอนแก่น หากท่าเรือบกขอนแก่นดำเนินการได้จะมีจังหวัดรอบข้างในรัศมี 200 กิโลเมตร ได้รับอานิสงส์ไปด้วย

โดยเฉพาะกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลาง กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 1 และ 2 เช่น เลย ชัยภูมิ บึงกาฬ หนองบัวลำภู มุกดาหาร และเส้นทางการเชื่อมโยงบางส่วนได้ออกแบบและขยายไว้เพื่อรองรับโครงการแล้ว โดยภูมิศาสตร์ท่าเรือบกขอนแก่นจะเป็นฮับขนาดใหญ่ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สามารถแตกแขนงออกไปได้หมดทุกทาง

นอกจากนี้ เจ้าของโครงการท่าเรือบก (dry port) ที่ท่านาแล้ง สปป.ลาว ที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลจีน ได้เชิญคณะทำงานของจังหวัดขอนแก่นไปพูดคุยกันเกี่ยวกับการเชื่อมโยงท่าเรือบกท่านาแล้งกับท่าเรือบกจังหวัดขอนแก่น เมื่อช่วงกลางเดือนพฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา ทำให้โครงการได้รับความสนใจจากภาคเอกชนเป็นจำนวนมาก