อุดรธานี ผลิตกางเกงลายควาย “บัฟฟี่” สืบสานตำนาน ”ควาย” โบราณบ้านเชียง

อุดรฯ ผลิตกางเกงลายควาย “บัฟฟี่” สืบสานตำนาน ”ควาย” โบราณบ้านเชียง นำรายได้สมทบสมาคมอนุรักษ์พัฒนาควาย ตัวละ 159 บาท

วันที่ 20 มีนาคม 2567 รายงานข่าวจากจังหวัดอุดรธานี เปิดเผยว่า ศูนย์ส่งเสริมอนุรักษ์และพัฒนาควายไทยจังหวัดอุดรธานี ร่วมกับหมู่บ้านอนุรักษ์และพัฒนาควายไทยจังหวัดอุดรธานี

ภายใต้โครงการส่งเสริมอนุรักษ์และพัฒนาควายไทยเพื่อการท่องเที่ยว ส่งเสริมอาชีพและพัฒนาผลิตภัณฑ์และสืบสานวัฒนธรรมวิถีชีวิตพื้นถิ่นอีสานได้จัดทำ “กางเกง BUFFY” หรือกางเกงลายควาย เพื่อสืบสานตำนานควายโบราณบ้านเชียง โดยรายได้จากการจำหน่ายส่วนหนึ่งสมทบทุน สมาคมอนุรักษ์และพัฒนาควายไทยจังหวัดอุดรธานีในพระอุปถัมภ์

สำหรับผ้าที่นำมาตัดกางเกง ผลิตจากผ้าไมโครโพลีเอสเตอร์เป็นเนื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดี น้ำหนักเบา สวมใส่สบาย อีกทั้งยังมีจุดแข็งของกางเกงลายควาย กางเกง BUFFY ในเรื่อง ความแข็งแรง เป้าไม่แตกง่าย

โดยจำหน่ายในราคาตัวละ 159 บาท กางเกงลายควาย มี 2 สี 2 แบบ คือ ขาปล่อย และขาจั้ม รายละเอียดดังนี้ ลายที่ 1 สีดำส้มอิฐ เป็นลายกราฟฟิตี ล้อเกวียน หัวควาย กระดิ่งแขวนคอควาย และลายขดวงกลมบ้านเชียง, ลายที่ 2 สีขาว ส้ม ดำ แดง เป็นลายรูปควาย ในตัวควายเขียนลายขดวงกลมบ้านเชียง กะโหล่งควาย (กระดิ่งที่แขวนคอควาย) ดอกจาน ซึ่งทั้ง 2 ลายจะรวบรวมเอกลักษณ์ลักษณะเด่นของ ควายโบราณของคนอีสานเข้าไว้อย่างลงตัว

อย่างไรก็ตาม จังหวัดอุดรธานี ขุดค้นพบที่มาเรื่องราวของต้นกำเนิดควายโบราณ จากการขุดค้นทางโบราณคดีที่วัดโพธิ์ศรีใน ระหว่าง พ.ศ. 2546-2548 ได้พบโครงกระดูกที่มีความสมบูรณ์ เช่น กระดูกควาย กระดูกปลา และกระดูกสุนัข ส่วนของโครงกระดูกควายนั้นไม่พบส่วนหัว

ซึ่ง ดร.อำพัน กิจงาม นักโบราณคดีผู้เชี่ยวชาญเรื่องกระดูกสัตว์ได้ให้ความเห็นว่าน่าจะเป็นควายที่ถูกเลี้ยงไว้ใช้งาน เนื่องจากกระดูกกีบเท้ามีร่องรอยการลากไถเหมือนกับกระดูกของควายในปัจจุบัน และจากการศึกษาวิเคราะห์หลักฐานประเภทกระดูกสัตว์ที่พบจากแหล่งโบราณคดีบ้านเชียงพบว่า มนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์รู้จักเลี้ยงควายสำหรับไถนาและมีการใช้เครื่องมือที่ทำจากเหล็กตั้งแต่ประมาณ 3,000-2,500 ปีมาแล้ว

ซึ่งจังหวัดอุดรานี มียุทธศาสตร์ในการส่งเสริมการเลี้ยงควาย ทั้งโครงการจากรัฐ รวมถึงท้องถิ่น จากข้อมูลปี 2566 มีผู้เลี้ยงควายทั้งจังหวัดรวม 13,287 ราย จำนวนควาย 69,571 ตัว (อันดับ 10 ของประเทศ)