มช. คว้ารางวัลผู้นำมหาวิทยาลัยนวัตกรรม Thailand Quality Class Plus : Innovation

มช. คว้ารางวัลผู้นำมหาวิทยาลัยนวัตกรรม Thailand Quality Class Plus : Innovation หลังส่งเสริมการสร้างนวัตกรรมบริการ และผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ยกระดับคุณภาพชีวิต สังคม เศรษฐกิจภาคเหนือ

วันทึ่ 18 มีนาคม 2567 ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล อธิการบดี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยว่า นับเป็นอีกก้าวสำคัญของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ได้รับรางวัลการบริหารสู่ความเป็นเลิศที่มีความโดดเด่น ด้านนวัตกรรม ประจำปี 2566 (Thailand Quality Class Plus : Innovation) จากสำนักงานรางวัลคุณภาพแห่งชาติ สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ กระทรวงอุตสาหกรรม

อันเป็นที่ประจักษ์ว่าให้เห็นถึงประสิทธิภาพการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่มุ่งสู่การเป็นองค์กรแนวหน้า จากการก้าวข้ามความท้าทายสู่การเบ่งบานของความสำเร็จ ส่งผลให้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ขับเคลื่อนได้เร็วขึ้น สร้างทัศนคติให้ผู้บริหาร และบุคลากรกล้าทดลองทำสิ่งใหม่ ๆ จนสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตสังคมและเศรษฐกิจของประชาชนในท้องถิ่นภาคเหนือ และประเทศชาติโดยส่วนรวมได้ในที่สุด

ทั้งนี้ แนวทางสำคัญที่เป็นกลไกการพัฒนาและขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ประกอบด้วย 4 ปัจจัย คือ 1. Leadership : ความมุ่งมั่นของผู้บริหารระดับสูงที่ส่งต่อกันรุ่นสู่รุ่น 2. Engagement : การสื่อสารและสร้างความผูกพันกับทุกภาคส่วนให้เห็นเป้าหมายร่วมกัน 3. Attitude : การสร้างทัศนคติที่ดีแก่บุคลากรทุกระดับในการเรียนรู้ พัฒนา และ 4. Deployment : การติดตามประเมินผล ปรับปรุงงานให้ดีขึ้น ไม่กลัวการล้มเหลว จนนำไปสู่ความสำเร็จ การรันตีด้วย “รางวัลการบริหารสู่ความเป็นเลิศที่มีความโดดเด่น ด้านนวัตกรรม ประจำปี 2566 (Thailand Quality Class Plus : Innovation)”

ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์พงษ์รักษ์ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เห็นความท้าทาย และมุ่งมั่นที่จะก้าวข้ามความท้าทายเหล่านั้น เพื่อให้บรรลุเป้าหมายขององค์กร และส่งมอบคุณค่าที่ดีที่สุด ณ ช่วงเวลานั้น ๆ ให้กับผู้เรียน ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย รวมถึงชุมชน สังคม และด้วยข้อจำกัดของเวลาและความท้าทายของสังคมของโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว มหาวิทยาลัยจึงต้องค้นหาโอกาสใหม่ ๆ

นำไปสู่การเกิด เป็นนวัตกรรมขององค์กรในหลายมิติทั้งนวัตกรรมในด้านผลิตภัณฑ์ ด้านการบริการ ด้านกระบวนการ และด้านการบริหารจัดการ เพื่อให้มหาวิทยาลัยขับเคลื่อนได้เร็วขึ้น สร้างทัศนคติให้ผู้บริหารและบุคลากรกล้าทดลองทำสิ่งใหม่ ๆ ช่วยให้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีนวัตกรรมเกิดขึ้นทั้งนวัตกรรมด้านการบริหารจัดการที่เป็นพื้นฐานในการส่งเสริมการสร้างนวัตกรรมด้านการบริการ และการสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตสังคมและเศรษฐกิจของประชาชนในท้องถิ่นภาคเหนือ และประเทศชาติโดยส่วนรวม

โดยศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พร้อมด้วยศาสตราจารย์คลินิก นพ.นิเวศน์ นันทจิต อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้บริหารและบุคลากรของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เข้าร่วมเป็นเกียรติในงานพิธีมอบรางวัลคุณภาพแห่งชาติครั้งที่ 22 ประจำปี 2566 ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย เมื่อวันพุธที่ 6 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา

สำหรับรางวัล Thailand Quality Class Plus TQC : Innovation ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้รับเป็นผลมาจากผลการตรวจประเมินคะแนนรวม 450 คะแนนขึ้นไป จากเกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติเพื่อผลการดำเนินงานที่เป็นเลิศที่ครอบคลุม 7 หมวดที่สำคัญในการจัดการ และการดำเนินการขององค์กร จากนั้นจึงพิจารณาว่าองค์กรมีคะแนนหมวด 1 รวมทั้งคะแนนในหมวด และ Result ที่เกี่ยวข้อง

โดยในด้านนวัตกรรมจะมีช่วงคะแนนในระดับ Band Score 50-65% ขึ้นไปในหมวด 6.1 กระบวนการทำงาน, หมวด 2 กลยุทธ์ และ 7.1 ผลลัพธ์ด้านผลิตภัณฑ์และกระบวนการ รวมถึงแนวการปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best Practice) ที่สะท้อนว่ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่มีความโดดเด่นใน “ด้านนวัตกรรม” จากการตรวจประเมินผลงานที่ผ่านทั้งหมดมาของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

นอกจากนี้ ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ยังได้รับรางวัล Leadership Excellence Award เนื่องในโอกาสครบรอบ 30 ปี สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ คณะกรรมการรางวัลคุณภาพแห่งชาติ และสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ เพื่อเชิดชูเกียรติให้แก่ผู้บริหารที่ทำคุณประโยชน์อย่างยิ่งในการส่งเสริมองค์กรไทยให้มีความสามารถทัดเทียมนานาประเทศ

และยังให้ความสำคัญกับการเผยแพร่ความรู้ในฐานะต้นแบบองค์กรที่เป็นเลิศ พร้อมด้วย คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้รับรางวัล Thailand Quality Class : TQC 2023 ด้วย โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุจินดา ศรีวัฒนะ คณบดีคณะอุตสาหกรรมเกษตร เป็นผู้รับมอบรางวัล ซึ่งนับเป็นคณะที่ 3 ของมหาวิทยาลัยที่ได้รางวัลนี้ ต่อจากคณะพยาบาลศาสตร์ และคณะแพทยศาสตร์

เวทีรางวัลคุณภาพแห่งชาติ Thailand Quality Award TQA ถือเป็นรางวัลระดับโลก (World Class) โดยพื้นฐานทางด้านเทคนิคและกระบวนการตัดสินรางวัลเช่นเดียวกับรางวัลคุณภาพแห่งชาติของประเทศสหรัฐอเมริกา หรือ The Baldrige National Quality Award (BNQA) ซึ่งเป็นต้นแบบรางวัลคุณภาพแห่งชาติที่ประเทศต่าง ๆ หลายประเทศทั่วโลกนำไปประยุกต์ใช้ เช่น ประเทศญี่ปุ่น ออสเตรเลีย สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์ เป็นต้น

และด้วยการตระหนักถึงความสำคัญของรางวัลนี้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติจึงได้บรรจุรางวัลคุณภาพแห่งชาติไว้ในแผนยุทธศาสตร์การเพิ่มผลผลิตของประเทศ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 9 โดยมีสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติเป็นหน่วยงานหลักในการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน